Saturday, August 29, 2009

แนะนำอาชีพ ‘ลูกเดือยทอดกรอบ’

ผสมสมุนไพร-ขายสุขภาพ

ขนมกรุบกรอบทานเล่นจากโรงงานใหญ่ ๆ ที่มีวางขายตามท้องตลาดนั้น บ้างก็มีประโยชน์น้อย บ้างก็มีราคาสูง ซึ่งนี่ก็เป็นช่องว่างทางการตลาดสำหรับรายย่อย เป็น “ช่องทางทำกิน” จากการผลิตขนมกรุบกรอบที่มีประโยชน์-ราคาไม่แพง อย่างการทำ “ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร” ขาย ก็น่าสนใจ...

ชมพูนุช เผื่อนพิภพ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร เปิดเผยว่า จากการทำโครงการเกษตรอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ เมื่อลงพื้นที่ในต่างจังหวัดก็พบพวกธัญพืชต่าง ๆ เป็นที่นิยมมาก แล้วก็เห็น “ลูกเดือย” ซึ่งใคร ๆ ก็คิดว่านำไปต้มได้เพียงอย่างเดียว

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว เห็นว่าน่าจะทำเป็นอย่างอื่นได้ อาทิ อาหารทานเล่นแบบกรุบกรอบ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ โดยลูกเดือยมีสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายมากมาย

เช่น ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินบี 1 ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคล เซียม และยังมีสรรพคุณเป็นยาเย็น ใช้บำบัดอาการหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ น้ำคั่งในปอด แก้ร้อนใน บำรุงไต บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำรุงสตรีหลังคลอด ช่วยย่อยอาหาร และเจริญอาหาร

ทั้งหมดคือคุณประโยชน์ของเจ้าเม็ดกลม ๆ อ้วน ๆ ที่เรียกว่า “ลูกเดือย”

ส่วน “ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร” ที่คิดทำขึ้นมา นอกจากลูกเดือยแล้ว ยังมี ใบมะกรูด, พริกไทยดำ เป็นสมุนไพรที่เพิ่มกลิ่นและสีสันให้มีความน่ารับประทานมากขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้น

ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร มีวัตถุดิบและวิธีการทำดังนี้คือ...

วัตถุดิบก็มี ลูกเดือย 250 กรัม, ใบมะกรูด 45 กรัม, เมล็ดพริกไทยดำ 20 กรัม, น้ำตาลทรายขาว 30 กรัม, เกลือป่น 5 กรัม และน้ำมันพืช (สำหรับทอด) 0.5 ลิตร

ส่วนวิธีทำ...เริ่มจากนำลูกเดือยแช่น้ำสะอาดนาน 1 คืน แล้วต้มให้สุก เมื่อสุกแล้วตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ นำไป อบในตู้อบที่อุณหภูมิ 60 องศา เซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง วิธีนี้จะทำให้ลูกเดือยเมื่อทอดแล้วจะพองฟูและมีความกรอบนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง (หากไม่มีตู้อบให้ใช้วิธีการตากแดดให้ แห้งแทน)

ขั้นตอนต่อมา ทอดลูกเดือยในน้ำมันที่ร้อนจัด จนพองฟูและมีสีเหลืองทอง นำขึ้นสะเด็ดน้ำมัน โดยแบ่งทอดทีละน้อย เตรียมหั่นใบมะกรูดเป็นฝอยลงทอดให้กรอบดี และทอดเมล็ดพริกไทยดำให้พอสุก พักไว้

วิธีการคลุกเคล้าส่วนผสม นำลูกเดือยทอดกรอบ + ใบมะกรูดทอดกรอบ + เมล็ดพริกไทยทอดกรอบ + น้ำตาลทราย + เกลือ ใส่ลงในถุงพลาสติกชนิดที่ไม่มีหูหิ้ว ขนาดกว้าง 8 นิ้ว แล้วเขย่าให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน

หากทำในปริมาณมาก ใช้ภาชนะขนาดใหญ่ที่มีฝาปิดแทนถุงได้ จากนั้นนำใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด พร้อมขาย ซึ่งสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน และเหมาะสำหรับเป็นของรับประทานเล่นของผู้ที่รักสุขภาพ

อ.ชมพูนุชบอกว่า ตามสูตรนี้หากบรรจุใส่ภาชนะ 25 กรัม จะได้จำนวนประมาณ 14 กระปุก ขายในราคากระปุกละ 20 บาท ก็จะได้ 280 บาท ส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ตกอยู่ที่ประมาณ 170 บาท

นอกจากนี้ อ.ชมพูนุช ยังได้แนะนำเคล็ดลับเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็นคือ หากชอบให้รสชาติเคลือบติดอยู่กับผิวลูกเดือย สามารถใช้วิธีการฉาบได้ โดยนำน้ำตาลและเกลือตั้งไฟเคี่ยวให้เหนียวแล้วจึงใส่ลูกเดือยทอดลงไปคลุก เคล้าให้เข้ากัน หรืออาจเปลี่ยนจากน้ำตาลและเกลือเป็นเนยหรือช็อกโกแลตได้

รวมถึง สามารถเปลี่ยนรสชาติด้วยผงปรุงรสสำเร็จรูปได้หลากหลาย เช่น รสต้มยำ, รสพิซซ่า, บาร์บิคิว โดยรสชาติเหล่านี้การจะใช้ก็ไม่ยุ่งยาก เพราะมีผงปรุงรสสำเร็จรูปขาย ส่วนแต่ละรสจะใช้ปริมาณมากน้อยเท่าไร ก็กะดูว่าต้องการให้ลูกเดือยมีรสชาติจัดจ้านเพียงใด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นรสต้มยำ ในปริมาณวัตถุดิบข้างต้นนั้น ควรจะใช้ผง ปรุงรสต้มยำประมาณ 25 กรัม ซึ่งก็เป็นการใช้แทนเกลือป่น และน้ำตาลทรายขาว

สนใจเรื่อง “ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร” ต้องการติดต่อ อ.ชมพูนุช เผื่อนพิภพ ก็ไปได้ที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร หรือ โทร. 0-2281-9231-4 ต่อ 1201-3

บางทีนี่อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีสำหรับคุณ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=15673&categoryID=525

แนะนำอาชีพ 'กระยาสารท'อีกหนึ่งขนมโบราณทำเงิน

“กระยาสารท” เป็นขนมไทยพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม อย่างแพร่หลาย คนยุคก่อนจะทำกันช่วงเทศกาลทำบุญวันสารทไทย แรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่ปัจจุบันขนมชนิดนี้ถูกปรับปรุงพัฒนาให้เป็นขนมกินเล่นได้ อย่างเช่นยี่ห้อ “อำนวยขนมไทย” ใน จ.ปทุมธานี ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...

อำนวย ลางคุณเสน ประธาน กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เล่าว่า สมัยก่อนพอถึงช่วงเทศกาลสารทไทย ชาวไทยพุทธทุกบ้านจะต้องนำเอาพืชผลทางการเกษตรที่ให้ผลผลิตครั้งแรกในฤดู เก็บเกี่ยว ทั้งข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา น้ำผึ้ง น้ำตาล และน้ำอ้อย มาทำเป็นขนม “กระยาสารท” เพื่อนำไปประกอบพิธีทำบุญในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตามความเชื่อที่ว่า บุญกุศลจะไปสู่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วและยังส่งผลให้พืชผลทางการ เกษตรเจริญงอกงาม และอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

แม้วัฒนธรรมการทำขนมชนิดนี้จะเลือนหายไปตามเวลา จนเกือบไม่เหลือให้เห็นแล้ว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังติดใจในรสชาติความอร่อยของกระยาสารท ตนเองซึมซับและผูกพันกับขนมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจอยากจะทดลองทำขายดู ซึ่งการทำกระยาสารทไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้อร่อยโดนใจ

ด้วยพรสวรรค์ บวกกับพรแสวงที่ได้จากการฝึกฝนวิชาทำขนมกระยาสารทจากรุ่นปู่ย่าตายาย พลิกแพลงพัฒนาหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดอำนวยก็ได้สูตรเฉพาะของตนเอง และในปี 2538 ก็เริ่มผันตัวเองจากอาชีพทำนามาเป็นแม่ค้าขายกระยาสารท แล้วชักชวนเพื่อนบ้านจัดตั้งเป็น “กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย” ขึ้น ใช้ทุนเริ่มต้นสำหรับอุปกรณ์ราว 25,000 บาท จากการสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน

อำนวยไปอบรมความรู้ตามหน่วยงาน ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ ทั้งรสชาติ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ จนได้รับการรองทั้งจาก อย., มผช., โอท็อป, รางวัลชนะเลิศกระยาสารทงานของดีเมืองปทุมธานี ฯลฯ ทำให้สินค้าขายดีขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดยังได้รับเลือกให้วางขายในห้างเทสโก้ โลตัส ด้วย

วัตถุดิบหรือส่วนผสมที่ใช้ในการทำ “กระยาสารท” ก็มี... ข้าวเม่า, ข้าวตอก, ถั่ว, งา, น้ำอ้อย, น้ำกะทิ, มะนาว, นมสด ส่วนอุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี... กระทะขนาดใหญ่, เตาแก๊สหรือเตาถ่าน, ไม้พาย, ตะหลิว, ถาดขนาดใหญ่, กะละมัง, ไม้กลิ้ง, พิมพ์ และอุปกรณ์งานครัวเบ็ดเตล็ด

ขั้นตอนการทำ “กระยาสารท” เริ่ม จาก... นำข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา ไปคั่วด้วยไฟอ่อนให้หอมและสุกเหลืองพอดี ใส่ภาชนะแยก วางพักไว้ แล้วก็เตรียมน้ำอ้อย น้ำกะทิ นมสด และน้ำมะนาวให้พร้อม นำกระทะตั้งไฟใส่น้ำอ้อยลงไป ตามด้วยน้ำกะทิและนมสดในสัดส่วนที่พอเหมาะ ใช้ไฟร้อนปานกลางเคี่ยวผสมให้เดือดสักครู่ แล้วเติมน้ำมะนาวเล็กน้อย จะช่วยให้กระยาสารทมีสีเหลืองนวลสวย ใส และกรอบ

ทำการเคี่ยวต่อไป เรื่อย ๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงจนส่วนผสมเหนียวได้ที่ นำข้าวตอกใส่ลงไป ตะล่อมคนให้ทั่วและให้เข้ากันดี จากนั้นค่อยนำส่วนผสมที่เหลือเทรวมลงไป โดยใช้ไม้พายคนให้เข้ากันอีกประมาณ 40 นาที ระหว่างนี้ใช้ไฟอ่อน ๆ สังเกตดูส่วนผสมทุกอย่างเกาะติดกันจนเหนียวได้ ค่อยยกลงจากเตา

จากนั้นนำไปเทลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ แล้วใช้ลูกกลิ้งไม้ผิวเรียบอัดด้วยแรง เพื่อให้กระยาสารทเกาะแน่นติดกัน จากนั้นนำมาตัดเป็นชิ้น ๆ ก่อนแพ็กบรรจุภัณฑ์เพื่อไปวางจำหน่าย โดยการขายก็มีหลายแบบ ถ้าบรรจุกล่อง 300 กรัม ราคา 49 บาท ถ้าแพ็กเป็นถุง ๆ ละ 20-35 บาท หรือชั่งเป็นกิโลกรัม ๆ ละ 100 บาท

คุณอำนวยนั้น จากชาวนา สามารถพัฒนาอาชีพขายกระยาสารท จนกลายเป็นธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ยืนหยัดมานานราว 16 ปี และช่วยให้คนในชุมชนมีงาน มีรายได้ด้วย โดยเจ้าตัวบอกว่าแม้กำไรที่ได้ไม่มากมาย แต่ได้ความเป็นอยู่ที่ดีของเพื่อนสมาชิก และความสุขในครอบครัว นี่คือกำไรที่มีค่ายิ่งแล้ว

ใครสนใจ “กระยาสารท” สนใจ ขนมไทยโบราณ “อำนวยขนมไทย” สนใจเคล็ดลับ เทคนิค วิธีการบริหารจัดการธุรกิจ ของกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ติดต่อได้ที่ เลขที่ 3 หมู่ 6 ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โทร.0-2593-2403, 08-9775-0932 แล้วจะรู้ว่า...ทำ-ขายขนมโบราณ...ไม่บานบุรี !!

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=14278&categoryID=525

แนะนำอาชีพ ‘เพาะเห็ดฟาง’

ถึงไม่ใหม่แต่ก็ยังขายดี

อาชีพ “เพาะเห็ดฟางขาย” แม้จะมีมานาน แต่จนวันนี้ก็ยังน่าสนใจอยู่ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟาง ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มาให้ลองพิจารณา หลังจากทีมงานได้เดินทางไปดูงานกิจกรรมฟาร์มสเตย์ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทาง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้การสนับสนุนอยู่ เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา...

โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้านั้นมีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครง การคือกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ของชาวบ้าน และสำหรับการ “เพาะเห็ดฟาง” ก็มีศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางเป็นทั้งแหล่งให้ความรู้ และเป็นแหล่งรวบรวมเห็ดจากสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ซึ่งแต่ละวันก็จะมีเห็ดฟาง 200-300 กก. เป็นอย่างต่ำ

บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ต.บ้านซ่อง เล่าว่า รวมกลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้ามาตั้งแต่ปี 2548 แรกเริ่มเดิมทีมีสมาชิก 12 คน โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานเกษตร อ.พนมสารคาม, เทศบาลนคร ต.บ้านซ่อง และ มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาถ่ายทอดความรู้ให้

สำหรับการรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ เริ่มกันในปีนี้ โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ครัวเรือน ในส่วนของเห็ดจะผลิตได้วันละกว่า 200-300 กก.ขึ้นไป ซึ่งหลังรวมตัวกันในเรื่องการเพาะเห็ดฟาง ฟาร์มเห็ดก็ได้สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชุมชนได้ มากขึ้น

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด บอกว่า ปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดของกลุ่มฯ กว่า 100 โรง ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไรโรงเรือนแต่ละโรงจะให้ผลผลิตเห็ดเฉลี่ยเดือนละ 250-300 กก. โดยสร้างรายได้ กก.ละ 55 บาทขณะที่ต้นทุนของการผลิตเห็ดฟางนั้นตก กก.ละ 25-30 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงศูนย์

โรงเรือนแต่ละแห่งจะสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยใบจาก และต้องมีผ้าใบคลุมด้วย ในกรณีที่จะต้องรักษาอุณหภูมิ โรงเรือนนั้นจะมีขนาด 5 x 8 เมตร ขนาด 4 ชั้น 2 แถว โดยมีต้นทุนโรงละ 15,000-20,000 บาท

ส่วนกรรมวิธีเพาะเห็ด จะเริ่มตามลำดับของวัน คือ วันที่ 1-3 แช่ปาล์ม จำนวน 2.5-3 ตัน ในน้ำ (ปริมาณท่วมปาล์มพอดี) ใช้ทะลายปาล์มที่หีบน้ำมันออกหมดแล้ว หรืออาจจะใช้กากมันสำปะหลัง หรือใช้เปลือกถั่วก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปาล์มน้ำมันในปริมาณดังกล่าวจะใช้กับโรงเรือนได้ 4 โรงเรือน ซึ่งต้องผสมอีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพจำนวน 3 ลิตร, กากน้ำตาล 3 ลิตร และปุ๋ยยูเรีย 3 กก. ละลายให้เข้ากัน แช่ทิ้งไว้ 3-4 คืน แล้วนำขึ้นมา เพื่อเตรียมขึ้นปาล์มบนโรงเรือน

วันที่ 4 ขึ้นปาล์ม โดยมีอาหารเสริมด้วย (เป็นส่วนผสมที่คลุกระหว่าง ขี้วัว 45 กก., รำข้าว 25 กก., อีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ 100 ซีซี, กากน้ำตาล 100 ซีซี และน้ำเปล่า 100 ลิตร)

วันที่ 5-7 เลี้ยงเชื้อรา คือจะมีราขาวขึ้นบาง ๆ บนปาล์มน้ำมัน

วันที่ 8 อบไอน้ำ (จะมีหม้อต้มน้ำด้านหลังโรงเรือน และปล่อยไอน้ำตามท่อเข้าไปในโรงเรือน และขณะอบไอน้ำต้องคลุมผ้าใบโรงเรือนให้มิดชิดด้วย) รักษาอุณหภูมิ 70-75 องศาฯ นาน 3 ชั่วโมง

วันที่ 9 โรยเชื้อ (ชั้นละ 7 ก้อน อัตราส่วน 1.5 ตร.ม. / เชื้อเห็ด 1 ก้อน) ซื้อจาก จ.นครนายก ราคาก้อนละ 10 บาท แต่ถ้าเขี่ยเชื้อเห็ดเองได้จะเหลือต้นทุนก้อนละ 5 บาท)

วันที่ 10-13 เลี้ยงใย (รักษาอุณหภูมิ 30-34 องศาฯ)

วันที่ 14 ตัดใย (วิธีการคือ ใช้น้ำเปล่ารดให้ยุบลง และเปิดช่องระบายอากาศ)

ทิ้งไว้ถึงวันที่ 17-30 เก็บผลผลิต (รักษาอุณหภูมิ 28-32 องศาฯ) ซึ่งในระยะ 2 สัปดาห์ จะเก็บผลผลิตได้ 3- 4 ครั้ง โดยเก็บเสร็จแล้ว รดน้ำ และปล่อยไว้อีก 3-4 วัน จะได้ปริมาณเห็ดในจำนวนที่กล่าวไว้ข้างต้น

เทคนิคในการเก็บเห็ดนั้น บัญชาแนะนำว่า ควรจะ เก็บเห็ดฟางเมื่อเห็ดออกเป็นดอกตูม ๆ ซึ่งเห็ดลักษณะนี้ จะได้ราคาดี ส่วนถ้าเป็นเห็ดบาน ๆ ราคาจะไม่ดี ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ดอกเห็ดบานจนเกินไป

“เพาะเห็ดฟางขาย” ยังเป็นอาชีพด้านเกษตรที่น่าสนใจ แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดจึงแจกแจงได้ไม่ละเอียด อย่างไรก็ตาม หากสนใจเรื่องราวการเพาะเห็ดฟาง ติดต่อ บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดฯ หมู่ 3 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อขอไปเรียนรู้ได้ ที่โทร. 08-0622-8681.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=13037&categoryID=525

แนะนำอาชีพ ‘ทองพับแคลเซียม’

เพิ่มคุณค่า-เพิ่มจุดขาย

ขนมธรรมดา สามารถทำให้ไม่ธรรมดาได้ด้วยการนำคุณค่าทางอาหารมาเสริมเข้าไป ทำให้ขนมไทยกลายเป็นอาหารสุขภาพ กลายเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่สนใจมากขึ้น อย่างเช่น “ทองพับเสริมแคลเซียม”

ปลั่ง เสนาะคำ เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ทองพับเสริมแคลเซียม” ยี่ห้อ “คุณย่าปลื้ม” เล่าว่า เดิมเปิดร้านข้าวแกงและของชำ ต่อมาเข้าร่วมโครงการกับสถาบันวิจัยโภชนาการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารว่าง สุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็ได้เลือกทำทองพับเสริมแคลเซียม และกลายมาเป็นรายได้เสริมที่ดีทีเดียว

การทำทองพับเสริมแคลเซียมนั้น อุปกรณ์ที่ใช้มี อาทิ ชามผสม ที่ตีไข่ เกรียงแซะอาหาร กระชอนร่อนแป้ง ถ้วยตวง ช้อนตวง และเครื่องพิมพ์ปิ้งทองพับไฟฟ้า 2 หัว ส่วนวัตถุดิบ ได้แก่ แป้งสาลีอเนกประสงค์ 700 กรัม, น้ำตาลทราย 300 กรัม ต้มเป็นน้ำเชื่อมได้ 1 กก., เกลือไอโอดีน 10 กรัม, กะทิมะพร้าว 500 กรัม, นมถั่วเหลืองต้มไม่ใส่น้ำตาล 500 มล. (ใช้ทดแทนกะทิร้อยละ 50 เพื่อลดปริมาณไขมันอิ่มตัว), น้ำปูนใส 150 กรัม, ไข่ไก่ 6 ฟองเล็ก, งาดำคั่ว 50 กรัม, น้ำเปล่า 720 มล. และ ไตรแคลเซียมฟอสเฟต 15.6 กรัม (ผงแคลเซียม)

ปริมาณส่วนผสมข้างต้น เป็นแป้งที่เตรียมไว้ทั้งหมด 5 สูตร แต่แบ่ง 4 ส่วนใช้กับแต่ละรส รสละ 1 ส่วน ซึ่งเมื่อผสมออกมาแล้วจะได้ส่วนผสมแป้งที่เมื่อแบ่งออกเป็น 4 ส่วน จะได้ส่วนละประมาณ 760 กรัม

4 รสที่ว่าก็มี รสกล้วยหอม ใช้กล้วยหอมสุกงอม 300 กรัม ผสมแป้ง 1 ใน 4 ส่วน, รสเผือก ใช้เผือกต้มบดละเอียด 300 กรัม, รสฟักทอง ใช้ฟักทองต้มบดละเอียด 300 กรัม และ รสดั้งเดิม ไม่ต้องผสมอะไร

การใช้กล้วย, เผือก และฟักทอง เป็นการดัดแปลงให้เพิ่มคุณค่าสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ได้ด้วย

วิธีทำ เริ่มที่แช่ปูนที่กินกับหมาก 0.5 กก. กับน้ำสะอาดในปริมาณที่ให้ท่วมปูนอีก 4 เท่า คนให้ละลาย ตั้งทิ้งไว้ให้ใส ตักส่วนที่ใสไว้ใช้ นำแป้งสาลีมาร่อนด้วยตะแกรง 1 ครั้งก่อนนำไปผสมกับผงแคลเซียม คนให้เข้ากัน ไม่ต้องร่อน เพราะผงแคลเซียมจะติดตะแกรงง่าย นำน้ำตาลไปต้มกับน้ำ เคี่ยวเป็นน้ำเชื่อมให้ได้ 500 มล.

จากนั้นผสมแป้งกับกะทิ นมถั่วเหลือง น้ำเชื่อม น้ำปูนใส ใช้ที่ตีไข่กวนผสมให้เนียนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และตามด้วยไข่ไก่ ตอกรวมตีให้แตกก่อนนำไปใส่รวมในส่วนผสม ใส่ไข่ลงในส่วนผสม แล้วคนให้ส่วนผสมเข้ากันจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ตามด้วยการใส่เกลือป่น งาคั่ว ลงไปในส่วนผสม

สำหรับการเตรียมรส ไม่ว่าจะเป็นเผือก ฟักทอง กล้วยหอม แต่ละรสก็ผสมกับส่วนผสมแป้ง 1 ใน 4 ส่วน กวนผสมแป้งกับรสต่าง ๆ ให้เนียนจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

หรือถ้าจะทำเป็น รสผักหวาน ก็ล้างผักให้สะอาด หั่นฝอย นำไปอบไฟอ่อนประมาณ 45 นาที ให้น้ำหนักเหลือ 1 ใน 3 หรือจะทำเป็น รสใบมะรุม อันนี้ไม่ต้องหั่นฝอย รูดใบแล้วนำไปอบได้ ซึ่งการอบช่วยให้ใบผักแห้งสนิท นำไปใช้โรยหน้าทองพับขณะปิ้ง

ขั้นตอนการปิ้งทองพับ เริ่มที่เปิดเครื่องพิมพ์ทองพับไฟฟ้า ตั้งอุณหภูมิที่ 80 องศาเซลเซียส รอให้เครื่องร้อนก่อนใช้ โดยหมั่นคนส่วนผสมให้เข้ากันทุกครั้งก่อนที่จะตักแป้งหยอดใส่พิมพ์ เพื่อให้ได้ส่วนผสมสม่ำเสมอทุกแผ่น เพราะแป้งจะตกตะกอนนอนก้น ใช้น้ำมันพืชทาพิมพ์เล็กน้อย จากนั้นจึงค่อยตักแป้งหยอดลงบริเวณกลาง ๆ พิมพ์ ปิดพิมพ์เบา ๆ เพื่อไล่แป้งให้กระจายสม่ำเสมอทั่วพิมพ์ก่อน จึงค่อยออกแรงกดพิมพ์ให้แน่น จะได้แผ่นทองพับที่บาง ปิ้งไฟไว้จนแป้งขนมสุกและมีกลิ่นหอม จึงใช้เกรียงแซะขนมออกจากพิมพ์

การปิ้งขนมให้กรอบอร่อยให้สังเกตสีขนม ควรมีสีเหลืองออกน้ำตาลอ่อนเล็กน้อย เมื่อขนมสุกแล้ว ผึ่งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุถุงพลาสติกใส ปิดปากถุงด้วยเครื่องรีด เก็บในปี๊บขนม จะเก็บได้นานประมาณ 1 เดือน

สำหรับสูตรที่ระบุมาข้างต้น ถ้าทำ 4 รส จะได้ขนมรสละประมาณ 60 แผ่น น้ำหนักแผ่นละประมาณ 6 กรัม จะได้ขนมทั้งหมดประมาณ 240 ชิ้น ใส่ถุงจำหน่ายถุงละ 17 ชิ้น ขายราคาถุงละ 20 บาท ขายหมดจะได้ 280 บาท โดยมีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 70-80 บาท

ผลิตภัณฑ์ “ทองพับเสริมแคลเซียม” เจ้านี้ขายอยู่ที่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 3 ต.ดอนแฝก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โทร. 0-3423-9898 ส่วนสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีสูตรอาหารว่างสุขภาพอีกหลายชนิด ใครสนใจสอบถามไปที่ อ.อรพินท์ บรรจง โทร. 0-2800-2380 ต่อ 314 (ในวันและเวลาราชการ).


http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=17004

Thursday, August 27, 2009

แนะนำอาชีพ ผลไม้ย่างราดซอสคาราเมล

ผลไม้ย่างราดซอสคาราเมล


พูดถึงของย่าง อาจจะนึกถึงเนื้อย่าง หมูย่าง แต่มาดูสูตรแปลก ผลไม้ย่าง แถมราดซอสคาราเมล อีกด้วย

ผลไม้ย่างราดซอสคาราเมล Baked Fruits with Palm Sugar Sauce

ส่วนประกอบ :
กล้วยหอม (เลือกให้สุกก่อนพอดีทานคือให้มีสีเขียวปนบ้าง เวลาอบจะได้ไม่เละ) 2 ผล

สับปะรดลูกเล็ก หั่นเสี้ยวตามยาว 2 ชิ้น

แอ๊ปเปิ้ลเขียว แดง อย่างละ 1 ผล, น้ำตาลโตนด 100 กรัม
วิปปิ้งครีม 4 ออนซ์

ผงชินนามอน 1/2 ช้อนชา และเกลือทะเลเล็กน้อย

วิธีทำซอสคาราเมล :

นำน้ำตาลโตนด วิปปิ้งครีม ผงชินนามอน ใส่หม้อตั้งไฟให้ละลาย พอเดือดหรี่ไฟอ่อน ใส่เกลือทะเลเล็กน้อย ชิมรสพอเค็มปะแล่มๆ หมั่นคนและตั้งๆไฟอ่อนต่อไปจนนำเชื่อมข้น

หมายเหตุ : ถ้าผงชินนามอนจับเป็นก้อน ให้ใช้หลังช้อนช่วยบี้ หรือถ้ามีตะกร้อมืออันเล็กๆ คอยคนก็ยิ่งง่าย และเวลาใส่เกลือ ค่อยๆ ใส่ทีละปลายนิ้ว
ถ้าเค็มเกินไปจะเสียรสของขนมที่ควรจะหอม หวาน นุ่มนวล

ขั้นตอนอบ : นำกล้วยหอมผ่าครึ่งตามยาว สับปะรด แอ๊ปเปิ้ลเขียว แดงผ่าครึ่ง (ผลไม้ทั้งหมดไม่ต้องปอกเปลือก) วางบนแผ่นฟอยล์ นำเข้าเตาอบที่ความร้อน 180 องศาเซลเซียส (350 องศาฟาเรนไฮต์) ประมาณ 20 นาที จากนั้นอบต่ออีกประมาณ 10 นาที ระหว่างอบก็คอยตักซอสคาราเมลราดผลไม้เรื่อยๆ เสร็จแล้วจัดใส่จานพร้อมมีดและส้อมทานกับไอศกรีมวานิลลาก็ยิ่งอร่อยขึ้นไป อีก

สูตรอาหาร ธิดารัตน์ นุตาคม สไตล์ มัทนา สนิทวงศ์ ภาพ มานิตย์ เดชสุภา

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Livingetc ฉบับภาษาไทย

Monday, August 10, 2009

กระปุกออมสินไม้ไผ่จากเมือง3หมอก

กระปุกออมสินไม้ไผ่จากเมือง3หมอก

ไม้ ไผ่เป็นพืชที่พบได้ในพื้นที่ทั่วๆ ไป และนับว่าเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องประดับ เครื่องใช้ต่างๆ
โดย ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีต้นไผ่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป และมีเป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่จึงนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ รวมถึงทำเป็นของฝากและของที่ระลึกต่างๆ มากมาย

เมื่อเทียบกับสังคมเมืองที่มีแต่การใช้โลหะ พลาสติก และวัสดุต่างๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นมาแล้ว ในกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับตรงกันข้าม นั่นคือพยายามนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ ในส่วนของประปุกออมสินนั้นในเมืองก็นิยมทำมาจากโลหะ หรือปูนปาสเตอร์ แต่ในสังคมที่อยู่กับธรรมชาติแล้ว สามารถที่จะประยุกต์หรือสรรหามาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทำมาจากดิน กะลามะพร้าว หรือกระบอกไม้ไผ่

ในส่วนของการทำกระปุกออมสินจากไม่ไผ่นั้น จริงๆ แล้วเป็นผลพลอยได้จากการตัดไม้ไผ่ ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ไผ่นำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ตัดมาทำบ้านเรือน เครื่องจักสาน หรือเครื่องประดับ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีไม้ไผ่บางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เหลืออยู่บ้าง ซึ่งก็เพียงแค่การหาไม้ไผ่ที่มีขนาดพอเหมาะ ตามความต้องการของแต่ละคน อาจจะขนาดเล็กบ้าง ขนาดใหญ่บ้างตามชอบ เมื่อได้มาก็ตัดหัวตัดท้ายให้เหลือเพียงแค่ปล้องเดียว แล้วก็เจาะรูที่ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้สามารถใส่เหรียญหรือใส่แบงค์ลงไปได้

ปัจจุบันนี้เมื่อเดินทางไปในส่วนต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจจะได้พบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ขายโดยทั่วไป อาจจะมีการตกแต่งบ้าง หรืออาจจะคงสภาพแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ตกแต่งเลย ราคาก็ 10 - 30 บาท ตามแต่ละขนาด จากสิ่งที่หลายๆ คนมองว่าไม่มีค่าก็อาจจะมีค่าขึ้นมาได้

สิ่งของที่อยู่รอบตัวเรา หากเรามองว่าไม่มีค่า สิ่งนั้นก็จะไม่มีค่าอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่หากเรามองให้มีค่า สิ่งนั้นก็จะมีค่าขึ้นมาทันที แม้ขยะยังมีค่าสำหรับคนหลายๆ คน แม้มูลหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ก็ยังมีค่า เพราะฉะนั้นลองมองรอบๆ ตัวดู ว่าอะไรบ้างที่เรามองว่าไม่มีค่าแล้วอยู่กับเรา สิ่งนั้นอาจจะมีค่าสำหรับผู้อื่นก็ได้ จงใช้ หรือจงให้ เพื่อสิ่งเหล่านั้นจะได้ไม่ไร้ค่าอีกต่อไป

นอกจากนี้ทุกสิ่งล้วนมีคุณค่า แล้วคุณล่ะ มีคุณค่าหรือไม่

ที่มา : วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

Monday, August 3, 2009

หนังปลาทอด

ขาย ‘หนังปลาทอด’ เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ทำไม่ยาก สามารถทำขายได้ในทุกพื้นที่ทั่วไป วันนี้ทางทีมงานคอลัมน์ช่องทางทำกินก็มีข้อมูลการทำอาชีพนี้มาให้ลองพิจารณา กัน...

อาระยา พงษ์ประดิษฐ์ หรือ “แม่เปี๊ยก” แม่ค้าหนังปลาทอดเจ้าเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ขายอยู่แถวด้านข้างวัดมงคลบพิตร ฝีมือเป็นที่ติดอกติดใจลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งขาประจำและลูกค้าขาจร โดยแม่เปี๊ยกเล่าให้ฟังว่า ก่อนเคยทำอาชีพทอดปลาแดดเดียวขายมาก่อน แต่ภายหลังเลิกขายเพราะประสบกับปัญหาเรื่องสินค้าเก็บไว้ได้ไม่นาน และปลาก็ราคาแพงขึ้น

“เปลี่ยนมาทำอาชีพทอดหนังปลาขาย ก็เพราะเห็นร้านอาหารทั่วไปส่วนมากมักจะสั่งแม้ค้าปลาให้แล่
หนังทิ้ง ก็นึกเสียดาย จึงคิดนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าด้วยการทอดกรอบ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีเยี่ยม จากนั้นก็พัฒนารูปแบบและรสชาติให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกอย่างลงตัว มีหนังปลาหลายสายพันธ์ให้ลูกค้าเลือกตามความชอบ เช่น ปลาสลิด ปลากราย ปลายี่สก ปรากรด เป็นต้น”

กว่า 3 ปีแล้วที่แม่เปี๊ยกยึดการทอดหนังปลาขายเป็นอาชีพ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ค่อยดี นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีเข้ามาที่วัดที่ขายอยู่ ก็ใช้วิธีออกตะเวนขายตามตลาดนัดและตามงานต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งก็ขายได้ขายดี ด้วยจุดเด่นคือรสชาติกลมกล่อม อร่อยกำลังดี น้ำจิ้มรสเด็ด ที่สำคัญไร้สารกันบูด

สำหรับอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำอาชีพขายหนังปลาทอด ก็มี เตาแก๊ส, กระทะ, กระด้งสำหรับรองของทอด, ตะแกรงไม้ไผ่สำหรับตากหนังปลา, ตะหลิว, กะละมังใบโต ๆ, กระดาษซับน้ำมัน และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบฉวยได้จากในครัวเรือน

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำ... ตัวหลักคือหนังปลาต่าง ๆ เช่น หนังปลากะพงขาว, หนังปลานิล, หนังปลายี่สก, หนังปลากราย, หนังปลากลด ส่วนอย่างอื่นก็มี พริกไทยดำป่น, เกลือป่น, ผงปรุงรส, น้ำมันพืช

ขั้นตอนการทำ “หนังปลาทอด” ขั้นตอนแรกเริ่มจากนำหนังปลามาทำการขูดเกล็ดและเนื้อปลาที่ติดมากับหนังปลา ออกให้หมด เสร็จแล้วนำไปล้างด้วยน้ำซาวข้าวที่ค้างคืน 1 คืน นำมาใช้แช่หนังปลาประมาณ 5 นาที เพื่อให้หมดกลิ่นคาว แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด 3 ครั้ง เมื่อดูว่าสะอาดดีแล้วก็นำหนังปลาที่ล้างไปผึ่งให้สะเด็ดน้ำพอหมาด ๆ ก่อนนำไปตากแดดประมาณ 1 วัน (ถ้าแดดจัด ๆ ตากประมาณ 3–4 ชั่วโมงก็ใช้ได้) แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรส ซึ่งประกอบไปด้วย พริกไทยดำป่น เกลือ และผงปรุงรส คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เพื่อให้หนังปลาและเครื่องปรุงรสเข้ากันดี

เสร็จแล้วก็นำหนังปลาที่แห้งดีแล้วไปทอดผ่านน้ำมัน 2 ครั้งจึงจะพร้อมรับประทาน โดยครั้งแรกเป็นการนำหนังปลาไปทอด เพื่อให้หนังปลาหดตัวหรือเซ็ตตัว นำหนังปลาที่สะเด็ดน้ำมันแล้วเก็บใส่ถุงเพื่อเตรียมไว้ขาย สาเหตุที่ต้องทอดก่อนหนึ่งครั้งเพื่อให้หนังปลาเก็บไว้ได้นานขึ้น พอตอนออกร้านขายก็ค่อยทอดอีกครั้ง

การทอดเพื่อขายนั้นต้องทอดในน้ำมันที่ร้อนจัด และใช้น้ำมันปริมาณมาก เพื่อให้หนังปลาพองตัว ใช้เวลาทอดประมาณ 10-15 วินาที สังเกตดูสีสันให้สวยงามน่ารับประทาน ซึ่งการทอดในขั้นตอนนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ อย่าให้เป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำ เพราะจะทำให้หนังปลามีรสขม หนังปลาที่ทอดได้ที่แล้วก็นำขึ้นพักไว้ประมาณ 30 นาทีให้สะเด็ดน้ำมัน ก่อนแพ็คใส่ถุงขายให้กับลูกค้า

ในส่วนของ “น้ำจิ้ม” การทำนั้นก่อนอื่นก็ใส่น้ำสะอาดในหม้อยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดก็ใส่น้ำตาลทรายพอประมาณ เคี่ยวประมาณ 10 นาที ใส่น้ำมะขามเปียก เกลือ และพริกป่น ตามลงไปในสัดส่วนที่เหมาะสมกับน้ำและน้ำตาล เคี่ยวต่อให้พองวด ยกลงตั้งไว้ให้หายร้อน ก็จะได้น้ำจิ้มรสเด็ดสำหรับหนังปลาทอด

ราคาขายหนังปลาทอดของแม่เปี๊ยกนั้น จะใส่ถุงหลายขนาด-หลายราคา คือถุงละ 100, 50, 35 และ 20 บาท โดยถุงละ 35 บาทนั้นถ้าลูกค้าซื้อ 3 ถุงจะคิดแค่ 100 บาท ส่วนถุงละ 20 บาทถ้า 3 ถุงก็คิดแค่ 50 บาท ซึ่งต้นทุนการทำนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาขาย


ใครสนใจอาชีพขาย “หนังปลาทอด” ก็ลองนำข้อมูลที่ว่ามาไปฝึกฝนฝีมือกันดู ซึ่งอาจจะขายส่งตามร้านก๋วยเตี๋ยว-ร้านขนมจีนได้ด้วย หรือถ้าสนใจจะใช้วิธีสั่งหนังปลาทอดแม่เปี๊ยกไปขายต่อ ก็ติดต่อสอบถามไปที่ โทร.08-6987-8006 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่อาจใช้ “สู้ภัยเศรษฐกิจ” ได้ ไม่ควรมองข้าม !!


เชาวลี ชุมขำ :รายงาน


คู่มือลงทุน...หนังปลาทอด
ทุนเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับขนาด-รูปแบบร้าน
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 70 % ของราคา
รายได้ ราคาขายถุงละ 20-100 บาท
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ตลาดนัด, แหล่งท่องเที่ยว
จุดน่าสนใจ ทำไม่ยาก, ซื้อง่าย-ขายคล่อง

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=4476

ทับทิมกรอบรวมมิตร

“ทับทิมกรอบ” ขนมหวานไทย ๆ ที่มีรสชาติหอมหวานเป็นที่ถูกใจใคร ๆ หลายคน เป็นขนมที่ทำไม่ยาก ทำขายหารายได้เข้ากระเป๋าได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น อย่างรายที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาบอกต่อ...

ยุก-เกศิณี ทรัพย์สุรกุล เจ้าของสูตร “ทับทิมกรอบรวมมิตร” เล่าว่า จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เริ่มจากการเป็นแม่ค้าขายขนมหวานมาตั้งแต่ต้น หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านบริหารจัดการก็เข้าทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ ประมาณ 4-5 ปี ตอนหลังเริ่มเกิดความรู้สึกเบื่อในระบบงาน มีความคิดอยากจะทำธุรกิจส่วนตัวมากกว่า จึงออกจากงานและเริ่มมองหาหนทางทำธุรกิจ ซึ่งด้วยความที่เป็นคนชอบทานขนมทับทิมกรอบ และพอจะมีความรู้พื้นฐานในการทำอยู่บ้าง จึงมีความคิดที่จะลองทำทับทิมกรอบขาย

เริ่มจากทดลองทำเพื่อหาสูตรที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง และเพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกใจ ทดลองทำแล้วก็ให้คนในครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียงทดลองชิม หลายคนให้การตอบรับ จึงได้ตัดสินใจเปิดกิจการขึ้น โดยใช้ชื่อในการดำเนินกิจการว่า “WARASINEE” ทับทิมกรอบรวมมิตร และสาคูนมสดแคนตาลูป

“ทับทิมกรอบรวมมิตรจะต้องมีรสชาติที่หอมหวานชื่นใจของน้ำกะทิ และต้องใส่ใจคุณภาพของวัตถุดิบอย่างมาก วัตถุดิบที่ใช้ทำจะต้องเน้นความสดใหม่ ที่สำคัญขนมที่ทำจะต้องไม่ใส่สารกันเสีย” เจ้าของสูตรกล่าว

สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการทำทับทิมกรอบรวมมิตร หลัก ๆ ประกอบด้วย เนื้อแห้วหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า, แป้งมัน, น้ำหวานสีแดง, กะทิสด, น้ำตาล, เกลือ, ดอกมะลิ และน้ำเชื่อม เป็นต้น

การเลือกสรรวัตถุดิบนั้น เกศิณีบอกว่า “แห้วที่ใช้ทำทับทิมกรอมนั้นจะต้องสั่งที่เป็นผลใหญ่ ๆ เพราะเวลาทำจะทำให้ตัวขนมนั้นกรอบอร่อย”

ในส่วนของอุปกรณ์การทำนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวเรือนทั่วไปอยู่แล้ว

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำแห้วมาปลอกเปลือกแล้วทำการหั่นให้เป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า จากนั้นนำไปแช่ในน้ำหวานสีแดง โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สีแดงของน้ำหวานติดเข้าไปในเนื้อแห้ว เมื่อได้แห้วเป็นสีแล้วก็นำไปคลุกเคล้ากับแป้งมัน กะดูว่าแป้งเกาะติดเนื้อแห้วจนทั่ว ก็ทำการร่อนแป้งออก แล้วทำซ้ำอีก 1 ครั้ง

ขั้นตอนต่อไปก็นำน้ำใส่หม้อยกขึ้นตั้งไฟให้น้ำเดือด จากนั้นก็นำแห้วที่คลุกแป้งเตรียมไว้ใส่ลงไปต้มในน้ำเดือด ใช้เวลาต้มประมาณ 3 นาที ดูจนแป้งที่เคลือบแห้วนั้นใสและแห้วลอยขึ้นมา ก็ใช้ได้

ไม่ควรต้มแห้วนานเกินไป เพราะจะทำให้แป้งที่เคลือบแห้วไว้หลุดออกมา ทำให้ไม่สวยงาม

เมื่อต้มจนตัวทับทิมกรอบสุกได้ที่ลอยขึ้นมา ก็ใช้กระชอนตักขึ้นมาใส่ลงไปในน้ำเย็นสักพักเพื่อให้แป้งอยู่ตัว จากนั้นให้ตักขึ้นมาแช่ลงในน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้อีกที เป็นอันเสร็จการทำ “ตัวทับทิมกรอบ”

ส่วนการทำ “น้ำกะทิ” เริ่มจากนำเอาหัวกะทิสดไปตั้งไฟ จากนั้นใส่น้ำตาลและเกลือ ถ้าใช้หัวกะทิ 1 กิโลกรัม ก็ใช้น้ำตาล 1 กิโลกรัม เกลือ 1 ช้อนชา ทำการเคี่ยวให้เดือด ส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ยกลง แล้วนำดอกมะลิสดใส่ในชามที่มีหู นำลงเกี่ยวกับขอบหม้อน้ำกะทิ จากนั้นปิดฝาหม้ออบน้ำกะทิกับดอกมะลิทิ้งไว้ 1 คืน ก็จะได้น้ำกะทิที่มีกลิ่นหอมชื่นใจ และเข้ากับทับทิมกรอบอย่างลงตัว

เครื่องต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมไว้ใส่กับทับทิมกรอบ ทำเป็น “ทับทิมกรอบรวมมิตร” นั้น ก็มีอาทิ สลิ่ม แห้วเชื่อม เนื้อมะพร้าวกะทิสด
เกศิณีบอกว่า อาชีพนี้ถ้าทำเล็ก ๆ ลงทุนครั้งแรกใช้ทุนประมาณ 5,000 บาทก็น่าจะพอ ส่วนทุนวัตถุดิบและรายได้นั้น ถ้าใช้ทุนค่าของประมาณ 1,000 บาท จะทำได้ประมาณ 120 ถ้วย ขายหมดจะได้ประมาณ 2,400 บาท โดยขายราคาถ้วยละ 20 บาท ถ้าเป็นแบบพิเศษเพิ่มเครื่องก็ 30 บาท


ร้าน “ทับทิมกรอบรวมมิตร” และสาคูนมสดแคนตาลูปของเกศิณี อยู่ที่ตลาดลุงเพิ่ม หลังการบินไทยสำนักงานใหญ่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ขายตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. ทุกวันจันทร์-วันเสาร์ ใครต้องการรับไปจำหน่ายต่อก็ได้ ติดต่อสอบถาม โทร.08-1869-9541


บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ :รายงาน


คู่มือลงทุน...ทับทิมกรอบรวมมิตร
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 1,000 บาท / 120 ถ้วย
รายได้ ประมาณ 2,400 บาท / 120 ถ้วย
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร, ตลาดนัด, ชุมชน
จุดน่าสนใจ ลงทุนต่ำ ทำไม่ยาก รายได้ดี

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=5443

น้ำเต้าหู้ใบเตย

“น้ำเต้าหู้” เครื่องดื่ม-อาหารทานเล่นพื้น ๆ ที่กลายเป็นอาหารสุขภาพ ยุคนี้ก็ยังขายได้ และบางคนสามารถพัฒนาจนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างดี อย่างรายที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาบอกต่อวันนี้...

ณัฐปภัทร์ อาขุบุตร หรือ เจี๊ยบ เจ้าของสูตร “น้ำเต้าหู้ใบเตย” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานบริษัท แต่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงต้องการหารายได้เพิ่ม ก็คิดที่จะขายน้ำเต้าหู้ในละแวกที่ทำงาน เพราะเห็นว่ามีหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ ที่มีคนทำงานมากพอสมควร รวมทั้งชาวบ้านแถวนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งนิยมบริโภคน้ำเต้าหู้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่เพื่อไม่ให้ซ้ำกับน้ำเต้าหู้แบบที่มีการทำขายกันทั่วไป จึงหาวิธีดัดแปลงเพื่อให้เกิดความแตกต่างขึ้น ก็มาสะดุดกับใบเตย คิดว่าถ้าใส่ใบเตยในน้ำเต้าหู้จะช่วยให้น้ำเต้าหู้กลิ่นหอม และมีสีเขียวแบบธรรมชาติ แล้วก็กลายเป็นจุดขายที่ดี กลายเป็น “น้ำเต้าหู้ใบเตย”

การทำน้ำเต้าหู้ใบเตย เจี๊ยบบอกว่า จะมีขั้นตอนการผลิตที่มากกว่าน้ำเต้าหู้ธรรมดา เพราะต้องเตรียมน้ำใบเตย ก่อนจะนำมาคั้นน้ำต้องล้างให้สะอาด นำมาปั่นและกรอง วิธีทำยุ่งยากกว่า แต่ก็คุ้มกับกลิ่นหอม น่ารับประทาน เมื่อทำน้ำเต้าหู้ใบเตยมาขายแรก ๆ ลูกค้าก็แปลกใจว่าทำไมน้ำเต้าหู้มีสีเขียวอ่อน ๆ และหอมมาก

นอกจากความหอม น่ารับประทาน ยังเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำเต้าหู้เพราะไม่ชอบกลิ่นถั่วเหลือง แม้จะรู้ว่าถั่วเหลืองมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ไม่สามารถดื่มได้ ซึ่งเมื่อใส่ใบเตยก็สามารถดื่มได้ เนื่องจากกลิ่นหอมของใบเตยจะช่วยดับกลิ่นถั่วเหลืองที่ผู้บริโภคไม่ชอบ นี่ก็ถือว่าเป็นจุดขายของทางร้านด้วย

เช่นเดียวกับเครื่องสำหรับใส่ในน้ำเต้าหู้ คือ สาคู วุ้น ลูกเดือย ฟักทอง เม็ดแมงลัก ซึ่งสาคูกับวุ้นเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเด็ก ๆ ส่วนลูกเดือย ฟักทอง เม็ดแมงลัก ต่างก็มีประโยชน์ ซึ่งผู้รักสุขภาพก็นิยมกันมาก โดยเฉพาะฟักทองของที่ร้านนั้นเป็นจุดเด่นเลยก็ว่าได้ ผู้บริโภคชอบมาก ซึ่งน้ำเต้าหู้ที่ทำขายทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ฟักทองแบบนี้ เนื่องจากกรรมวิธีการทำค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลากว่าเครื่องประเภทอื่นๆ

ในการทำน้ำเต้าหู้ใบเตยขาย อุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี... ถังต้ม, หม้ออะลูมิเนียม (ขนาด-จำนวนขึ้นอยู่กับปริมาณการทำ ), ผ้าขาวบาง (สำหรับกรองกาก), กระบวยตัก, ตะหลิว หรือไม้พายสำหรับคน, ตะแกรงสำหรับกรอง, ที่ตวงน้ำสแตนเลส ขนาด 1 ลิตร, ภาชนะใส่เครื่องผสม และเตาแก๊ส ที่เหลือก็เป็นอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำ... ถ้าใช้ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม จะใช้น้ำสะอาด 9 ลิตร, น้ำใบเตย ? ลิตร, น้ำตาลทรายแดง 1/2 กิโลกรัม, เกลือนิดหน่อย, น้ำตาลทรายขาว (ไว้เติมตอนขาย กะให้พอกับการขายแต่ละวัน)

ขั้นตอนการทำ และเคล็ดลับความอร่อยของ “น้ำเต้าหู้ใบเตย” ทางเจ้าของร้านบอกว่า อยู่ที่ขั้นตอนการทำ โดยเริ่มจากนำเมล็ดถั่วเหลืองไปแช่น้ำสะอาด 3 ชั่วโมง แล้วคัดถั่วเมล็ดเสียออก ให้สังเกตดูจากสีถั่ว ที่เสียจะมีเมล็ดสีน้ำตาลและนิ่ม เสร็จแล้วนำถั่วเหลืองเมล็ดดีไปล้างน้ำให้สะอาด 3-4 ครั้ง

เจี๊ยบเผยเคล็ดไม่ลับว่า ไม่ควรแช่ถั่วเหลืองเกิน 3 ชั่วโมง เพราะถ้าแช่เกินจากนี้จะทำให้เมล็ดถั่วคืนตัว เวลานำไปบดจะทำให้น้ำเต้าหู้เสียรูป และมีกากปน รสชาติจะไม่อร่อย

เอาถั่วที่ล้างสะอาดแล้วไปบดในเครื่องบด หรือเครื่องโม่ ซึ่งในการบดนั้นต้องเปิดน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา แล้วนำน้ำถั่วเหลืองที่ได้ไปกรองด้วยผ้าขาวบาง 3 ครั้ง จากนั้นก็นำไปต้มโดยใช้ไฟแรง พอเริ่มเดือดใส่น้ำใบเตยลงไป เมื่อน้ำถั่วเหลืองเดือด เคี่ยวต่อไป โดยลดมาใช้ไฟปานกลาง ระหว่างนั้นให้คนไปเรื่อย ๆ อีก 5 นาที จึงค่อยยกลงจากเตา เติมเกลือป่นครึ่งช้อนชา และน้ำตาล ชิมรสตามชอบ

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ วุ้นสี, แมงลัก, ลูกเดือย, ฟักทอง และสาคู โดยวุ้นสีนั้น เจี๊ยบเลือกทำเองมากกว่าไปซื้อสำเร็จรูปตามท้องตลาด วิธีทำก็ไม่ยุ่งยาก นำน้ำตั้งบนเตาไฟ นำผงวุ้น 25 กรัมละลายในน้ำ 4 ลิตร ใส่น้ำหวานนิดหน่อยเพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงามน่ารับประทาน เทน้ำที่ต้มเดือดแล้วลงในถาดสแตนเลส ใส่วุ้นที่เตรียมไว้ตามลงไป ใช้ช้อนคนให้ทั่วถาด รอให้เย็น วุ้นจะแข็งเป็นก้อน ใช้มีดตัดตามขนาดที่ต้องการ

เคล็ดลับความอร่อยของ “น้ำเต้าหู้ใบเตย” เจ้านี้ อยู่ที่ใช้ของสดใหม่ สะอาด ทำขายวันต่อวัน ไม่ค้าง แต่น้ำเต้าหู้ที่ขายนั้นลูกค้าซื้อไปแล้วก็สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน ประมาณ 1 สัปดาห์

เจี๊ยบบอกว่า อาชีพนี้สำหรับต้นทุนครั้งแรกลงทุนอุปกรณ์ประมาณ 30,000 บาท เป็นค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนในการขาย ราคาขายอยู่ที่ถุงละ 7 บาท ใส่เครื่องถุงละ 10 บาท โดยมีต้นทุนวัตถุประมาณ 60% ของราคา

ร้าน “น้ำเต้าหู้ใบเตย” ของเจี๊ยบอยู่ในกรุงเทพฯ ขายอยู่ที่หน้าธนาคารนครหลวง สวนมะลิ โดยเริ่มขายตั้ง 06.00 – 09.00 น. จันทร์ – ศุกร์ (หยุดเสาร์-อาทิตย์) อยากลองชิมแต่หาร้านไม่เจอก็สอบถามได้ที่ โทร.08-5979-0527 ส่วนใครจะลองนำสูตรไปฝึกทำขายบ้างก็อย่ารอช้า อาชีพนี้หากมีทำเลเหมาะสมยังไปได้สวย

คู่มือลงทุน...น้ำเต้าหู้ใบเตย

ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคา
รายได้ ราคาถุงละ 7 และ 10 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร ออฟฟิศ ชุมชน
จุดน่าสนใจ ปัจจุบันมีคนนิยมทานทั่วไป

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=6473

ปาท่องโก๋

“ปาท่องโก๋” ปัจจุบันมีขายไม่เฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น แต่มีการทำขายให้ลูกค้าซื้อทานได้ทุกเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น หรือแม้กระทั่งดึกดื่นมืดค่ำ และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็จะเสนอข้อมูลอาชีพขาย “ปาท่องโก๋เกลียวปักษ์ใต้” ที่ทานกับ “สังขยา” ซึ่งก็ขายได้ทุกช่วงเวลา และขายที่ไหนก็ได้ไม่เฉพาะปักษ์ใต้

อ้อยอัจฉรา แซ่ตั้ง หรือ คุณแอน และ บงกช พาระสิงห์ หรือ คุณกอล์ฟ เป็นเจ้าของร้าน “นายกอล์ฟปาท่องโก๋เกลียวปักษ์ใต้” ขายมาประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว โดยเริ่มจากทำกันเล็ก ๆ แล้วขยับขยายขึ้นเรื่อย ๆ โดยสูตรนั้นเป็นของครอบครัวของคุณกอล์ฟ เป็นสูตรต้นตำรับจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำกันมานับสิบๆ ปี นำมาดัดแปลงจากปาท่องโก๋เกลียวที่ตัวเล็ก ๆ โดยทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เน้นที่กรอบนอก นุ่มใน ไม่อมน้ำมัน

สำหรับสูตรการทำ “ปาท่องโก๋เกลียว” คุณกอล์ฟแจกแจงว่า การทำปาท่องโก๋ประมาณ 70 ตัว จะใช้แป้งสาลี 5 กก., ผงฟู 2 ช้อนชา, เกลือ 15 ช้อนชา, น้ำตาลทราย 200 กรัม, น้ำเปล่า 4 ลิตร, น้ำมันพืช 500 กรัม

วิธีทำแป้งปาท่องโก๋ ละลายน้ำเปล่า ผงฟู น้ำตาลทราย เกลือ ให้เข้ากัน จากนั้นเทแป้งสาลี และน้ำมันพืชลงนวดรวมกัน ซึ่งใช้มือนวด ใช้เวลานวดประมาณ 15 นาที อย่านวดนานกว่านี้ เพราะแป้งจะเหนียวเกินไป

ส่วนถ้าจะทำเป็น “ซาลาเปาทอด” ซึ่งร้านนี้ก็ทำขายด้วย สูตรแป้งซาลาเปานั้นก็ใช้สูตรเดียวกับแป้งปาท่องโก๋ แต่สัดส่วนน้ำตาลทรายเพิ่มเป็น 800 กรัม ส่วนวิธีการทำจะคล้าย ๆ กับแป้งปาท่องโก๋เกลียว

การปั้นแป้งปาท่องโก๋เกลียว หรือแป้งซาลาเปา แบ่งแป้งก้อนละประมาณ 70-72 กรัม โดยปาท่องโก๋เกลียวจะปั้นให้แป้งเป็นแบบยาว ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขณะที่แป้งซาลาเปาจะเป็นแบบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์ 10 เซนติเมตร เมื่อปั้นเสร็จก็นำลงทอดในกระทะซึ่งตั้งน้ำมันพืชให้ร้อนไว้ ซึ่งใช้เวลาทอดราว 10 นาที

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทอดปาท่องโก๋เกลียว หรือซาลาเปา ต้องทอดสอบเสียก่อนว่าน้ำมันร้อนใช้ได้หรือยัง โดยเจียดแป้งเล็กน้อยลงทอด หากทอดไปชั่วครู่แล้วดูว่าแป้งออกสีแดง ๆ ก็เป็นอันใช้ได้

คุณแอน และคุณกอล์ฟ ร่วมกันบอกว่า ในการขาย จะต้องกะปริมาณการขายปาท่องโก๋หรือซาลาเปาในแต่ละวันให้ดี ต้องกะแป้งของทั้งสองประเภทให้เหมาะสม เพราะแป้งสดนั้นจะมีอายุเพียงแค่ 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น ค้างคืนไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่สารกันบูด และต้องค่อย ๆ ทยอยทอด ไม่ทอดคราวละปริมาณมาก ๆ

ต่อไปเป็นสูตร “สังขยาใบเตยสด” ซึ่งขายคู่กับปาท่องโก๋เกลียวหรือซาลาเปา ใช้สูตรกะทิสด 5 กก., ไข่แดง (ไข่ไก่) 30 ฟอง, น้ำตาลปี๊บ 1 กก., แป้งข้าวโพด 300 กรัม, นมสด 1 กระป๋อง, เกลือ 20 ช้อนชา, น้ำใบเตยคั้น 1 ลิตร วิธีทำก็นำกะทิสดตั้งไฟ จากนั้นใส่ส่วนผสมต่าง ๆ ลงไป แต่ไข่แดงไข่ไก่นั้นจะต้องตีให้เข้ากันเสียก่อนที่จะใส่ลงไป ขณะที่น้ำใบเตยให้เทใส่เป็นขั้นตอนสุดท้าย และใช้เวลากวนอุ่นสังขยาประมาณ 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมี “สังขยาชานมเย็น” วิธีทำคือชงน้ำชาดำเย็น 1 ลิตร กับนมข้น 1 กระป๋องให้เข้ากัน แทนการใช้น้ำใบเตยสด ส่วนสัดส่วนวัตถุดิบอื่น และวิธีทำของสังขยาชานมเย็น ก็จะเหมือนสังขยาใบเตยสดหมดทุกอย่าง เพียงแต่ต้องลดน้ำตาลปี๊บลงเหลือ 800 กรัม เพราะได้ความหวานจากนมข้นส่วนหนึ่งแล้ว

การขายให้ลูกค้านั้น เมื่อลูกค้าสั่งปาท่องโก๋เกลียว หรือซาลาเปา ก็ให้ตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ ขนาดพอคำใส่กล่อง ส่วนสังขยานั้นก็ตักแบ่งใส่กล่องพลาสติกกล่องละ 50 กรัม ขายในราคาชุดละ 30 บาท

จากสัดส่วนแป้ง 5 กก. ซึ่งทำได้ราว 70 ชุด ขายชุดละ 30 บาท ก็จะได้ 2,100 บาท โดยต้นทุนที่รวมทุนสังขยาด้วย จะตกประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป หรือเบ็ดเสร็จแล้วจะมีกำไร 500-600 บาท ต่อ 70 ชุด

ใครสนใจอาชีพนี้ ใครสนใจสินค้าของคุณแอนและคุณกอล์ฟ ระหว่างวันที่ 16-21 ก.ค. 2552 นี้ ไปดู ไปชิม ได้ที่ชั้นจี ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางแค และทั้งคู่ยังรับออกร้านนอกสถานที่ด้วย โดยติดต่อได้ที่ โทร.08-1062-0741 และ 08-1433-5166 ทั้งนี้ นี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่ทำเงินได้หลายแบบ และได้ทั่วไป

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน


คู่มือลงทุน...ปาท่องโก๋เกลียว-สังขยา
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 70% ของราคาขาย
รายได้ ราคาขายชุดละ 30 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร, ชุมชน, งานออกร้าน
จุดน่าสนใจ ทำขายได้ทั่วไป-ขายได้ตลอดวัน

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=7614

ยาโมโนซาชิ

เทคนิคการย้อมผ้า “ยาโมโนซาชิ” เป็นการย้อมผ้าที่ไม่ต้องใช้น้ำ และไม่ต้องใช้ความร้อนจากเตาไฟ โดยใช้สีสำเร็จจากกระดาษคาร์บอน และใช้ความร้อนจากเตารีด โดยที่สีนั้นจะทนทาน ไม่หลุด ซึ่งเจ้าหน้าที่จากวอยซ์ ฮอบบี้ คลับ แจกแจงว่า คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก ไม่อยากให้มีน้ำเสีย จึงใช้เทคนิคย้อมผ้าแบบนี้ และเทคนิคนี้ยังประหยัดเวลาและพลังงาน

เทคนิคนี้เริ่มต้นที่การเตรียมผ้า ซึ่งย้ำว่าจะต้องเป็น ผ้าโพลีเอสเตอร์ 100% ซึ่งจะดูดซับสีได้ดีที่สุด หรืออาจจะเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ปนกับผ้าฝ้าย (คอตตอน) ก็ได้ แต่จะต้องเป็นสัดส่วนผ้าโพลีเอสเตอร์อย่างน้อย 70% หากมีสัดส่วนของเนื้อผ้าฝ้ายมากสีที่ย้อมออกมาอาจจะหม่น โดยราคาของผ้าโพลีเอสเตอร์นั้นที่ญี่ปุ่นจะค่อนข้างแพงมาก แต่ถ้าเป็นโพลีเอสเตอร์ในไทยราคาอย่างต่ำเมตรละ 30 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่ไม่แพงนัก

สำหรับ กระดาษย้อมผ้า มี 2 ขนาดคือ ขนาดกระดาษ A5 และขนาด B4 ซึ่งมี 2 แบบ คือ สีพื้น ซึ่ง 1 ชุดจะมี 5 สี 5 แผ่น ต้นทุนส่วนนี้อยู่ที่ 285 บาท และนอกจากนี้ ยังมีกระดาษย้อมผ้าแบบที่เป็นลวดลาย

อุปกรณ์ชิ้นต่อมาคือ ตัวเจาะกระดาษ ให้เป็นลายต่าง ๆ อาทิ ดาว ดอกไม้ ปลา หัวใจ ฯลฯ ซึ่งราคาตัวเจาะนี้อยู่ที่ชิ้นละ 100 กว่าบาท หรืออาจจะวาดเองก็ได้ วาดใส่กระดาษย้อมผ้าแล้วนำมาตัด หรืออีกเทคนิคคือ การใช้ใบไม้ อาทิ ใบเมเปิลสด นำมารีดให้แห้ง ให้ละอองน้ำออกไป แล้วนำมาใช้ในลักษณะเป็นตัวกั้นสี

นอกจากนี้ ยังมีลายที่เป็นที่นิยมคือการฉีกกระดาษเอง เป็นรูปดอกไม้ลักษณะ 5 แฉก หรือเป็นรูปดอกไม้แบบกลม ๆ ก็ได้ ถ้าเป็นลายการ์ตูนก็ยากขึ้นหน่อย ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน

วิธีทำนั้น เมื่อเตรียมผ้าแล้ว เช่นจะทำเป็นผ้าเช็ดหน้า ใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ขนาด 30 x 30 เซนติเมตร รีดผ้าให้เรียบก่อน ซึ่งจะต้องรองรีดหลายชั้นหน่อย ตั้งแต่ไม้กระดาน ผ้ารองรีด (ผ้าสักหลาดสีแดง) และหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนังสือพิมพ์ต้องใช้แบบที่หมึกพิมพ์ไม่เลอะเทอะ หรืออาจจะใช้กระดาษอื่นแทนก็ได้

เมื่อรีดผ้าเสร็จแล้วก็วางผ้าลง จัดเรียงลวดลายจากกระดาษย้อมผ้าบนผืนผ้าให้เรียบร้อย ซึ่งการออกแบบลวดลายนั้นก็สุดแท้แต่ความต้องการหรือจินตนาการของแต่ละคน แต่จะต้องวางด้านที่มีสีลงบนผ้า จากนั้นวางกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษขาวธรรมดาลงบนลวดลายอีกชั้น เมื่อเตารีดร้อนแล้วก็รีดทับลงไป ซึ่งระยะเวลาที่รีดนั้นจะใช้ประมาณ 40 วินาทีก็เสร็จเรียบร้อย แต่ถ้าต้องการให้สีติดมากกว่านี้ อาจจะเพิ่มเวลาลงไปอีกเล็กน้อยก็ได้ โดยสำหรับกระดาษย้อมผ้าดังกล่าวนี้จะใช้ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง และอย่างมาก 4 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการใช้สีแบบเดียวกัน แต่เป็นในลักษณะสีหลอด ผสมกับน้ำแล้ววาดด้วยพู่กัน เขียนภาพหรือตัวอักษรลงบนกระดาษเขียนพู่กันจีน จากนั้นนำไปรีดบนผ้า ก็จะได้ลายตามที่ต้องการ

เพิ่มเติมเทคนิคใบไม้ที่กล่าวไว้ข้างต้น ใบไม้สำหรับกั้นสีนั้นหมายความว่าเราจะต้องวางใบไม้ลงบนผ้าเสียก่อน จากนั้นวางกระดาษย้อมผ้าลงไป ทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้น เมื่อรีดออกมาแล้วก็จะได้ลายของใบไม้ โดยพื้นที่รูปใบไม้จะเป็นสีขาวเพราะไม่โดนสี จากนั้นพลิกใบไม้อีกด้านหนึ่งลงบนพื้นสีขาวตรงนั้น วางกระดาษทับอีก แล้วรีดลงไป ก็จะได้สีของเส้นใยใบไม้บนผืนผ้า

เทคนิคการย้อมผ้าแบบนี้หากฝึกทำจนเชี่ยวชาญแล้ว สามารถจะทำเป็นอาชีพได้ สามารถใช้กระดาษย้อมผ้านี้ได้กับรูปแบบของผ้าหลาย ๆ ประเภท อาทิ เสื้อ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋า ผ้ากันเปื้อน ฯลฯ ซึ่งราคาขายชิ้นงานนั้นก็ตั้งตามความเหมาะสม ซึ่งนี่เป็นงานฝีมือ ราคาจะค่อนข้างดี อีกทั้งทุนวัสดุอุปกรณ์ก็ไม่สูงมาก

ใครสนใจ “เทคนิคย้อมผ้ายาโมโนซาชิ” ต้องการติดต่อได้ที่สถาบันวอยซ์ ฮอบบี้ คลับ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 165 ชั้น 3 ซอยสุขุมวิท 49 (กลาง) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ โทร.0-2714-7251 (ติดต่อคุณไก่)

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน

คู่มือลงทุน...ย้อมผ้ายาโมโนซาชิ


ทุนอุปกรณ์ ไม่เกิน 1,000 บาท (ตามราคาเตารีด)
ทุนวัสดุ ประมาณ 285 บาท / กระดาษ 1 ชุด
รายได้ ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาขายชิ้นงาน
แรงงาน 1 คน
ตลาด ย่านช็อปปิ้ง, รับทำตามออเดอร์
จุดน่าสนใจ เทคนิคแบบญี่ปุ่นใช้เป็นจุดขายได้

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=10244

เลี้ยงผึ้งจิ๋ว

“ผึ้งจิ๋ว” เป็นผึ้งพื้นเมืองของไทย ไม่มีเหล็กใน สามารถเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่ง “น้ำผึ้ง” ของผึ้งจิ๋วกำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากน้ำผึ้งมีคุณภาพดี มีคุณค่าทางอาหารและมีสรรพคุณทางยาสูง และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมาให้พิจารณา...

วิสิทธิ์ ธนูอาจ เกษตรกรสวนผลไม้ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นคนจันทบุรี ต.วังแซม อ.มะขาม จ.จันทบุรี วัย 47 ปี เป็นผู้หนึ่งที่เพาะเลี้ยงผึ้งจิ๋ว โดยเขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำการเกษตรอย่างหลงทางไปมากเพราะมุ่งแต่พึ่งยาฆ่าแมลงจนมีหนี้ ท่วมตัว ต้องเลิกอาชีพเกษตรกรหันไปรับจ้างเป็นพนักงานขับรถ แต่แล้วก็เคราะห์ซ้ำเมื่อเกิดตาบอดไปข้างหนึ่งเพราะตัดหญ้าแล้วเศษไม้ กระเด็นเข้าตา จนต้องเลิกอาชีพขับรถ ไปเป็นลูกจ้างรายวัน ซึ่งรายได้ก็ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัวที่มีลูก 2 คน จนวันหนึ่งวันฟ้าใสก็บังเกิด เมื่อได้เข้าร่วมโครงการต้นกล้าอาชีพ รุ่นที่ 1 ได้พบกับ รศ.ดร.สำนึก บุญเกิด อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้สอนวิชาเลี้ยง “ผึ้งจิ๋ว” ผลิต “น้ำผึ้งอินทรีย์” ที่เรียกว่า “ชันโรง” ให้

ทำให้รู้ถึงวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องทุกกระบวนการ และสามารถนำมาต่อยอดให้ความรู้กับภรรยาและลูก ๆ จนยึดเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน จนทำให้สามารถขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำชันโรง ซึ่งเป็นผลิตผลส่วนต้นที่นำไปพัฒนาเป็นน้ำผึ้งชันโรง 100% เพื่อวางขาย ส่งขายให้อาจารย์มหาวิทยาลัย และทั่ว ๆ ไป รวมถึงการออกร้านเคลื่อนที่ในงานเทศกาล ต่าง ๆ โดยขายได้ในราคา 500 บาทต่อ 1 ขวดกลม

วิสิทธิ์บอกอีกว่า นอกจากนี้เขายังได้รับการเชิญจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ไปเป็นวิทยากรผู้ อบรมการเลี้ยงผึ้งจิ๋วแก่ต้นกล้าอาชีพรุ่นน้อง รวมถึงหน่วยราชการต่าง ๆ จนปัจจุบันนี้เขามีรายได้แบบก้าวกระโดดขึ้นมาเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 บาท ซึ่งต้องขอขอบคุณบุคคลและโครงการที่ได้ให้โอกาส

สำหรับขั้นตอนการเพาะเลี้ยงผึ้งจิ๋วหรือชันโรง หลัก ๆ มี 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนการย้ายรัง และ ขั้นตอนการแยกรัง ซึ่งการย้ายรังหมายถึงการผ่ารังผึ้งจิ๋วที่ทำรังในธรรมชาติ แล้วย้ายประชากรผึ้งจิ๋วทั้งหมดลงในรังเลี้ยง ซึ่งรังดังกล่าวนี้ต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย ไม่แออัด มีสุขอนามัยที่ดี และสามารถขนย้ายรังได้สะดวก สามารถจัดการดูแลช่วยเหลือผึ้งจิ๋วได้ ส่วนการแยกรังผึ้งจิ๋วหมายถึงการแบ่งประชากรผึ้งจิ๋วในรังเลี้ยงจาก 1 รัง เป็น 2 รัง หรือ 3 รัง ขึ้นอยู่กับสภาพความสมบูรณ์ของผึ้งจิ๋วที่จะแยก

การเคลื่อนย้ายรังธรรมชาติ นำมาตั้งไว้ใกล้บริเวณที่จะผ่ารัง ก่อนผ่าต้องประเมินประชากรผึ้งจิ๋ว และการย้ายรังธรรมชาติจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งต้องรักษาระดับแนวดิ่งของรัง เนื่องจากไข่จะถูกวางไว้บนอาหารเหลวภายในเซลล์ บางเซลล์ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนแล้วกินอาหารภายในเซลล์ยังไม่หมด อาจจะถูกอาหารหมกตายขณะขนย้าย เพราะเซลล์จะเอียงไป-มา ตรงจุดนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ

ในส่วนของรังเลี้ยงผึ้งจิ๋ว ขนาดต้องมีความจุประมาณ 7 ลิตร ทำด้วยไม้กระดาน หรือเศษไม้แปร หรือไม้นิ้วก็ได้ ต่อกันให้สนิท แต่ไม่ต้องใช้เทคนิคบังใบ ความกว้างประมาณ 20 ซม. ยาว 30 ซม. สูง 12 ซม. ด้านบนหรือฝารังเป็นแผ่นกระจกหรือพลาสติกใส เปิด-ปิดได้ ด้านหน้ารังเจาะรูเหนือพื้นขึ้นมาเล็กน้อยกันน้ำไหลเข้ารัง หน้ารังมีพื้นชานชาลาเล็กน้อยสำหรับให้อาหาร ให้ผึ้งจิ๋วพัก และเพื่อความสะดวกในการบินเข้า-ออก

ก่อนผ่ารัง ยกรังจากตำแหน่งเดิม ให้รักษาระดับ เอารังเลี้ยงที่เตรียมไว้ตั้งแทนที่รังเดิม เตรียมขวดเหล้าเพื่อนำไปดักที่รูเข้า-ออก ให้ผึ้งบินเข้าไปอยู่ในขวดด้วยการเคาะรัง พอกระเทือนผึ้งจิ๋วที่บินได้จะบินเข้าไปอยู่ในขวด ปิดปากขวดนำไปเก็บไว้ในที่เย็น ๆ ไม่ร้อน จากนั้นลงมือผ่ารัง ซึ่งต้องระวังอย่าให้กลุ่มไข่ ตัวอ่อน และดักแด้ เสียหายมากนัก เมื่อรังถูกเปิดออก นำของเหลวไปป้ายที่หน้ารังเพื่อดึงดูดให้ผึ้งที่บินหลงเหลืออยู่กลับเข้ารัง เดิม

จากนั้นค่อย ๆ ย้ายกลุ่มไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ ใส่ในรังเลี้ยง สำหรับถ้วยอาหาร เช่น เกสรและน้ำผึ้ง ที่ไม่แตก ก็ให้นำไปใส่ในรังเลี้ยงด้วย แต่อย่านำน้ำผึ้งจากถ้วยที่แตกใส่ในรัง เพราะจะทำให้ผึ้งงานติดน้ำผึ้งตาย แล้วต้องพยายามหานางพญาแม่รัง เมื่อพบให้ใช้ช้อนตักเอาเข้าไปไว้ในรัง แต่อย่าใช้มือจับนางพญา

ถ้าสถานที่ผ่ารังกับที่ตั้งรังเดิมอยู่คนละที่ แต่ห่างไม่เกิน 300 เมตร ต้องย้ายรังธรรมชาติไปตั้งเลี้ยงไว้ที่อื่นห่างจากที่ตั้งรังเดิมเกิน 600 เมตร ประมาณ 2 สัปดาห์จึงย้ายกลับมาตั้งในบริเวณที่จะผ่ารัง ให้คุ้นเคยสถานที่ 2-3 วันก่อนจะผ่ารัง ปิดฝารังและหน้ารังทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงนำรังเลี้ยงไปตั้งไว้ในที่ที่ให้ผึ้งหากินได้ตามปกติ

สำหรับต้นทุนในการเพาะเลี้ยงผึ้งจิ๋ว วิสิทธิ์บอกว่า แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพียงแค่มีเศษไม้เก่า ๆ มาทำเป็นรัง และหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาไว้ในรังเลี้ยง ซึ่งตามต่างจังหวัดผึ้งจิ๋วจะมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งที่มีดอกไม้ โพรงไม้ ขอนไม้ กระบอกไม้ไผ่ โพรงตามบ้านเรือน หรืออาจจะอยู่ตามท่อพีวีซี กล่องกระดาษ ฯลฯ

การเลี้ยง “ผึ้งจิ๋ว” อาจจะไม่ง่ายสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ถ้าใครที่มีปัญหาเรื่องอาชีพแล้วสนใจอาชีพเลี้ยงผึ้งจิ๋วนี้ ทางโครงการต้นกล้าอาชีพเขามีการอบรมให้ โดยติดต่อได้จนถึง 17 ส.ค. 2552 และอบรมเดือน ก.ย. สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร.1111 หรือที่คุณวิสิทธิ์ โทร. 08-9097-0137.

ทีมา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=11675

‘จ๊อปลาทู’ พลิกแพลงได้เด่น-เป็นเงิน

“ช่องทางทำกิน” มีการนำเสนออาชีพเกี่ยวกับอาหารแปรรูปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกับ “ฮ่อยจ๊อ” ก็เป็นอีกเมนูที่เคยนำเสนอ แต่ละเจ้าก็จะเด่นกันไปคนละสูตร แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งการดัดแปลง ล่าสุดมีคนหัวใสนำ “เนื้อปลาทู” มาปรับใช้ จนกลายเป็นเมนูชื่อแปลกหูอย่าง “จ๊อปลาทู” และเป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ...

บุญญาพร ตันสกุล เจ้าของสูตร “จ๊อปลาทู” เล่าว่า เดิมทำธุรกิจร้านอาหาร ต่อมามีปัญหาเรื่องพื้นที่ร้าน ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดี จึงเลิก แต่ด้วยความที่เป็นคนรักการทำอาหาร จึงพยายามไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปรรูปจากแหล่งต่าง ๆ โดยสนใจการทำฮ่อยจ๊อเป็นพิเศษ
ด้วยความที่อยู่แถบ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเด่นเรื่อง “ปลาทู” และช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ปลาทูจะมีมาก แม่ค้ามักขายไม่หมด โดยเฉพาะปลาทูเล็กหรือปลาแมวที่คนไม่นิยมกินเท่าปลาทูตัวใหญ่ ทำให้ราคาตก และเหลือขายยาก จึงคิดว่าคงจะดีถ้าสามารถนำปลาทูที่ว่ามาพัฒนาเป็นเมนูอาหาร จนเกิดเมนู “จ๊อปลาทู” ขึ้น

จุดเด่นของจ๊อปลาทู นอกจากชื่อที่แปลกและแก้ปัญหาเรื่องราคาปลาทูแล้ว บุญญาพรระบุว่า อีกเรื่องคือในเนื้อปลาทูมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าเนื้อปู อีกทั้งราคาก็ถูกกว่าเนื้อปู จึงใส่เนื้อปลาได้มากกว่าการทำฮ่อยจ๊อปู โดยแทบไม่ต้องใช้แป้งเลย โดยเธอเองทำจ๊อปลาทูขายมาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากใช้เวลาปรับรสชาติอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องจากแรก ๆ ที่ทำจะมีกลิ่นคาวของปลาทูอยู่ ซึ่งลูกค้ามักจะไม่ชอบ ต่อมาก็พบว่าสามารถดับกลิ่นคาวได้โดยทำการขูดหนังปลาทูเพื่อแยกเนื้อปลาออก มา ก็จะสามารถกำจัดกลิ่นคาวที่เป็นปัญหาได้

“แรก ๆ ลูกค้าก็จะถามกันว่าจ๊ออะไร พอรู้ว่าเป็นปลาทูส่วนใหญ่ก็บอกว่าแปลกดี ยิ่งให้ทดลองทานก็พากันแปลกใจว่าทำไมไม่มีกลิ่นคาว เพราะบางคนไม่กล้าทาน สาเหตุเพราะกลัวว่าจะมีกลิ่นคาว ปลา ต่อมาในปี 2552 ก็ลองส่งเข้าประกวดโอทอป ก็ได้รับคัดเลือกเป็นโอทอประดับ 4 ดาวในปีแรกที่ส่ง”

ทุนเบื้องต้นสำหรับอาชีพนี้ บุญญาพรบอกว่าใช้ประมาณ 50,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์ อาทิ ซึ้งนึ่ง ขนาด 17 นิ้ว, แม่พิมพ์หรือรองพิมพ์สำหรับห่อ, กะละมังสเตนเลส, เขียงขนาดใหญ่, ถุงมือ, ผ้าขาวบาง เป็นต้น ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 60% ของราคาขาย ซึ่งราคาขายก็อยู่ที่เส้นละ 30-35 บาท

ส่วนผสมทำจ๊อปลาทู 10 เส้น (ประมาณ 1 กิโลกรัม) ประกอบด้วย เนื้อปลาทู 1 กิโลกรัม, ต้นหอม 2 ขีด, แห้ว 2 ขีด, รากผักชี 1 ขีด, กระเทียม 2 ขีด, มันหมู 1 ขีด, ไข่ไก่ 1 ฟอง, พริกไทย, เครื่องปรุงรส และฟองเต้าหู้ และส่วนผสมของน้ำจิ้มก็มี น้ำบ๊วย, น้ำส้มสายชู, น้ำตาล, เกลือ และพริกไทย
ขั้นตอนการทำ “จ๊อปลาทู”...เริ่มแรกนำปลาทูมาขูดหนังแยกออกจากเนื้อปลา จนเหลือเพียงเนื้อปลาทูสีออกชมพู จากนั้นนำเนื้อที่ได้มานวดด้วยมือจนพอเหนียวครั้งหนึ่งก่อน ต่อมาจึงนำมันหมูที่เตรียมไว้มาผสมรวมกับเนื้อปลาทู นวดต่อไปอีกครั้งจนส่วนผสมเข้ากันดี นำเครื่องปรุงรสและส่วนผสมทั้งหมดที่เตรียมไว้มาเทใส่รวมกันลงไป จากนั้นก็ทำการนวดอีกครั้งเพื่อให้เนื้อปลาและส่วนผสมต่าง ๆ เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

ลำดับต่อไปนำแผ่นฟองเต้าหู้มาตัดเตรียมไว้ จากนั้นนำผ้าขาวบางชุบน้ำสะอาดบิดพอหมาด ๆ มาห่อแผ่นฟองเต้าหู้ให้พอนิ่ม นำแผ่นฟองเต้าหู้มาวางบนแม่พิมพ์ห่อหรือรองพิมพ์สำหรับห่อ (เจ้าของสูตรคิดประดิษฐ์รองพิมพ์ขึ้นเอง) นำเนื้อปลาทูที่ผสมและนวดจนเหนียวแล้วมาวางเรียงลงบนรองพิมพ์ จากนั้นพับ หัวและท้าย แล้วพับส่วนขอบม้วนให้แน่นไปเรื่อย ๆ เสร็จแล้วนำไปนึ่งโดยใช้ไฟปานกลาง สุกแล้วจึงนำมาตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนบรรจุจำหน่ายต่อไป โดย “จ๊อปลาทู” นี้สามารถอยู่ได้เป็นเดือนถ้านำใส่ไว้ในช่องฟรีซหรือช่องแช่แข็ง

“จ๊อปลาทูนี้จะใส่แห้ว ซึ่งจะหอมและกรอบมากกว่ามันแกวที่ใช้ใส่จ๊อปู ส่วนมันหมูใส่เพียงเล็กน้อยเพื่อให้เนื้อจ๊อนุ่ม ถ้าไม่ใส่เลยเนื้อจ๊อจะกระด้าง อีกอย่างคือช่วยเพิ่มรสชาติให้กับจ๊อปลาทู เพราะถ้าใช้เนื้อปลาทูเพียงอย่างเดียว จ๊อที่ได้จะมีรสเปรี้ยวเกินไป เนื่องจากรสของเนื้อปลาทูจะออกเปรี้ยว” เจ้าของสูตรกล่าว

สนใจ “จ๊อปลาทู” ต้องการชิม ต้องการรับไปจำหน่ายต่อเป็นอาชีพ ติด ต่อคุณบุญญาพรได้ที่ เลขที่ 102/7 ซอยบางจะเกร็ง 3 ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โทร.08-6977-8546 หรืออยากจะขอข้อมูลเพิ่มเติมก็ลองสอบถามกันดูโดยตรง นี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่พลิกแพลงได้น่าสนใจ.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=498&contentID=4360