Saturday, November 9, 2013

แนะนำอาชีพ “ข้าวตังข้าวไรซ์เบอรี่"

“ข้าวตัง” เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมทางอาหารของไทย จนปัจจุบันข้าวตังก็ยังได้รับความนิยม ตำรับความอร่อยยังไม่สูญหาย อาหารว่างชนิดนี้สามารถพลิกแพลงให้อร่อยได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ ข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวตังเมี่ยงลาว ข้าวตังหมูหยอง ฯลฯ และสำหรับคนรักสุขภาพข้าวตังก็สามารถปรับเข้ากระแสรักสุขภาพได้ลงตัว อย่าง “ข้าวตังข้าวไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผา-เกสรบัว” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้… ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม อาจารย์สาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้คิดค้นเมนูชูสุขภาพเมนูนี้ บอกว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงข้าวกล้องไรซ์เบอรี่กันมากเพราะเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีคุณประโยชน์สูง ช่วยป้องกันและรักษาโรคได้หลายโรค จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นข้าวกล้องเกรดดีที่สุด คุณสมบัติเด่นด้านโภชนาการคือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีเบต้าแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี มีโฟเลตสูง มีดัชนีนํ้าตาลต่ำถึงปานกลาง ซึ่งจากคุณสมบัติ นอกจากจะใช้รับประทานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง ทางการแพทย์ยังนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารโภชนบำบัดอีกด้วย “ได้คิดพัฒนาโดยนำข้าวกล้องไรซ์เบอรี่มาเป็นส่วนผสมหลักของข้าวตัง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย มีมาเป็นร้อย ๆ ปี และเสริมด้วยนํ้าพริกเผาและเกสรบัว ให้มีความหอมหวาน อร่อยไม่เหมือนใคร ที่สำคัญคือดีต่อสุขภาพ และสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจและอาชีพให้กับผู้ที่สนใจ สามารถปรับเปลี่ยนผสมได้หลากหลายตามความต้องการ” อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำข้าวตัง หลัก ๆ ก็มี... เตาไฟฟ้า (ใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สก็ได้), แม่พิมพ์ข้าวตังแบบดั้งเดิม ชุดหนึ่งจะมี 2 พิมพ์ ลักษณะคล้ายพิมพ์ขนมทองม้วน มีลวดลายสวยงาม หาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์ทำขนม, เครื่องปั่น, พลาสติกใส, ทัพพี, กะละมัง, ถาด, ไม้พาย, เกรียง และเครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่สามารถหยิบฉวยเอาจากในครัวได้ ส่วนผสมที่ใช้ในการทำ ตามสูตรก็มี...ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ 150 กรัม, ข้าวหอมมะลิอย่างดี (ต้องเป็นข้าวใหม่) 100 กรัม, ข้าวเหนียว 50 กรัม, นํ้าสะอาด 1,440 กรัม, นํ้าพริกเผาสำเร็จรูป 130 กรัม, เกสรบัวหลวง, เกลือและนํ้ามันพืช ขั้นตอนการทำ “ข้าวตังข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผา-เกสรบัว” เริ่มจากนำส่วนผสมหลักที่ต้องใช้คือข้าว 3 ชนิดมาชั่งตามอัตราส่วน ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ จากนั้นก็แยกซาวล้างนํ้าให้สะอาด พักไว้ แล้วเตรียมดอกบัวหลวงมาคลี่เอากลีบดอกออกไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น เพื่อเอาเกสรข้างในมาเป็นส่วนผสมข้าวตัง นำข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ที่ซาวล้างเสร็จแล้ว มาเทผสมลงในหม้อขนาดกลาง ใส่นํ้าลงไปพอประมาณ ยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ความร้อนปานกลาง โดยปล่อยให้ข้าวค่อย ๆ สุกไปเรื่อย ๆ เมื่อข้าวอืดเมล็ดข้าวจะบานออก ก็ให้เพิ่มไฟแรงขึ้นอีกหน่อย หมั่นใช้ทัพพีคอยคนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ข้าวติดก้นหม้อ ใส่เกลือลงไปนิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หมั่นใช้ไม้พายคอยกวนข้าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะเหนียวคล้ายแป้งเปียก ก็เป็นอันใช้ได้ ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็นสนิท แล้วจึงนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียด ขั้นต่อไปนำข้าวที่ปั่นมาใส่นํ้าพริกเผาและเกสรบัวลงไป คนให้ส่วนผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้พลาสติกใสปิดไว้เตรียมใช้ทำเป็นข้าวตัง เตรียมแม่พิมพ์ข้าวตังขึ้นเตา เปิดไฟตั้งอุณหภูมิ 150 องศาเซล เซียส รอประมาณ 10 นาทีให้พิมพ์ร้อน จึงเปิดแม่พิมพ์ทานํ้ามันพืชพอหมาด ๆ ใช้ช้อนตักส่วนผสมข้าวที่เตรียมไว้ 1 ช้อน ใส่ลงบนแม่พิมพ์ ปิดแม่พิมพ์อีกด้านลงทับข้าวให้แบน ไม่ถึง 1 นาที ข้าวตัง จะสุก ก็ใช้เกรียงแซะ ขึ้นจากพิมพ์ได้เลย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย เคล็ดลับการทำข้าวตังข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผาและเกสรบัว ผศ.พงศ์ศักดิ์ บอกว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การอบ อบบนเตาเป็นแผ่น ๆ จะดีกว่าการอบข้าวตังด้วยตู้อบ การอบบนเตาจะทำให้ข้าวตังกรอบ อร่อย ไม่เหนียว ที่สำคัญจะมีกลิ่นหอมและสีสันก็น่ารับประทานกว่า แต่ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญพอสมควร ทั้งนี้ การทำก็สามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงส่วนผสมเสริมได้ตามใจชอบ ส่วนการขายนั้น บรรจุข้าวตังใส่ถุงเป็นแพ็กเก๋ ๆ หรือเป็นกล่องให้ดูหรูสวยงาม ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละคน ซึ่งสามารถใช้เป็นของฝากของขวัญให้กับผู้รักสุขภาพและคนทั่วไปได้ ขณะที่การลงทุนทำขายก็ไม่ต้องใช้เงินมาก ใครสนใจทำ “ข้าวตังข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผา-เกสรบัว” ขายเป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองนำสูตรไปฝึกฝนพลิกแพลงกันดู หรือถ้าต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ต้องการติดต่อ ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม อาจารย์สาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9600-0993 ซึ่งทาง ผศ.พงษ์ศักดิ์บอกว่ายินดีให้ข้อมูล เพราะอยากให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์อาหารแบบไทย ๆ ไว้นาน ๆ. ............................................... คู่มือลงทุน…ข้าวตังไรซ์เบอรี่ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป ทุนวัตถุดิบ ไม่เกิน 30-40% ของราคา รายได้ ตั้งราคาให้มีกำไร 60-70% แรงงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตลาด ย่านชุมชน, ย่านอาหารทั่วไป จุดน่าสนใจ เพื่อสุขภาพเป็นจุดขายที่ดี ที่มา http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=193695

Sunday, October 20, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ส้มตำ-น้ำพริกเห็ด’

แม่เสงี่ยมบอกว่า เมื่อก่อนขายขนมหวานอยู่ที่ตลาด อ.ต.ก ขายอยู่หลายปี แต่ตอนหลังมีปัญหาต้นทุนขนมแพง ประกอบกับคนเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ทานหวานกันน้อยลง ทำให้ขายของได้ยาก จึงคิดเปลี่ยนของที่จะขายเป็นอย่างอื่น “ตอนนั้นเรื่องสุขภาพเริ่ม ๆ จะมาแรง เห็ดต่าง ๆ ที่ปลอดสารพิษได้รับความนิยม เพราะไม่มีคอเลสเตอรอล มีแร่ธาตุทางอาหาร มีประโยชน์กับร่างกาย จึงคิดทำอาหารที่เกี่ยวกับเห็ดต่าง ๆ ขาย ด้วยความที่ทำอาหารทุกประเภทเป็นอยู่แล้ว เรื่องเมนูเห็ดต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องยาก” แม่เสงี่ยมกล่าว สำหรับการขาย “ส้มตำเห็ด” แม่เสงี่ยมบอกว่า ส้มตำเป็นอาหารที่ทุกคนชอบ ปัจจุบันมีคนทำส้มตำมากมายหลากหลาย จึงลองนำเห็ดมาเป็นส่วนประกอบในส้มตำ และคิดว่าน่าจะเป็นเมนูส้มตำที่ถูกปากคนไทยได้อีกอย่างหนึ่ง อุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี ครก-สาก, โถใส่ของต่าง ๆ, กะละมัง, มีด, ที่ขูดเส้น, เตาแก๊ส, หม้ออะลูมิเนียม ฯลฯ อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าลงทุนใหม่หมดก็อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป เห็ดที่ใช้ในการทำส้มตำ มีหลัก ๆ 5 อย่างคือ เห็ดฮังการี, เห็ดหูหนู, เห็ดฟาง, เห็ดออรินจิ, เห็ดเข็มทอง นอกจากนี้ยังสามารถนำเห็ดพื้นบ้านที่หาได้ตามฤดูกาล อย่างเห็ดระโงก และเห็ดเผาะ มาใส่เพิ่มได้ ซึ่งเห็ดทุกอย่างนี้ต้องนำไปต้ม หรือลวกน้ำร้อนให้สุกก่อน จึงจะนำมาใช้ทำส้มตำ ส้มตำอย่างแรกที่จะแนะนำ คือ “ตำแตงใส่เห็ด” เป็นเมนูชูโรงของร้าน ส่วนผสมก็มี ถั่วฝักยาว, กุ้งแห้ง, พริกขี้หนู, กระเทียม, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว, แตงไทยอ่อนขูดฝอย และเห็ด 5 อย่างดังที่ว่ามาข้างต้น วิธีทำ เตรียมครก ตำกระเทียมกับพริกขี้หนูให้เข้ากัน ตามด้วยถั่วฝักยาว ตำให้ส่วนผสมเข้ากัน เติมเครื่องปรุงรสอย่างน้ำตาลปี๊บ น้ำปลาร้า น้ำมะนาว ใส่ลงไป ชิมรสให้ได้ 3 รส คือ หวาน-เปรี้ยว-เค็ม จากนั้นใส่เห็ดที่ลวกสุกแล้วลงไปคลุกเคล้า และตามด้วยแตงไทยอ่อนขูดฝอย เคล้าให้เข้ากันอีกที ตักขึ้นใส่จาน โรยหน้าด้วยพริกขี้หนูสวน และกุ้งแห้ง เท่านี้ก็เรียบร้อย ขายในราคาจานละ 50 บาท มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 70% ของราคา ส้มตำอีกอย่างที่จะแนะนำคือ “ตำโคราชใส่เห็ด” ส่วนผสมก็มี ถั่วฝักยาว, กุ้งแห้ง, พริกขี้หนู, กระเทียม, มะเขือเหลือง หรือมะเขือเปราะ, มะเขือเทศลูกเล็ก, ถั่วลิสงคั่ว, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว และเห็ด 5 อย่าง วิธีทำ ตำกระเทียมกับพริก ขี้หนูให้เข้ากัน ตามด้วยถั่วฝักยาว ถั่วลิสงคั่ว หั่นมะเขือเหลืองหรือมะเขือเปราะ และมะเขือเทศลูกเล็ก ใส่ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว ชิมรสให้ได้ 3 รส คือ หวาน-เปรี้ยว-เค็ม จากนั้นใส่เห็ดลวกสุกแล้วลงไปคลุกเคล้า เท่านี้ก็เรียบร้อย ขายในราคาจานละ 50 บาท นอกจากส้มตำเห็ดแล้ว แม่เสงี่ยมยังได้ให้สูตร “น้ำพริกเห็ด” มาอีกอย่างด้วย ซึ่งตามสูตรก็มีส่วนผสมของพริกหนุ่ม 1 กก. เสียบไม้ย่างให้หอม, กระเทียมปอกเปลือก 300 กรัม, หอมแดงปอกเปลือก 100 กรัม คั่วในกระทะให้หอม และใช้เห็ดฟาง 2 กก. โดยนึ่งหรือลวกให้สุกก็ได้ ก่อนจะใช้เป็นส่วนผสมของน้ำพริก พริกหนุ่ม กระเทียม หอมแดง ทั้งหมดนำมาตำโขลกให้เข้ากัน จากนั้นใส่เห็ดฟางลงโขลกด้วย ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลาร้า และน้ำตาลปี๊บ ให้ได้ 3 รส เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย ตักแบ่งใส่จาน หรือใส่ถุง ขายในราคาชุดละ 50 บาท ทานกับผักเคียงอย่างถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี *************** “ส้มตำเห็ด” รวมถึง “น้ำพริกเห็ด” เป็นเมนูจากเห็ดที่ประยุกต์เป็นเมนูใหม่ ๆ ได้หลายแบบ ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ ส่วนใครสนใจส้มตำเห็ด น้ำพริกเห็ด เมนูเห็ด ของ แม่เสงี่ยม ต้องการจะติดต่อ ก็ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-5146-8771. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/241623

Friday, October 18, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เค้กกล้วยหอม’

’เค้กกล้วยหอม“ ที่มีการทำขายในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบถ้วยกลม ๆ หรือเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม มีทั้งขนาดใหญ่-เล็ก ขนมชนิดนี้ได้รับความนิยมชมชอบจากคนทุกเพศทุกวัย เพราะทานง่าย รสชาติอร่อยนุ่ม-ชุ่มลิ้น มีกลิ่นหอมของกล้วยหอม และสำหรับผู้ที่สนใจ ’ช่องทางทำกิน“ จากขนมชนิดนี้ วันนี้ ณ ที่นี้ก็มีข้อมูลมานำเสนอกัน... ผลิวรรณ บุญมี เจ้าของร้านขนม “ช่อมะเฟือง” ย่านรามคำแหง 150 กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า ทำขนมขายมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งขนมที่ร้านมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ เค้กหน้านิ่ม รสต่าง ๆ รวมถึง “เค้กกล้วยหอม” และที่ร้านยังมีพายสับปะรด และคุกกี้ช็อกโกแลตชิพอีกด้วย “สำหรับสูตรนั้น คุณน้าเป็นคนสอนให้ แต่ก็ต้องฝึกฝนนานอยู่เหมือนกัน กว่ารสชาติจะลงตัว และสำหรับขนมนี้ เป็นของที่ขายเสริมจากร้านอาหารตามสั่งที่เป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ ยังรับสอนพิเศษอีกด้วย” ผลิวรรณบอก อุปกรณ์ในการทำเค้กกล้วยหอม หลัก ๆ ก็มี เครื่องตีแป้ง, เตาอบ, ถ้วยพิมพ์, ที่ร่อนแป้ง, ที่ตีไข่, ถาด, กะละมัง, ชุดช้อนชา, ชุดถ้วยตวง และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ สำหรับการทำ “เค้กกล้วยหอมสูตรนุ่ม” วัตถุดิบหลัก ๆ ตามสูตรก็มี แป้งเค้ก 270 กรัม, ผงฟูพอประมาณ, เบกกิ้งโซดา (โซเดียม ไบคาร์บอเนต) พอประมาณ, นํ้าตาลทราย 240 กรัม, เกลือป่นเล็กน้อย, ไข่ไก่ 4 ฟอง, นํ้ามันพืช 2/3 ถ้วย, กล้วยหอมสุกบด 300 กรัม และนํ้ามะนาวพอประมาณ วิธีทำ เริ่มที่ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู เบกกิ้งโซดา ให้เข้ากัน แล้วพักเตรียมไว้ บดกล้วยหอมสุกกับ นํ้ามะนาวให้เข้ากันเตรียมไว้ ตีไข่ไก่ นํ้าตาลทราย และเกลือ ให้เข้ากัน ตี ด้วยเครื่องด้วยความเร็วสูงประมาณ 7-8 นาที หรือรอจนกว่าส่วนผสมจะข้นขาว จากนั้นปรับความเร็วของเครื่องตีลงให้เป็นความเร็วต่ำ แล้วใส่ส่วนผสมของแป้งที่เตรียมไว้ลงไป ตีต่อให้เข้ากันอีกประมาณ 1 นาที จากนั้นก็ค่อย ๆ เติมนํ้ามันพืชลงไป แล้วปรับความเร็วเครื่องตีให้เป็นระดับกลาง ตีต่อไปอีก 2 นาที สุดท้ายใส่ส่วนผสมของกล้วยหอมบดลงไป แล้วปรับความเร็วของเครื่องตีให้เป็นระดับต่ำ ตีต่ออีกประมาณ 1 นาที ขั้นต่อไปนำส่วนผสมที่ตีเสร็จแล้วเข้าแช่ในตู้เย็น แช่ไว้ประมาณ 30 นาที เมื่อแช่ตามเวลาแล้วจึงจะนำแป้งขนมออกมาหยอดใส่พิมพ์ โดยระหว่างนั้นให้เปิดเตาอบเพื่ออุ่นให้เตาร้อนที่อุณหภูมิ 400-450 องศาฟาเรนไฮต์ เตรียมไว้ก่อน การหยอดแป้งใส่พิมพ์ เตรียมถ้วยกระดาษวงกลมใส่ในพิมพ์เค้กกล้วยหอมที่เป็นถ้วยวงกลม ขนาดกว้าง 7.5 ซม. สูง 2.5 ซม. แล้วเรียงพิมพ์เค้กกล้วยหอมใส่ถาดอะลูมิเนียมไว้ นำส่วนผสมของเค้กกล้วยหอมที่ตีเสร็จเรียบร้อยแล้วออกมาจากตู้แช่ แล้วค่อย ๆ หยอดใส่ถ้วยจนครบถ้วยที่เตรียมไว้ นำเข้าเตาอบที่อุ่นร้อนรอไว้แล้ว ใช้เวลาอบประมาณ 15 นาที ก็จะได้เค้กกล้วยหอมสูตรนุ่มที่ขึ้นฟู มีสีนํ้าตาลเข้ม ส่งกลิ่นหอมชวนรับประทาน อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อบเค้กกล้วยหอม ต้องหมั่นคอยดู ด้วยว่าเค้กขึ้นฟูหรือยัง ระวังอย่าให้หน้าเค้กไหม้ เมื่อเค้กสุกแล้วให้นำออกมาบรรจุในกล่องให้เรียบร้อย เค้กกล้วยหอมสูตรนี้มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 3 บาท ส่วนราคาขายอาจจะขาย ในราคาชิ้นละ 5 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทำเลและต้นทุนส่วนอื่น ๆ สนใจ ’เค้กกล้วยหอมสูตรนุ่ม“ สูตรนี้ ต้องการติดต่อ ผลิ วรรณ บุญมี เจ้าของร้านขนมช่อมะเฟือง ร้านนี้ตั้งอยู่ในซอยรามคำแหง 150 ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ หรือติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2373-5396 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่แม้จะมีคนทำกันไม่น้อยแล้ว แต่ช่องว่างทำเงินในตลาดก็ยังพอมีอยู่อีกมาก. สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ .......................................................................................... คู่มือลงทุน...เค้กกล้วยหอม ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60-70% ของราคา รายได้ ราคาขายชิ้นละ 5 บาทขึ้นไป แรงงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตลาด ร้านขนม, ร้านอาหาร, ชุมชนทั่วไป จุดน่าสนใจ คนไทยยังนิยมรับประทานกันมาก ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/241308

Sunday, October 13, 2013

แนะนำอาชีพ 'นาฬิกาไม้ทำมือ’

งานไม้ใส่ไอเดียยังเป็นชิ้นงานน่าสนใจ เพราะพลิกแพลงต่อยอดทำขายได้ตลอด แม้ไม่มีหน้าร้านแต่ก็ยังสามารถขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมสุดฮิตอย่างเฟซบุ๊กได้ สำคัญอยู่ที่การหาจุดเด่นสินค้า และมองตลาดออกว่าสินค้าของเราน่าจะถูกจุดตรงใจลูกค้ากลุ่มใด อย่างเช่นงาน ’นาฬิกาไม้“ ทำมือ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้... “ชัยยุทธ ดีวรรณ” เจ้าของชิ้นงาน “นาฬิกาไม้” ที่ใช้ชื่อสินค้าว่า “EMIT” ซึ่งเป็นการเล่นคำจากคำว่า “TIME” ที่แปลว่า “เวลา” บอกเล่าว่า ก่อนหน้าจะยึดอาชีพทำงานนาฬิกาไม้นี้ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์มาก่อน ต่อมารู้สึกเบื่อ คิดอยากจะหาธุรกิจที่เป็นของตนเองขึ้นมาสักธุรกิจหนึ่ง จึงคิดว่างานไม้น่าจะเหมาะ เพราะโดยส่วนตัวชอบงานประเภทนี้อยู่แล้ว และรู้สึกว่างานไม้มีเสน่ห์ในตัว จึงคิดค้นหารูปแบบชิ้นงาน และก็มาลงตัวที่งานทำนาฬิกาจากไม้ ชัยยุทธ บอกว่า เริ่มเปิดร้านแบบออนไลน์เต็มตัวมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว โดยจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กในชื่อ www.facebook.com/emitclock ซึ่งที่ผ่านมามีผลตอบรับดี นอกจากลูกค้าทั่วไป ก็ยังมีลูกค้าที่รับสินค้าไปจำหน่ายต่อ รวมถึงมีกลุ่มลูกค้าที่สั่งทำชิ้นงานเฉพาะ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึก เนื่องในโอกาสพิเศษด้วย ข้อดีของการเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ ในฐานะที่คลุกคลีกับงานด้านไอที ชัยยุทธกล่าวว่า การเปิดร้านลักษณะนี้ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลงไปได้มาก อีกทั้งการเปิดร้านออนไลน์ยังเป็นการช่วยทดสอบตลาดของชิ้นงานได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ ยังช่วยขยายฐานให้กับสินค้าได้อีกด้วย แต่จุดสำคัญคือ ต้องพยายามอัพเดทกิจกรรมหรือสินค้าของร้านตลอดเวลา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์ของเรานั้นมีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเปิดร้านออนไลน์ “ตอนนี้มีทั้งลูกค้าที่มารับชิ้นงานเพื่อจะไปจำหน่ายต่อ ตามแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งลูกค้าที่สั่งทำชิ้นงานตามที่ลูกค้าต้องการ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึก” ชัยยุทธกล่าว สำหรับนาฬิกาไม้ทำมือที่ทำขึ้นนั้น ปัจจุบันมีแบบใหม่ ๆ เพิ่มตลอด ซึ่งนอกเหนือไปจากรูปแบบที่มีทั้งแบบมินิมัลและวินเทจแล้ว จุดเด่นจุดขายของชิ้นงานคือ การเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของนาฬิกาเข้าไป เพื่อให้เป็นมากกว่านาฬิกาบอกเวลา เช่น ที่แขวนผ้า, ที่แขวนกุญแจ, ที่แขวนแก้ว, ชั้นวางหนังสือ, กล่องใส่ของ เพื่อสร้างความน่าสนใจ ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ทุนเบื้องต้น ลงทุนประมาณ 10,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราคา 400 บาท ไปจนถึง 1,500 บาท ขึ้นกับรูปแบบ ขนาด และรายละเอียดของชิ้นงาน อุปกรณ์ที่ต้องใช้ หลัก ๆ อาทิ เลื่อยวงเดือนไฟฟ้า, เลื่อยฉลุไฟฟ้า, ทิมเมอร์หรือเครื่องแกะสลักไม้ และอุปกรณ์ในงานช่างไม้ อาทิ ค้อน ไขควง ตะปู กระดาษทราย เป็นต้น สำหรับวัสดุ ประกอบด้วย ไม้เนื้ออ่อน (ไม้สน ไม้วีเนียร์), ไม้สังเคราะห์ (พลาสวู้ด), กาวร้อน, กาวยาง, สีชนิดต่าง ๆ และตัวเครื่องนาฬิกา ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบนาฬิกาไม้ที่จะทำ โดยอาจวาดแบบร่างลงในสมุดเก็บแบบงานไว้ก่อน เมื่อได้รูปแบบที่ต้องการแล้วก็มาวางแผนการทำงาน โดยดูว่านาฬิกาที่จะทำนั้นมีส่วนประกอบไม้กี่ชิ้น เมื่อกำหนดได้แล้วก็ทำการเลือกไม้ที่จะนำมาตัด โดยตัดเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ไว้ อาทิ ตัวเรือนนาฬิกา, ชั้นวาง, หมุดที่จะใช้ทำเป็นที่แขวน ซึ่งบางชิ้นอาจจะซื้อสำเร็จรูปมาใช้ได้เลย เช่น หมุดไม้สำหรับทำที่แขวน ซึ่งก็จะช่วยย่นระยะเวลาได้มาก เมื่อทำการตัดส่วนประกอบเสร็จแล้ว นำไม้ที่ตัดได้มาทำการขัดตกแต่งรอยที่ไม่เรียบด้วยกระดาษทรายหรือเครื่องเจียร จากนั้นทาสีไม้ที่จะใช้เป็นส่วนประกอบของนาฬิกา สำหรับส่วนหลังคานั้น ให้นำไม้สังเคราะห์ (พลาสวู้ด) มาลนไฟเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ ดัดให้เป็นรูปโค้ง ก็จะได้เป็นส่วนหลังคา เมื่อเตรียมส่วนประกอบเสร็จ ก็นำชิ้นงาน อาทิ ตัวนาฬิกา ชั้นวาง ที่แขวนสิ่งของ มายึดติดด้วยกาวร้อน เพื่อให้ได้รูปทรงชิ้นงาน แล้วทิ้งไว้สักพัก จากนั้นนำกาวยางมาทาส่วนประกอบที่จะนำไปทำเป็นหลังคา โดยทากาวยางที่ด้านใต้หลังคา จากนั้นทำการยึดประกอบหลังคาเข้ากับตัวเรือน นำเครื่องนาฬิกาที่เตรียมไว้มาประกอบเข้าที่ตัวเรือน ทำการตกแต่งด้วยสีหรือวัสดุอื่น ๆ ตามที่ได้ออกแบบไว้ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำนาฬิกาไม้ โดยหากเป็นชิ้นงานที่ไม่ใหญ่มาก และมีรายละเอียดไม่มากนัก ในแต่ละวัน ชัยยุทธจะสามารถประกอบนาฬิกาไม้ของเขาได้ไม่ต่ำกว่า 10 เรือน “ผมเองเริ่มต้นจากศูนย์ งานไม้ก็ไม่เคยเรียนที่ไหน อาศัยสังเกตดูจากช่างไม้ที่มาต่อเติมบ้าน ว่ามีหลักอย่างไร ส่วนรูปแบบหรือแนวคิดก็พยายามศึกษาจากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ลอกเลียน แค่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบของเรา ผมว่าถ้าตั้งใจ อาชีพนี้ก็ไปได้” เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจงานประดิษฐ์เช่นชัยยุทธ สนใจติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’นาฬิกาไม้ทำมือ“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-6722-1454 หรืออีเมล chaiyuth.dee@gmail.com หรือตามเฟซบุ๊กข้างต้น ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นงานประดิษฐ์จากไม้อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำเป็นชิ้นงานทำเงินได้อย่างน่าสนใจ. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/จุมพล นพทิพย์ : ภาพ ............................................................................................................................... คู่มือลงทุน...นาฬิกาไม้ทำมือ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 30% จากราคา รายได้ ราคา 400-1,500 บาท แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของใช้-ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ใช้ทุนต่ำขายไอเดียราคาดี ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/239534

แนะนำอาชีพ ‘ข้าวเม่าหมี่ข้าวกล้อง’

“ข้าวเม่าหมี่” เป็นอาหารไทยโบราณพื้นบ้านที่เด็กสมัยก่อนชื่นชอบ ลักษณะของข้าวเม่าหมี่จะทอดจนมีสีเหลืองนวล ผสมนํ้าตาลทราย กุ้งแห้ง ถั่วลิสง และเต้าหู้ทอดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่กระเทียมเจียวที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่ใส่สีและสารกันบูด ณ ปัจจุบันหากจะหารับประทาน ยากแสนยาก แต่วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีสูตรการทำมานำเสนอ... *************** อาจารย์ชมุค พรรณดวงเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ประยุกต์ปรับปรุงเมนูอาหารไทยพื้นบ้านดังกล่าวนี้ให้เป็นเมนูจานใหม่ คิดทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” จากอาหารไทย สร้างให้เป็นสไตล์สากล เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และเพื่อเผยแพร่ให้เด็กไทยยุคนี้ได้รู้จักและสามารถรับประทานได้ และก็น่าช่วยสร้างอาชีพให้คนไทยได้ด้วย ที่มาของเมนูนี้ อ.ชมุค เล่าให้ฟังว่า มาจากการทำวิจัยในต่างจังหวัด ที่ชาวบ้านต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม “ข้าวกล้องงอก” ซึ่งข้าวกล้องงอกถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากสำหรับคนที่รักสุขภาพ เพราะเป็นข้าวที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายหลายชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟิโนลิคที่ช่วยยับยั้งการเกิดฝ้า ชะลอความแก่ และสารออริซานอลที่ช่วยควบคุมระดับ-ลดอาการผิดปกติของวัยทอง ที่สำคัญที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ สารกาบา (GABA) ซึ่งกาบาเป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำหน้าที่สื่อสารประสาท ปัจจุบันวงการแพทย์มี การใช้สารกาบา รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหลายโรค เช่น ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ ลดความเครียดวิตกกังวล ลดความดันโลหิต และในข้าวนี้ยังมีเส้นใยอาหาร ช่วยควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือด ช่วยควบคุมนํ้าหนัก ป้องกันมะเร็งลำไส้ และลดอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังมีวิตามินอี ช่วยลดการเหี่ยวย่นของผิว “ข้าวชนิดนี้มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย จึงได้รับความนิยมในหมู่คนที่รักสุขภาพ ผู้ที่มีไอเดียจึงนำข้าวกล้องงอกไปแปรรูปเป็นของกินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และให้ตรงความต้องการ เช่น นํ้าข้าวกล้องงอก ไอศกรีม ป๊อปไรท์ ข้าวแต๋น เต้าฮวยฟรุตสลัด ข้าวหมาก ข้าวจี่ชุบไข่ ฯลฯ จึงได้คิดค้นโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณมาดัดแปลงข้าวเม่าหมี่ นำข้าวกล้องงอกมาแทนข้าวเม่าที่หายากและราคาแพง เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพ” อ.ชมุค แจกแจงว่า ส่วนผสมในการทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผสมข้าวคลุก ใช้...ข้าวกล้องงอก, นํ้าตาลทราย, นํ้าผึ้ง, เกลือป่น, แบะแซ, เนยสด และส่วนของเครื่องผสม ก็มี...งาดำ, งาขาว, เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง, แครอทอบแห้ง, กุ้งสดอบทอด, ต้นหอมอบแห้ง และนํ้ามันพืช อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำก็มี... ตู้อบลมร้อน, เตาแก๊ส, กระทะทอง, ไม้พายเล็ก, ถาด เเละอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดที่ใช้ครัวเรือนทั่ว ๆ ไป ขั้นตอนการทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” เริ่มจากนำข้าวกล้องงอกที่หุงสุกแล้วมาเกลี่ยให้กระจายทั่วบนถาด นำเข้าอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 ชั่วโมง หั่นเต้าหู้ขาวชนิดแข็งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า นำเข้าอบและใช้เวลาเหมือนกับข้าวกล้องงอก หั่นแครอทสดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก ๆ นำไปลวกให้สุก พักให้สะเด็ดนํ้า ก่อนจะอบเหมือนกับข้าวกล้องงอก ส่วนต้นหอมนำมาซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำเข้าอบเป็นเวลา 5 ชั่วโมง กุ้งสดนำมาล้างให้สะอาด แกะเปลือก สับหยาบ ๆ นำเข้าอบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง (ส่วนผสมแต่ละอย่างต้องแยกกันอบ) เสร็จแล้วนำใส่ภาชนะเตรียมไว้ เมื่อเตรียมส่วนผสมข้าวคลุกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำข้าวกล้องงอกอบแห้ง เต้าหู้อบแห้ง และกุ้งอบแห้ง ลงไปทอดในนํ้ามัน ใช้ไฟอ่อน ทอดให้ส่วนผสมมีลักษณะเหลืองกรอบ แล้วตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดนํ้ามัน (การทอดส่วนผสมนั้น ต้องทอดทีละอย่าง อย่ารวมกัน เพราะส่วนผสมแต่ละอย่างจะสุกไม่พร้อมกัน) นำส่วนผสมของนํ้าตาลทราย นํ้าผึ้ง เกลือ แบะแซ เนยสด และนํ้าสะอาด ใส่ลงกระทะทอง ตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ จนนํ้าเชื่อมมีลักษณะเหนียวข้นคล้ายคาราเมล แล้วนำส่วนผสมของข้าวกล้องงอกอบแห้งทอด เต้าหู้อบแห้งทอด กุ้งอบแห้งทอด และแครอทอบแห้ง ต้นหอมอบแห้ง งาขาว งาดำ ใส่ลงอ่างผสม ใช้ไม้พายคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นนำส่วนผสมที่คลุกเคล้ากันดีแล้วไป ใส่ลงในกระทะทองที่มีเครื่องผสม คลุกเคล้าให้เข้ากันโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ชิมเพื่อปรับ แต่งรสชาติตามใจชอบ เสร็จแล้วปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทหรือบรรจุผลิตภัณฑ์ โดย “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” นี้สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน ๆ โดยไม่ใส่สารกันบูด **************** ใครสนใจทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” ขายเป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองฝึกฝนกันดู หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก อ.ชมุค พรรณดวงเนตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ติดต่อได้ที่ภาควิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โทร. 0-2549-3160-61 หรือ 08-4094-8222 ซึ่งทางอาจารย์ยังมีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจอีกหลายชนิด. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/239855

Sunday, October 6, 2013

แนะนำอาชีพ ‘คุกกี้คอนเฟล็กซ์’

“คุกกี้คอนเฟล็กซ์” นี้ วิลัย จันโต คือวิทยากรผู้ฝึกสอนให้กับผู้เข้าฝึกอาชีพ โดยวิทยากรบอกว่า คุกกี้คอนเฟล็กซ์ ในตลาดยังมีคนทำไม่มาก ที่สำคัญสูตรที่สอนนี้ผู้ที่ได้เรียนรู้สามารถนำไปดัดแปลงทำคุกกี้ได้หลากหลาย สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำคุกกี้คอนเฟล็กซ์ หลัก ๆ ก็มี... อ่างผสม ขนาด 1 และ 2 ลิตร, ที่ร่อนแป้ง, พายยาง, มีดฟันเลื่อย, ถ้วยตวงของแห้ง, ช้อนตวง, ตาชั่งอย่างละเอียด, ตะแกรง, กระดาษไข, ถ้วยตวง, ถาดอบคุกกี้, นาฬิกาจับเวลา, เครื่องตีไข่ (ใช้แบบอัตโนมัติหรือแบบมือตีก็ได้) และเตาอบไฟฟ้าหรือเตาอบแก๊ส ซึ่งราคาเตามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น แต่ถ้าใครมีเตาอบอยู่แล้ว ก็จะลงทุนอุปกรณ์อื่น ๆ ในวงเงินประมาณ 2,500 บาทเท่านั้น เตาอบนั้นมีความสำคัญในการทำขนม เตาอบที่มีคุณภาพมีผลต่อการอบขนม ซึ่งขนมจะฟูหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่เตาอบด้วย ถ้าเตามีคุณภาพไม่ดี อุณหภูมิเตาจะไม่คงที่ การอบขนมก็จะเป็นเรื่องที่ควบคุมคุณภาพได้ลำบาก.... ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำคุกกี้คอนเฟล็กซ์ ตามสูตรมีดังนี้... เนยสด 150 กรัม, น้ำตาลไอซิ่ง 135 กรัม, แป้งเค้ก 150 กรัม, แป้งขนมปัง 100 กรัม, ไข่ไก่ 2 ฟอง, ผงฟู 4 กรัม, โซดาผง 2.5 กรัม, เกลือ 2.5 กรัม, ลูกเกดสับหยาบ 87.5 กรัม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ 125 กรัม, คอน เฟล็กซ์ 200 กรัม ขั้นตอนการทำ... เริ่มจากเปิดเตาอบ เปิดไฟบน-ไฟล่าง ให้อยู่ที่อุณหภูมิ 150 องศา เพื่อเป็นการวอร์มเตาให้ร้อนได้ที่ พร้อมใช้งาน ระหว่างนั้นก็มาเตรียมวัตถุดิบ เริ่มจากการนำแป้งเค้ก, แป้งขนมปัง, ผงฟู, โซดาผง และเกลือ ผสมรวมกันเทใส่ลงบนที่ร่อนแป้ง แล้วร่อนส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในกะละมัง พักไว้ก่อน จากนั้นก็นำเนยสดและน้ำตาลไอซิ่งเทผสมใส่ลงในกะละมังอีกใบ นำเครื่องตีแป้งแบบมือใส่ลงไป เริ่มตีโดยเปิดเครื่องให้เริ่มความเร็วจากเบอร์ 1 ทำการตีผสมไปเรื่อย ๆ ให้ส่วนผสมเนยสดและน้ำตาลไอซิ่งเข้ากัน โดยใช้เวลาในการตีประมาณ 5 นาที หลังจากส่วนผสมเนยสดและน้ำตาลไอซิ่งเข้ากันแล้ว ให้เพิ่มระดับความเร็วเครื่องตีที่เบอร์ 3 ตีส่วนผสมต่อ โดยให้หัวตีของเครื่องยังคงจุ่มอยู่ในส่วนผสม ลักษณะการตีส่วนผสมคือ ไม่ควรยกส่วนหัวตีสูงเกินไป เพราะส่วนผสมจะฟุ้งกระจาย ตีโดยการหมุนส่วนของเครื่องตีแป้งแบบมือให้ถูกส่วนผสมมากที่สุด ตีต่อไปนานประมาณ 10 นาที โดยการตีส่วนผสมนั้น พอตีไปได้ 5 นาที ให้หยุดเครื่อง แล้วปาดส่วนผสมที่ติดอยู่ขอบด้านข้างให้เข้ามาอยู่ตรงกลาง เมื่อเสร็จแล้วเปิดเครื่องไปที่เบอร์ 3 ตีต่ออีก 5 นาที เมื่อครบตามจำนวนเวลาก็ปิดเครื่องตีแป้งพักไว้ก่อน จากนั้นก็นำไข่ไก่ตอกใส่ภาชนะเตรียมไว้ แล้วใช้เครื่องตีแป้งแบบมือโดยใช้ส่วนของหัวตีจุ่มลงในส่วนผสมอีกครั้ง ค่อย ๆ เปิดเครื่องไล่ความเร็วจากเบอร์ 1 ไปจนถึงเบอร์ 3 ตีไปประมาณ 1 นาที แล้วจึงใส่ไข่ฟองแรกผสมลงไปในแป้งขณะที่ยังเปิดเครื่องตีอยู่ ตีต่อไปอีก 1 นาที จึงใส่ไข่ฟองที่สอง และตีต่ออีก 1 นาที แล้วก็ปิดเครื่อง เมื่อส่วนผสมเนยน้ำตาลไข่ไก่เข้ากันดีแล้ว นำส่วนผสมแป้งเค้ก แป้งขนมปัง ผงฟู โซดาผง เกลือ ที่ร่อนเตรียมไว้ มาใส่รวมกัน โดยการเทผสมรวมกันต้องค่อย ๆ เท โดยเปิดเครื่องตีแป้งจุ่มลงในส่วนผสม เปิดความเร็วเบอร์ 1 ค่อย ๆ เทส่วนผสมที่ร่อนไว้ลงไปจนหมด จับเวลาตีต่อ 5 นาที ปิดเครื่อง ปาดส่วนผสมให้เข้ามาอยู่ตรงกลาง แล้วตีต่ออีก 5 นาที หลังจากนั้นก็นำลูกเกดสับหยาบค่อย ๆ เทผสมลงไป โดยที่เครื่องตียังคงทำงานอยู่ที่ความเร็วคงที่ เบอร์ 1 ตีไปประมาณ 1 นาที พอลูกเกดเข้ากับส่วนผสมแล้วก็นำเม็ดมะม่วง หิมพานต์ค่อย ๆ เทลงในส่วนผสม ขณะที่เครื่องตียังทำงานอยู่ที่ความเร็วคงที่ เบอร์ 1 ใช้เวลาตีอีก 2 นาที จึงปิดเครื่อง เมื่อส่วนผสมเข้ากันเป็นอย่างดีแล้วจะมีความเหนียวไม่ติดมือ ปั้นเป็นก้อนได้ ก็ตักส่วนผสมปั้นเป็นก้อน ๆ ให้ได้น้ำหนักก้อนละ 20 กรัม โดยใช้ตาชั่งในการชั่ง จากนั้นเทคอนเฟล็กซ์ลงในถาดเตรียมไว้ นำคุกกี้ที่ปั้นเป็นก้อนลงคลุกกับคอนเฟล็กซ์ เตรียมไว้ นำกระดาษไขวางบนถาด และนำคุกกี้ที่คลุกคอนเฟล็กซ์แล้ววางเรียงลงไป ให้แต่ละชิ้นห่างกันประมาณ 1 นิ้ว วางจนเต็มถาดแล้วนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 150 องศา ใช้เวลาอบประมาณ 15-20 นาที จนคุกกี้สุกเหลืองทั่วก็นำออกจากเตาอบ แซะคุกกี้ออกจากถาดพักไว้บนตะแกรงให้เย็น จึงจัดเก็บในภาชนะที่ปิดกั้นอากาศเข้า จากปริมาณวัตถุดิบที่ว่ามา จะสามารถทำคุกกี้คอนเฟล็กซ์ได้ประมาณ 50 ชิ้น มีต้นทุนเฉพาะวัตถุดิบประมาณ 100 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละไม่เกิน 2 บาท สามารถจะตั้งราคาขายได้ที่ชิ้นละประมาณ 4 บาท ......................... ทั้งนี้ นี่ก็เป็นสูตรการทำ “คุกกี้คอนเฟล็กซ์” ที่ทาง ซีพี รีเทลลิงค์ และวิทยากรคือ วิลัย จันโต ฝึกสอนให้ประชาชนตาม โครงการ “เดลินิวส์ฝึกอาชีพ” รุ่น 7 หัวข้อ “คืนกำไรสู่สังคม ฝึกอบรมเบเกอรี่ ชี้ทางรวย” ซึ่งคุกกี้ชิ้นเล็ก ๆ นี้ก็อาจเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ทำให้รวยได้ ถ้าฝีมือดี การตลาดดี โดยในส่วนของ “เทคนิคการตลาด” นั้นในการจัดฝึกก็มีการบรรยายแนะนำ ซึ่งในหน้า “ช่องทางทำกิน” ก็จะสรุปมานำเสนอในวันเสาร์ที่ 12 ต.ค. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/237579

Saturday, October 5, 2013

แนะนำอาชีพ ‘บราวนี่’

“พรพรรณ เจริญมิตร” วิทยากรผู้ฝึกสอน ซึ่งมีประสบการณ์การทำบราวนี่มานานกว่า 7 ปี และทำขายจนส่งตัวเองเรียนจบปริญญาตรี บอกว่า “บราว นี่” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sheet Cookies หรือคุกกี้แผ่น มีลักษณะคล้ายเค้กที่ไม่ขึ้นฟูมาก นิยมอบในถาดแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม วิธีทำเป็นแบบง่าย ๆ โดยคนส่วนผสมของเหลวและของแห้งให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน บางสูตรจะเคลือบหน้าด้วยช็อกโกแลต และโรยด้วยอัลมอนด์สไลด์ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งทำให้อร่อยและดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์อาหาร สันนิษฐานว่า ขนมชนิดนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวกันว่า บราวนี่เกิดจากความบังเอิญในการทำเค้กช็อกโกแลต โดยลืมใส่ผงฟู เมื่ออบออกมาแล้วเค้กจึงไม่ขึ้นฟู แต่ก็กลับได้ขนมสีน้ำตาลเข้มเนื้อแน่น อันเป็นที่มาของชื่อ “Brownie” “บราวนี่ทำง่าย ขายไม่ยาก ใช้เวลาทำเพียง 30 นาที ถือว่าคุ้มค่าต่อเวลาที่เราจะทำขาย” พรพรรณกล่าว และว่า “สูตรบราวนี่ที่สอนนี้เป็นสูตรที่ประยุกต์ดัดแปลงโดยใส่ผงฟูด้วย เพื่อให้บราวนี่ที่ทำออกมามีความนุ่มและอร่อยมากขึ้น” สำหรับอุปกรณ์การทำบราวนี่ หลัก ๆ ก็มี...อ่างผสม ใช้ขนาด 1 และ 2 ลิตร, ที่ร่อนแป้ง, พายยาง, มีดฟันเลื่อย, ถ้วยตวงของแห้ง, ช้อนตวง, ตาชั่งอย่างละเอียด, แปรง, กระดาษไข, ถ้วยตวง, ถาดอบ, นาฬิกาจับเวลา, เครื่องตีไข่ (ใช้แบบอัตโนมัติหรือแบบมือตีก็ได้), เตาอบไฟฟ้าหรือเตาอบแก๊ส ซึ่งราคาเตามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น แต่ถ้าใครมีเตาอบอยู่แล้ว ก็จะลงทุนอุปกรณ์อื่น ๆ ในวงเงินประมาณ 2,500 บาทเท่านั้น วัตถุดิบที่ใช้ทำบราวนี่ ตามสูตรนี้มีดังนี้คือ... แป้งเค้ก 100 กรัม, ผงโกโก้ 20 กรัม (ควรใช้ผงโกโก้สีเข้มเพราะขนมที่ทำออกมาจะสีสวย), ดาร์ค ช็อกโกแลต (Dark Choco) 200 กรัม, เนย 150 กรัม, น้ำตาลทราย 180 กรัม, ผงฟู 1 ช้อนชา, ไข่ไก่ (เบอร์ 2 ซึ่งเป็นไซซ์มาตรฐานในการทำเบเกอรี่) 3 ฟอง, ช็อกชิพ 50 กรัม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 100 กรัม ขั้นตอนการทำ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผสม “ของเหลว” และ “ของแห้ง” โดยเริ่มจากการทำส่วนผสมที่เป็นของเหลว โดยละลายเนยและดาร์คช็อกโกแลตก่อน นำวัตถุดิบทั้ง 2 ตัวนี้ใส่เข้าเตาอบทิ้งไว้ประมาณ 7 นาที จากนั้นก็มาทำขั้นตอนต่อไปโดยนำน้ำตาลทรายใส่ลงในอ่างผสม แล้วก็ตอกไข่ใส่ตามลงไปผสมกับน้ำตาลทราย ใช้เครื่องตีแป้งแบบมือทำการตีให้น้ำตาลทรายกับไข่ผสมเข้ากัน การตีนั้นให้ตั้งเครื่องตี 90 องศา กดให้ติดถึงก้นอ่าง เริ่มใช้ความเร็วที่ระดับ 1 ในการเริ่มตี เพื่อไม่ให้วัตถุดิบนั้นกระเด็น ตีไปเรื่อย ๆ และคอยคนหมุนไปในทางเดียวกันตลอด ไม่ต้องเร่งตีเพราะถ้าเร่งเนื้อเค้กจะเกิดฟองอากาศ ทำออกมาเนื้อเค้กจะยุบ ตีจนน้ำตาลทรายและไข่เข้ากันเป็นเนื้อเดียวจนขึ้นฟูเป็นสีขาวก็ใช้ได้ จากนั้น นำเนยและดาร์คช็อกโกแลตที่ละลายเตรียมไว้ผสมรวมกับน้ำตาลทรายและไข่ไก่ที่ตีผสมไว้แล้ว (เนยและดาร์คช็อกโกแลตที่ละลายเตรียมไว้ควรทิ้งไว้ให้เย็นก่อนที่จะนำมาผสม ไม่เช่นนั้นไข่จะสุก) เมื่อนำวัตถุดิบทั้ง 2 ส่วนผสมกันแล้ว ก็ทำการคนให้เข้ากัน ก็จะได้เป็นส่วนผสมที่เป็นส่วนของ “ของเหลว” พักไว้ ต่อไปก็มาเตรียมส่วนผสมที่จะทำเป็นส่วน “ของแห้ง” โดยนำแป้งเค้ก ผงโกโก้ ผงฟู ผสมรวมกันแล้วทำ การร่อนด้วยเครื่องร่อนแป้ง (เพื่อนำส่วนที่แข็งออก เวลาทำเค้กเนื้อเค้กจะนุ่ม) แล้วก็นำช็อกชิพและเม็ดมะม่วงหิม พานต์มาทำการบดพอหยาบผสมรวมกัน แล้วใส่ผสมในแป้งเค้กที่ร่อนไว้แล้ว ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็จะได้เป็นส่วนของแห้ง ถัดมาก็นำส่วนผสมที่เป็นของเหลวและของแห้งมาเทผสมรวมกัน แล้วทำการคนคลุกเคล้าให้วัตถุดิบทั้ง 2 ส่วนผสมเข้ากันเป็นอย่างดี โดยใช้เวลาคนประมาณ 30 วินาที เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วก็นำไปเทลงในถาดอบ ขนาด 10x10 นิ้ว ที่รองด้วยกระดาษไข ใช้ไม้พายเกลี่ยให้หน้าเสมอกัน นำเข้าเตาอบ ใช้อุณหภูมิ 150 องศา (ต้องเปิดวอร์มเตาอบไว้ก่อนประมาณ 30 นาที เพื่อให้เตาอบร้อนได้ที่ ก่อนจะนำบราวนี่เข้าอบ) ใช้เวลาอบประมาณ 25 นาที เท่านี้ก็จะได้เป็น “บราวนี่” หอมกรุ่น ซึ่งจากปริมาณวัตถุดิบ จากสูตรที่ว่ามาข้างต้น จะสามารถทำบราวนี่ได้ 1 ถาดขนาด 10x10 นิ้ว ตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ สี่เหลี่ยมได้ 16 ชิ้น โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนวัตถุดิบต่อ 1 ถาดอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 100 บาท หรือเฉลี่ยต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 6 บาท สามารถตั้งราคาขายได้ชิ้นละประมาณ 20 บาท ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/237524

Saturday, September 28, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ผ้าย้อมคราม’

“ผ้าย้อมคราม” เป็นผ้าพื้นเมือง จ.สกลนคร ที่มีมาแต่โบราณ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักและยอมรับถึงคุณภาพ สวยงาม สวมใส่สบาย แต่สำหรับชาวบ้านผู้ผลิตกลับไม่ค่อยได้มีผลประโยชน์เรื่องรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากขาดความรู้ด้านการแปรรูป ทำให้เสียโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ. เห็นความสำคัญ จึงเข้าช่วยต่อยอดผ้าย้อมคราม ทั้งพัฒนาการผลิต เติมดีไซน์สมัยใหม่ และการตลาดเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญยังเชื่อมโยงเป็นสินค้ารักษ์โลก ผู้สวมใส่ภูมิใจได้ว่านอกจากจะได้ใส่เสื้อผ้าสวยงามแล้ว ยังมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลผ้าย้อมครามมานำเสนอ… นางเกยูร ไชยะวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมคราม ผ้าไหม บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก จ.สกลนคร เล่าให้ฟังถึงที่มาของ “ผ้าย้อมคราม” ว่า บ้านกุดแฮดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาว “ไทยกะเลิง” มีฝีมือในเรื่องการทำผ้าย้อมครามที่ได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตจะทอเป็นผ้านุ่ง สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ภายหลังความนิยมผ้าทอย้อมครามมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีบุคคลภายนอกสนใจ ทั้งนักท่องเที่ยว รวมถึงมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อผ้าย้อมครามถึงในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามขาย หารายได้เสริมจากอาชีพหลักคือการทำนา ชาวไทยกะเลิงเชื่อว่า “คราม” เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของธรรมชาติ เปรียบเท่ากับเทพยดา เมื่อนำมาย้อมผ้าย้อมครามสวมใส่ก็จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้อง ทำให้ผู้สวมใส่สุขกายสบายใจ แต่ก่อนหน้านี้เริ่มหาคนที่ทำสวย สมบูรณ์แบบ น้อยลง จนภายหลังจึงมีการผลิตเพื่อจำหน่ายได้มากขึ้น หลังได้รับการสนับสนุนการผลิต และการตลาด จาก สพภ. และ ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร ทำให้มองเห็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น “จากที่ขายเป็นผ้าผืน ก็นำมาดัดแปลง แปรรูป จนได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นที่ต้องการ จนทุกวันนี้ผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด ตอนนี้ในกลุ่มก็มีความตื่นตัวค่อนข้างสูงในเรื่องนี้ สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันก็คือ ภูมิปัญญา ความรู้เก่าก่อนของบรรพบุรุษจะถูกรวบรวมไว้เพื่อถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ให้ได้เรียนรู้รากเหง้าที่มา วัฒนธรรมของเรา และเชื่อว่าสิ่งที่คนรุ่นเราได้เริ่มไว้จะต่อยอดสร้างรายได้ให้ลูกหลานในชุมชน ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านอีกต่อไป” วัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสีผ้าด้วยน้ำคราม ได้แก่... ใบคราม ต้นคราม (เป็นไม้พุ่มล้มลุก ปลูกด้วยเมล็ด เมื่อต้นครามอายุได้ 3-4 เดือน ใบและกิ่งจะให้สีน้ำเงิน), ปูนขาว (สำหรับกินหมาก), น้ำขี้เถ้า, มะขามเปียก และน้ำสะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ ก็มี... ถังที่มีฝาปิด (โอ่ง), เส้นฝ้าย, ขัน, ส้อมกวนคราม, ตะแกรงกรองคราม และพลาสติก ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการเตรียมใบคราม นำทั้งกิ่งและใบมามัดรวมกันเป็นฟ่อน 10 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถัง 200 ลิตร ใช้มือกดให้แน่น เติมน้ำให้ท่วมหลังมือ แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วทำการกลับด้านครามแช่ไว้อีก 12 ชั่วโมง จากนั้นแยกกากใบออกทิ้ง จะได้น้ำครามสีเหลืองปนเขียวประมาณ 100 ลิตร เสร็จแล้วเติมปูนขาว 500 กรัมลงไป ทำการตีน้ำคราม หรือเรียกว่าซ้อมคราม 30-40 นาที จนฟองยุบ พักทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้เนื้อครามตกตะกอนที่ก้นถัง แล้วรินน้ำใสสีน้ำตาลเหลือง ๆ ชั้นบนทิ้ง เหลือไว้แต่ชั้นล่างที่จะเป็นเนื้อครามเนื้อเนียนละเอียด ต่อไปเป็นการเตรียมน้ำย้อม ผสมเนื้อครามเปียก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำขี้เถ้า 3 ลิตร แช่ไว้ 3 วัน จากนั้นค่อยเติมน้ำมะขามเปียกต้ม 3 ลิตรลงไป ทำการโจกคราม (ตักสูง ๆ เทลง) ทุกเช้า-เย็น สังเกตดูเมื่อเห็นน้ำครามให้สีเขียวอมเหลือง ฟองสีน้ำเงินเข้ม ไม่แตกยุบ แสดงว่าน้ำครามสมบูรณ์ พร้อมต่อการใช้ย้อมผ้าแล้ว สำหรับขั้นตอนการย้อม ให้นำเส้นใยผ้าฝ้ายที่ต้องการย้อมมาล้างไขมัน สะอาดแล้วก็บิดให้หมาด ๆ จับเป็นวง จุ่มลงหม้อน้ำย้อม กำให้แน่นแล้วไล่เรียงไปเรื่อย ๆ รอบวงของฝ้าย สังเกตสีน้ำย้อมจะใสขึ้นจึงหยุดย้อม บิดฝ้ายที่ย้อมให้หมาด ๆ กระตุกให้เรียงเส้น เก็บไว้ในภาชนะมิดชิดหรือห่อด้วยถุงพลาสติก ละลายครามกับน้ำด่างพอประมาณให้เนื้อครามเหลว โจกคราม 2-3 ครั้ง พักไว้ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นนำฝ้ายที่ย้อมไว้ในรอบแรกมาย้อมอีกครั้งและทำเช่นเดิมอีก ย้อมซ้ำจนได้สีเข้มตามที่ต้องการ จึงนำเส้นใยฝ้ายที่ย้อมนั้นมาล้างในน้ำให้สะอาด จนไม่เหลือสีครามออกมาในน้ำล้าง บิดให้หมาด ผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ก่อนนำไปสู่กระบวนการทอ ป้าเกยูรบอกถึงจุดเด่นของผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮดว่า ทำมาจากฝ้ายแท้ ย้อมครามแบบธรรมชาติ โดยเส้นใยธรรมชาติจะมีความหนา เมื่อนำมาทอผ้าจะทำให้เนื้อนุ่ม ระบายอากาศได้ดี โดยส่วนใหญ่จะทอขายเป็นผืน ๆ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เมตรละ 200-300 บาท แต่ละคนจะทอผ้าได้สูงสุด 2-3 เมตรต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำนา ปัจจุบันโดยเฉลี่ยชาวบ้านที่นี่จะมีรายได้จากการทำผ้าย้อมครามประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ใครสนใจ “ผ้าย้อมคราม” ของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามฯ บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ติดต่อได้ที่ โทร.08-7946-6861, 08-7234-7212 หรือร้านฟ้าใสแกเลอรี่ โทร.0-2141-7828 ซึ่งอาชีพทำเงินของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย. เชาวลี ชุมขำ :เรื่อง / สันติ มฤธนนท์ :ภาพ ......................................................................................................................... คู่มือลงทุน...ผ้าย้อมคราม ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 40% ของราคา รายได้ ราคา 200-300 บาท/เมตร แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด ร้านของฝาก-ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ชูภูมิปัญญาเป็นจุดขายที่ดี http://www.dailynews.co.th/article/384/235939

แนะนำอาชีพ 'สมุดทำมือ’

สมุดทำมือนั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพ อีก “ช่องทางทำกิน” ที่คนรุ่นใหม่สนใจ จึงมีการต่อยอดพลิกแพลงค่อนข้างหลากหลาย ตอบคำถามได้ว่าตลาดงานฝีมือประเภทนี้ยังไม่ถึงทางตัน ยิ่งหากนำเรื่องของการออกแบบผนวกเข้ากับรายละเอียดของงานที่ประณีต การจะเปิดโอกาส-ทำตลาดให้กับสมุดทำมือก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อย่างเช่น “สมุดทำมือ” ที่มีลูกเล่น ไอเดียเด่น ของ “วศินี เชยกลิ่นเทศ” รายนี้.... วศินี เจ้าของชิ้นงานสมุดทำมือที่ใช้ชื่อว่า classic note book เล่าว่า งานสมุดโน้ตทำมือนี้เริ่มทำจำหน่ายมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว โดยเปิดร้านค้าออนไลน์และจำหน่ายผ่านทาง http://classic-notebook.exteen.com และ www.facebook.com/ClassicNotebook นัยหนึ่งเพื่อเอามาใช้ในการเรียน เพราะเรียนด้านการออกแบบ อีกนัยหนึ่งเพื่อทำเป็นงานอดิเรกเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบงานกระดาษอยู่แล้ว โดยปัจจุบันยึดการทำสมุดทำมือนี้เป็นอาชีพเสริม สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำเป็นอาชีพ ทำสมุดทำมือเพื่อจำหน่าย เธอเล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อเริ่มฝึกทำจนชำนาญ จึงทำเป็นของขวัญเพื่อมอบให้เพื่อนคุณแม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปรากฏว่าเพื่อนคุณแม่ชอบ และขอให้ทำเพิ่มหลาย ๆ แบบ เพื่อนำกลับไปเป็นของฝาก จากจุดนั้นจึงคิดว่างานฝีมือตรงนี้ทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในยามว่างได้ “ที่ทำมา 2 ปี ถือว่าตลาดไปได้เรื่อย ๆ และจะดีมากในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญ ๆ นอกจากนั้นยังมีลูกค้าที่สั่งทำเพื่อนำไปทำเป็นของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย รวมถึงนำไปดัดแปลงเองตามต้องการอีกด้วย” วศินีกล่าว จุดเด่นของชิ้นงาน เธอบอกว่า วิธีการเย็บสมุด-วิธีการทำสมุดทำมือที่เธอได้ไปเรียนมานั้น เป็นเทคนิควิธีการทำเหมือนหนังสือหรือคัมภีร์โบราณแบบยุโรป ซึ่งวิธีนี้ทำให้หนังสือหรือสมุดมีความแข็งแรงคงทน และแปลกที่ลวดลายของสันสมุดที่ถูกถักและเย็บขึ้น โดยแต่ละเล่มจะมีรูปแบบวิธีการแตกต่างกันไป ปัจจุบันสมุดที่ทำจะมี 2 แบบ คือ เป็นแบบที่เรียกว่า “บุ๊คไบนด์ดิ้ง” คือสมุดที่สามารถนำไปทำเป็นไดอารี่,สมุดอวยพรคู่แต่งงาน, สมุดภาพ กับอีกแบบเรียกว่า “บุ๊คอาร์ต” ซึ่งแบบนี้จะออกไปในแนวสมุดศิลปะ จะใช้เขียนบันทึกได้น้อย โดยสมุดแบบนี้จะเน้นให้เป็นของขวัญของที่ระลึกมากกว่า “จุดเด่นของสมุดร้านเราจะอยู่ที่ลายเย็บบนสันสมุด ที่เป็นการเย็บสมุดแบบเปิดสันสมุด ซึ่งเป็นวิชาเก่าแก่จากทางประเทศโปแลนด์ และจะสามารถเปิดสมุดกางออกมาได้กว้างถึง 180 องศา โดยไม่กินเนื้อกระดาษ เมื่อแปะภาพจะไม่บวมหรือโป่งพองออกมาจนดูไม่สวย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมาก” เจ้าของชิ้นงานกล่าว ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 20% ของราคาขาย รายได้หรือราคาขายตั้งแต่เล่มละ 120 ไปจนถึง 6,000 บาท ขึ้นกับขนาดและความยากง่ายของแต่ละชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์ (Bone Folder), เหล็กแหลม สำหรับใช้เจาะกระดาษ, เข็ม, เชือกหรือด้าย, กรรไกร, กาวพีวีเอ(ชนิดหนึ่งของกาวลาเท็กซ์แต่แห้งเร็วกว่าและมีความข้นหนืดน้อยกว่า),แปรงทากาว และกระดาษสำหรับทำเนื้อในสมุดกับกระดาษสำหรับใช้ทำปกสมุดโน้ต ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเลือกกระดาษที่จะใช้เป็นปกด้านนอกและด้านในสมุด ทำการตัดกระดาษจั่วปัง(กระดาษที่ช่วยเพิ่มความแข็งให้กับปกสมุด) ตามขนาดสมุดที่ต้องการ 2 แผ่น จากนั้นทากาวพีวีเอที่กระดาษจั่วปังแล้วแปะกระดาษจั่วปังลงบนข้างหลังกระดาษปก โดยให้เหลือขอบทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร พับมุมของกระดาษปกที่ใช้ห่อให้เป็นรอยแล้วคลี่ออก ใช้กรรไกรตัดห่างจากมุมของกระดาษจั่วปังประมาณ 2 มิลลิเมตรทั้ง 4 ด้าน ขั้นตอนต่อมาให้ทากาวลงบนกระดาษด้านยาวทีละด้านแล้วใช้อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์รีดกระดาษให้พับเข้ามาโดยทำทั้ง 2 ด้าน พับมุมเก็บทั้ง 4 มุม แล้วนำกาวมาทาด้านแคบ ใช้อุปกรณ์รีดกระดาษ รีดกระดาษพับเข้ามาเช่นกันทั้ง 2 ด้าน ตัดกระดาษปกในให้เล็กกว่าขนาดปกเล็กน้อย แล้วนำกาวพีวีเอมาทาที่กระดาษปกใน จากนั้นนำไปแปะที่ปกด้านในให้อยู่กึ่งกลาง ให้ทำแบบนี้ 2 แผ่น ทั้งปกหน้าและปกหลัง เริ่มขั้นตอนการพับกระดาษสำหรับทำไส้ในสมุด ตามจำนวนชั้นที่เราต้องการ โดยทำแม่แบบเพื่อเจาะรูสมุด จากนั้นเริ่มเย็บสมุด และเก็บลายละเอียดที่เหลือ “วิธีการทำสมุดทำมือจะมีวิธีการคล้าย ๆ กับขั้นตอนการทำหนังสือแบบสมัยก่อน ข้อดีคือ สมุดทำมือแบบนี้จะมีความคงทน มีอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน ไม่ค่อยหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ เหมือนสมุดที่ทากาวที่สันเพียงอย่างเดียว ยิ่งใช้เชือกหรือด้ายที่มีคุณภาพสูง เกรดดีหน่อย ก็จะยิ่งทำให้สมุดทำมือเก็บรักษาไว้ได้นานยิ่งขึ้น” วศินีกล่าว สนใจผลงาน “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-5955-7757 อีเมล์ za_nall@hotmail.com หรืออยากจะดูรูปแบบ “สมุดทำมือ” ก็สามารถเปิดเข้าไปดูตามเว็บไซต์กับเฟซบุ๊คข้างต้น หรือใครอยากจะลองฝึกหัดทำก็สามารถสอบถามได้โดยตรงที่เจ้าตัวเลย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานทำมือจากกระดาษที่ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยึดเป็นช่องทางทำกินได้อย่างน่าสนใจ. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ :เรื่อง / จุมพล นพทิพย์ :ภาพ ............................................................................................................... คู่มือลงทุน...สมุดทำมือ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 20% ของราคา รายได้ ราคา 120-6,000 บาท/เล่ม แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของใช้ ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ทุนต่ำ ทำเป็นอาชีพเสริมได้ http://www.dailynews.co.th/article/384/235873

Saturday, September 21, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เครื่องประดับแฮนด์เมด’

สินค้าประเภทเครื่องประดับ ต่างหู สร้อย กำไร แหวน ฯลฯ เป็นสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่มากมายในท้องตลาด จึงเป็นสินค้าที่มีคู่แข่งทางการตลาดสูง ซึ่งการจะทำให้สินค้ายืนหยัดอยู่ในตลาดได้ก็จะต้องเน้นสร้างสรรค์สินค้าให้มีความโดดเด่น มีจุดขาย อย่างการสร้างสรรค์ “เครื่องประดับแฮนด์เมด” เป็นรูปผีเสื้อ นกฮูก โดยผสมผสานศิลปะการเพ้นท์สีเข้าไปในตัวชิ้นงาน ที่ผู้ทำเรียกผลงานของตัวว่า “จิวเวลรี่อาร์ท แฮนด์เมด” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ... **************** สายน้ำผึ้ง พวงดอกไม้ เจ้าของผลงานทำเครื่องประดับแฮนด์เมด หรืองานจิวเวลรี่อาร์ท แฮนด์เมด เล่าว่า หลังจากที่เรียนจบทางด้านศิลปะก็เข้าทำงานที่บ้านจิม ทอมป์สัน ทำหน้าที่ซ่อมรูปภาพโบราณ และเขียนรูปด้วย ซึ่งก็ทำงานประจำอยู่ 8 ปี จนเริ่มอิ่มกับงานที่ทำ อยากทำงานที่เป็นอิสระของตัวเอง จึงออกจากงานประจำ และด้วยความที่ชอบใส่เครื่องประดับ งานจิวเวลรี่ จึงศึกษาต่อปริญญาโทด้านจิวเวลรี่ที่ศิลปากร ยังเรียนไม่จบ แต่ก็มาทำธุรกิจของตัวเอง “มองหาค้นหาตัวเองว่าจะทำงานอะไรที่ยังมีกลิ่นอายของศิลปะงานอาร์ทที่ตนเองถนัด จะเขียนรูปขายก็ขายยาก เป็นงานเฉพาะกลุ่ม งานขายยาก จึงพยายามมองหางานที่ชอบและยังอยู่ในไลน์ศิลปะ จึงได้มาจับงานทำเครื่องประดับเพราะชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เริ่มจากใช้ผ้ามาทำ ก็ไม่ลงตัว ทดลองหาวัสดุหลาย ๆ อย่างมาทดลองทำ จนลงตัวในที่สุด” สายน้ำผึ้งค้นหาวัสดุจนได้วัสดุธรรมชาติ พวกใยบวบ มะกรูด นำมาสร้างสรรค์ทำเป็นเครื่องประดับออกมาจำหน่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติมาทำ เรื่องการหาวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพของงานจึงยากพอสมควร จึงเริ่มมองหาวัสดุใหม่ จนมาสรุปที่การนำดินไทยมาทำเป็นรูปผีเสื้อและนกฮูก แล้วเพ้นท์สี เกิดเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมา “เราก็เริ่มพัฒนางานไปเรื่อย ๆ และได้เห็นงานดินปั้นจากรายการโทรทัศน์ จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะนำมาทำเป็นชิ้นงานได้ จึงเริ่มทดลองทำ พัฒนางานมาเรื่อย ๆ จนลงตัว จนได้เป็นงานเครื่องประดับจากดินและเพ้นท์สี เป็นทั้งรูปผีเสื้อและนกฮูก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก” งานเครื่องประดับของสายน้ำผึ้งนั้น จะเป็นงานที่ทำมือขึ้นมาทีละชิ้น เน้นให้เป็นงานศิลปะ สีสันสดใส เน้นความละเอียดทุกชิ้นงาน ทำให้เครื่องประดับที่ทำออกมามีคุณค่ามีราคาในตัวของมันเอง... วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี... ดินไทย, สีอะคริลิค, พู่กัน, แล็คเกอร์, คริสตัล, ลวดทองเหลือง, ลวดทองแดง, ตะขอต่างหู, คีมตัดลวด, กรรไกร ฯลฯ ขั้นตอนการทำเริ่มจาก... ทำบล็อกรูปผีเสื้อขึ้นมาก่อน โดยการแกะแบบแล้วนำไปหล่อทำเป็นพิมพ์ (ทำพิมพ์ไว้สำหรับปั้มขึ้นรูปลงบนดิน ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานได้เร็วขึ้น) หลังจากมีแม่พิมพ์แล้วก็นำดินไทยในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้เป็นแผ่นบางกำลังดี ไม่บางหรือหนาไป ใช้พิมพ์รูปผีเสื้อปั้มลงบนแผ่นดินที่เตรียมไว้ ดินก็จะเป็นรูปผีเสื้อตามแบบ หลังจากนั้นก็รอจนดินนั้นแห้งสนิท แล้วใช้กรรไกรตัดตามแบบพิมพ์ ก็จะได้เป็นรูปผีเสื้อ (ต้องตัดตอนที่ดินนั้นแห้งสนิท เพราะถ้าตัดตอนที่ดินยังไม่แห้งชิ้นงานจะย้วยไม่สวยงาม) เมื่อได้ดินที่เป็นรูปผีเสื้อแล้วก็ทำการเพ้นท์สีลงลวดลายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อทำการเพ้นท์ลงสีเสร็จแล้ว ก็ทิ้งไว้รอจนสีแห้งสนิท จากนั้นก็ทำการพ่นแล็คเกอร์เคลือบเพื่อความแข็งแรงทดทานและเป็นเงาสวยงามมากขึ้น รอจนแล็คเกอร์ที่พ่นไว้แห้งสนิทดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการตกแต่ง โดยนำเอาลวดทองเหลืองมาทำการดัดม้วนติดใส่ลงไปบนผีเสื้อที่ทำไว้ เพิ่มความสวยงามด้วยการติดคริสตัลเข้าไปอีกหน่อย ซึ่งขั้นตอนการตกแต่งนี้ก็ตามแต่จะดีไซน์ ตกแต่งเรียบร้อยก็นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ถ้าทำเป็นต่างหูก็นำตะขอต่างหูมาติด ถ้าทำเป็นสร้อยก็นำตัวผีเสื้อที่ทำนั้นไปติดลงบนสร้อย “งานเพ้นท์เครื่องประดับของเราจะเอางานมานั่งเพ้นท์ที่ร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็น เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ว่างานเราเป็นงานแฮนด์เมดทำมือจริง ๆ ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี” เจ้าของงานบอก และว่า งานทำเครื่องประดับแฮนด์เมดนี้เป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตและความละเอียดสูง ต้องมีความตั้งใจ และที่สำคัญควรจะมีทักษะในเรื่องของศิลปะอยู่บ้างจึงจะทำออกมาได้สวยงาม สำหรับชิ้นงานของสายน้ำผึ้งนั้น มีทั้งที่เป็นรูปผีเสื้อและนกฮูก และหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ ต่างหู, สร้อย, แหวน, กำไร เป็นต้น ซึ่งก็มีราคาขายอยู่ที่ 280-2,000 บาท โดยราคานั้นขึ้นอยู่กับความละเอียดของชิ้นงาน ***************** สนใจ “เครื่องประดับแฮนด์เมด” ที่ใส่ศิลปะเข้าไปใช้ชิ้นงาน ของสายน้ำผึ้ง ก็สามารถแวะไปดูไปชมไปเลือกซื้อกันได้ ร้านตั้งอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 7 (โซนศิลปะ) ซอย 5 หรือต้องการสั่งออเดอร์ก็สามารถโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.08-1711-4173 ซึ่งนี่ก็เป็น “ช่องทางทำกิน” จากเครื่องประดับอีกรูปแบบ ที่ตลาดยังไม่ตัน. บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : เรื่อง / วรพรรณ เลอสิทธิศักดิ์ : ภาพ คู่มือลงทุน...เครื่องประดับแฮนด์เมด ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป ทุนวัสดุ ประมาณ 50% ของราคาขาย รายได้ ราคา 280-2,000 บาท / ชิ้น แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด แหล่งช็อปปิ้ง, ตามตลาดนัด จุดน่าสนใจ แฮนด์เมดผสมศิลปะคือจุดขาย ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/234415