Thursday, December 24, 2009

แนะนำอาชีพ"เลี้ยงจิ้งหรีด"

กว่า 8 หมู่บ้านใน ต.โคกสูง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ถือเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ทำให้ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ต้องอพยพไปขายแรงงานในต่างจังหวัดกันจำนวนมาก หมู่บ้านที่นี่ถูกขนานนามว่า “หมู่บ้านคนชรา” ที่ต้องถูกปล่อยอยู่ลำพัง รอเพียงลูกหลานที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่นส่งเงินกลับคืนมาให้เป็นค่าใช้จ่าย ดูแลลูกหลานศึกษาเล่าเรียนและเลี้ยงครอบครัว
โฆษณาโดย Google
อาชีพทำเงินรู้ในวงจำกัดลงทุนหลักหมื่นแต่ทำรายได้หลักแสน มีที่ปรึกษาแนะนำ การันตีธุรกิจwww.richagel.com

แต่เมื่อ 4 ปีก่อน ชาว ต.โคกสูง ได้รวมกลุ่มการทำอาชีพ ด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีด จนปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งยังไม่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปขายแรงต่างถิ่นเหมือนเช่นในอดีต

"ศิริธร รักษาศีล" หนึ่งในผู้ริเริ่มการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีดประจำ ต.โคกสูง ฟาร์มจิ้งหรีดเศรษฐกิจพอเพียง เลขที่ 90 บ้านโคกสูง หมู่ 1 ต.โคกสูง เล่าถึงความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2548 ว่า เริ่มจากได้เข้าร่วมฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จิ้งหรีดทองลาย หรือชาวบ้านที่นี่เรียกว่า "พันธุ์สะดิ้ง" ซึ่งมีผลการศึกษาว่ามีคุณภาพทางสารอาหารดีกว่าจิ้งหรีดในท้องถิ่นพันธุ์ อื่นๆ

"ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมานานกว่า 6 เดือน ใช้เงินลงทุนขั้นต้นราว 7,500 บาท โดยได้แบ่งพื้นที่ทำนาที่มีทั้งหมดกว่า 6 ไร่ มาเพียง 1 ไร่ เพื่อทำโรงเรือน เตรียมบ่อจะทำเป็นบ่อปูนหรือไม้ก็ได้ตามแต่ต้นทุน ขนาดบ่อกว้าง 90 ซม. สูง 55 ซม.และยาว 3.5 เมตร วัสดุอุปกรณ์ พร้อมกับศึกษาวิธีเลี้ยงเพื่อไม่ให้จิ้งหรีดตาย ซึ่งจะมีศัตรูหลัก คือ จิ้งจก,ตะขาบและมด เป็นหลัก และการเลี้ยงก็ง่ายมากเพราะมีการให้อาหารเพียงวันละ 1 ครั้ง ตอนช่วงเช้า ด้วยรำบดผสมหัวอาหารไก่แรกเกิดเพียงเล็กน้อย ใช้ระยะเวลาเลี้ยงแต่ละรุ่นไม่เกิน 45 วัน"

จากนั้นต่อยอดด้วยการเพาะขยายพันธุ์ในฟาร์มเลี้ยงเอง ด้วยการใช้ขันน้ำพลาสติก ใส่แกลบข้าวเปลือก ผสมดินเผาและทราย เป็นบ่อเพาะขยายพันธุ์ต่อได้อีกในระยะเวลา 10 วัน ก่อนนำออกแยกบ่อเพาะเลี้ยงต่ออีกไม่เกิน 45 วัน ส่งขายได้ตลอดช่วงหมุนเวียนกันไป ด้วยการลงทุนเพียงครั้งเดียว ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้ในครอบครัว ที่สำคัญไม่มีปัญหาในด้านการตลาด เฉพาะใน จ.ชัยภูมิ แทบส่งขายให้ไม่ทัน รวมทั้งตลาดในประเทศ อย่างที่ตลาดไทตลาดคลองเตย และตลาดโรงเกลือ ราคาก็สูงถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท

การเลี้ยงจิ้งหรีดของกลุ่มชาวบ้านที่นี่ปัจจุบันกำลังกลายเป็นทั้งอาชีพหลัก และอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างดีให้คนในชุมชนและยังช่วยหยุดการย้ายถิ่น ของแรงงานได้อีกด้วย

Tuesday, December 15, 2009

แนะนำอาชีพ'แจ่วบอง'

"แจ่วบอง” เป็นน้ำพริกอีสานที่ชาวบ้านชาวช่องรู้จักกันดีเป็นอย่างยิ่ง อันว่า แจ่ว แปลว่า น้ำพริก แต่คำว่า บอง แปลว่าอะไรไม่รู้เหมือนกัน แจ่วบอง เรียกอีกอย่างว่า ปลาร้าบอง ที่ตอนนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเป็นอย่างดี เพราะมันมีรสชาติที่แซบหลาย ด้วยเหตุฉะนี้ จึงต้องรับประทานกับผัก เพื่อคลายความเผ็ดร้อนลง

นางอัจฉรา เดชพรรณา ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนนาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มฯ มีสมาชิก 20 คน แปรรูปปลาร้า เป็นปลาร้าบอง ด้วยการนำเครื่องปรุงต่าง ๆ เข้าไปผสมหลายรูปแบบ ทำให้ได้หลายรสหลายสูตร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรสได้ตามอารมณ์ อยาก ตามความชอบ เรียกได้ว่า ชอบแบบไหนมีให้เลือกได้หลายแบบ

การทำปลาร้าถือเป็นภูมิปัญญาของคนอีสาน ในการถนอมอาหารไว้กินนาน ๆ ซึ่งได้จากการนำปลามาทำความสะอาด คลุกด้วยเกลือและรำอ่อนและข้าวคั่ว ก่อนนำไปหมักในไหหรือภาชนะที่ปิดฝาให้แน่นสนิท เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก็จะได้ปลาร้าที่มีรสชาติดี พร้อมที่จะนำมารับประทานหรือนำมาปรุงอาหารได้

การนำปลาร้ามาเข้าเครื่องหรือทำปลาร้าบอง ก็หมายถึงการเพิ่มรสชาติของการกินปลาร้าให้แปลกออกไปจากที่เคยรับประทานทุก เมื่อเชื่อวันนั่นเองจะได้ไม่จำเจซ้ำซาก เหมือนคนรับประทานน้ำพริกถ้วยเก่า รสชาติเก่า ๆ มันก็น่าเบื่อเป็นธรรมดาตามประสาวิญญูชน หากเปลี่ยนรสชาติไปบ้างก็เหมือนรับประทานน้ำพริกถ้วยใหม่จะได้ไม่น่าเบื่อไง ด้วยปลาร้าธรรมดาเมื่อตักออกมารับประทานจะให้รสเค็มอย่างเดียว แต่พอใส่เครื่องปรุงเข้าไป ก็จะได้รสชาติที่แปลกใหม่ ชวนรับประทาน นำมารับประทานกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวยก็ได้ สามารถเก็บไว้ได้นานนับเดือน ทีเดียว

จากความอร่อยของปลาร้าบอง ชาวอีสานจึงนำเผยแพร่ ออกสู่คนต่างถิ่น กระทั่งทุกวันนี้ ปลาร้าบองได้โกอินเตอร์อย่างภาคภูมิใจ ทำรายได้ให้ผู้ผลิตอย่างดี...ข้อนี้มิใช่อะไร เพราะมีชาวอีสานไปทำงานยังต่างประเทศ เป็นจำนวนมากนั่นเอง!

สำหรับกรรมวิธีการทำปลาร้าบอง ของ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ประธานกลุ่ม กล่าวว่าสูตรที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีส่วนผสมคือ ปลาร้าที่นำมาทำปลาร้าบอง ต้องเป็นปลาที่ผ่านการหมักมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งนิยมใช้ปลาช่อนเพราะมีเนื้อนุ่มกว่าปลาชนิดอื่น การทำปลาร้าบอง มีส่วนผสมคือ พริก 500 กรัม ข่า 300 กรัม กระเทียม 5 กก. หอม 5 กก. งา 300 กรัม ใบมะกรูด 200 กรัมและปลาร้า 6 กก.

วิธีการทำก็คือ นำส่วนผสมดังกล่าวทุกอย่างอบให้สุกและนำไปบดให้ละเอียด นำปลาร้าไปต้มให้สุกกรองเอาแต่น้ำแล้วนำเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ทั้งหมดมา รวมกันนำไปเข้าเครื่องนวดผสมให้เข้ากันจนละเอียด แล้วนำน้ำปลาร้าที่สุกแล้วเทลงในเครื่องนวดผสมเข้ากันดีจนเหนียวได้ที่ก็ เป็นอันเสร็จ พิธี จากนั้นนำไปบรรจุกล่อง โดยการชั่งน้ำหนักให้ได้ 80 กรัมต่อ 1 กระปุก จำหน่ายด้วยราคา 10 บาท ส่วนอีกราคาหนึ่งคือ 50 บาท บรรจุในกระปุกด้วยน้ำหนัก 500 กรัม

แต่กว่าที่จะจำหน่ายได้ราคาดีจนทุกวันนี้ มีหลายหน่วยงานที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคาร ซื้อวัสดุอุปกรณ์และให้เงินหมุนเวียน เมื่อปี 2545 เช่น กศน.จ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนเงิน 13,000 บาท อบจ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนเงิน 100,000 บาท เทศบาลตำบลนาจารย์หนุนเงิน 360,000 บาท จังหวัดกาฬสินธุ์สนับสนุนงบซีอีโอ 100,000 บาท สหกรณ์สนับสนุน 40,000 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานสนับสนุนอุปกรณ์ตู้อบไฟฟ้า ตู้ตากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมให้ความรู้ด้านการแปรรูปอาหารอีกด้วย ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเงิน 150,000 บาท จัดซื้ออุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์

การทำปลาร้าบองนั้น ส่วนประกอบล้วนมาจากผลผลิตที่สามารถผลิตได้เองด้วยคนในชุมชน เครื่องประกอบต่าง ๆ ล้วนเป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกเองได้ ปลูกได้ทุกบ้าน และผักที่นำรับประทานด้วยนี้ก็เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณประโยชน์....นับเป็น กิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น.

Monday, December 14, 2009

แนะนำอาชีพ‘อเมริกันคุกกี้’

ใกล้เทศกาลปีใหม่เข้ามาทุกที ซึ่งปีใหม่นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่คึกคักแล้ว ยังเป็นช่วงตระเตรียมส่งความสุข ความปรารถนาดี ในหลาย ๆ รูปแบบ และสิ่งที่ขาดไม่ได้กับเทศกาลปีใหม่คือของขวัญ ซึ่งในบรรดาขนมที่นิยมใช้เป็นของขวัญนั้น ก็รวมถึง “คุกกี้” และวันนี้ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมานำเสนอ...

“ส้ม-คิสราภัธต์ ศรีโรจน์” เจ้าของร้าน “เบเกอรี่ บาย คิสรา” ซึ่งรับทำเบเกอรี่โฮมเมด อาทิ คุกกี้ ขนมปัง เค้ก ปัจจุบันได้คิดทำ “อเมริกัน คุกกี้” จำหน่ายด้วย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าอเมริกันคุกกี้นี้เป็นสูตรใหม่ เพิ่งจะคิดค้นขึ้นมาได้ไม่นาน นอกเหนือจากคุกกี้ข้าวโอ๊ต คุกกี้รัมเรซิ่น คุกกี้เนย คุกกี้ธัญพืช คุกกี้งาดำ คุกกี้กาแฟ

“ที่มาของการทำเบเกอรี่โฮมเมด คือการไปเรียนที่สถาบันที่สอน เบเกอรี่ จากนั้นก็มาปรับวิธีทำ และสร้างสูตรให้เป็นของตัวเอง โดยสูตรของเรานั้น คุกกี้จะไม่หวานมาก ทานเพลิน ๆ” ส้มบอก

สำหรับอเมริกันคุกกี้ สูตรนี้จะมี “เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบ” และ “ลูกเกดเหลือง-ดำ” เป็นตัวชูโรง โดยแต่งกลิ่นด้วยกลิ่นอัลมอนด์ให้ น่าทานยิ่งขึ้น โรยหน้าด้วยช็อกโกแลตชิพ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าครบสูตรแบบ
อเมริกันคุกกี้จริง ๆ ซึ่งนอกเหนือจากซื้อทานเอง ซื้อฝากผู้อื่น ยังใช้เป็นของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ด้วย

รายละเอียดของอเมริกันคุกกี้สูตรนี้ มีส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้ แป้งสาลีอเนกประสงค์ 100 กรัม, แป้งสาลีเค้ก 150 กรัม, เกลือป่น 14 ช้อนชา, เบกกิ้งโซดา 14 ช้อนชา, วานิลลาผง 12 ช้อนชา, นมผง 20 กรัม, ช็อกโกแลตไรซ์ 50 กรัม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบทุบ 100 กรัม, มะพร้าวอบ 20 กรัม, ลูกเกดเหลือง–ดำหั่นหยาบ 50 กรัม, เนยสดชนิดเค็ม 100 กรัม, เนยขาว 125 กรัม, น้ำตาลทรายขาว 100 กรัม, น้ำตาลทรายแดง 50 กรัม, น้ำหอมกลิ่นอัลมอนด์ 1 ช้อนชา และไข่ไก่ 1 ฟอง

นอกจากนี้ ยังใช้ช็อกโกแลตชิพ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ครึ่งซีก สำหรับแต่งหน้าคุกกี้ด้วย

วิธีทำ เริ่มจากร่อนแป้งสาลีทำเค้ก และแป้งสาลีอเนกประสงค์ เบกกิ้งโซดา เกลือป่น นมผง และวานิลลาผงเข้าด้วยกัน จากนั้นผสมช็อกโกแลต ไรซ์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกเกด และมะพร้าวอบ ลงในแป้ง

ตีผสมเนยเค็มกับเนยขาว น้ำตาลทราย และน้ำตาลทรายแดง ด้วยหัวตีรูปใบไม้ ด้วยความเร็วต่ำ จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

ใส่น้ำหอมกลิ่นอัลมอนด์ และไข่ไก่ ตีผสมจนเข้ากันทันที และค่อย ๆ ใส่แป้งที่ร่อนไว้ ตีผสมจนเข้ากัน

นำเนื้อแป้งคุกกี้ที่ตีเข้ากันแล้ว ปั้นเป็นรูปคุกกี้ตามขนาดต้องการ โดยมีน้ำหนักชิ้นละ 50 กรัม วางลงบนถาดที่เตรียมไว้ โดยต้องทาเนยบนถาดก่อน แต่งหน้าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และช็อกโกแลตชิพ

จากนั้นนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 400 องศาฟาเรนไฮต์ ใช้ไฟบน-ล่าง นานประมาณ 8-10 นาที

เมื่อครบเวลานำออกจากเตา พักให้เย็น แล้วนำเข้าเตาอบต่ออีกครั้ง อบที่อุณหภูมิ 300 องศาฟาเรนไฮต์ ประมาณ 7 นาที หรือสังเกตดูว่าคุกกี้มีสีออกเหลืองกรอบ

นำออกจากเตา รอให้คุกกี้พออุ่น ๆ จึงบรรจุลงภาชนะ

คุณส้มแนะนำว่า คุกกี้นี้ถ้าทานกับชาร้อนอังกฤษ หรือกาแฟร้อนจะอร่อยมาก และถ้าต้องการทานคุกกี้ให้อร่อยยิ่งขึ้น แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็น และหยิบทานตามต้องการ เมื่อแช่ตู้เย็นคุกกี้จะกรอบอร่อยมาก และยังทำให้อายุคุกกี้เก็บไว้ได้นานมากขึ้น

ส่วนราคาขาย “อเมริกันคุกกี้” นั้น อยู่ที่ กก.ละ 700 บาท โดยมีกำไรประมาณ 30% ซึ่งเหตุที่ขายในราคาสูง เพราะใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ

ใครสนใจ “อเมริกันคุกกี้” และเบเกอรี่อื่น ๆ ของ ส้ม-คิสราภัธต์ ศรีโรจน์ ติดต่อได้ที่ โทร.08-1909-0983, 08-1915-3482, 08-0616-9238 ส่วนใครพอมีฝีมือทางการทำขนม-ทำเบเกอรี่ และกำลังคิดจะทำขายรับเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง บางที “คุกกี้” อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี !!.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=37049&categoryID=525

Wednesday, December 9, 2009

แนะนำอาชีพ‘น้ำมันลูกประคบ’

“ลูกประคบสมุนไพร” เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ยังแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกประคบสมุนไพรมานำเสนอ นั่นก็คือ “น้ำมันลูกประคบ” ที่สร้างรายได้ให้ผู้ผลิตได้อย่างน่าสนใจ...

สันติ แฉล้ม อายุ 40 ปี ประธานชมรมสมุนไพรไทยบ้านวัดถั่ว และเจ้าของคลินิกศรีประจันต์การแพทย์แผนไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องหอมไทย “ทิพย์เกสร” เล่าให้ฟังว่า ตนเป็นทายาทผู้รับช่วงรุ่นที่ 3 ของคุณตามิ่ง (หมอมิ่ง แนบเนียน) แสงสีทอง แพทย์แผนโบราณแห่งลุ่มน้ำสุพรรณบุรี ซึ่งได้นำความรู้แพทย์แผนปัจจุบันมาประยุกต์กับสมุนไพร เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการสกัดน้ำมันจากลูกประคบและหัวดองดึง แล้วทำเป็น “น้ำมันนวดตัว” เพื่อสะดวกในการใช้และพกพา แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าของสมุนไพรลูกประคบ

“สาเหตุที่ผมเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาแปรรูป เพราะแม้คนยุคปัจจุบันก็หันมาให้ความสนใจลูกประคบสมุนไพรกันมาก แต่ความนิยมยังน้อยอยู่ เพราะเกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการประคบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการนึ่งเป็นวัน ๆ ใช้ได้ 1-2 วันก็ต้องทิ้ง เพราะเป็นเชื้อรา ผมก็เลยคิดเอาคุณค่าสมุนไพรในลูกประคบมาประยุกต์สกัดเป็นน้ำมัน เพื่อสะดวกในการใช้ และพกพา และเป็นได้ทั้งของขวัญของฝากที่มีประโยชน์ ใช้สำหรับถวายพระสงฆ์ มอบให้ผู้สูงวัย ผู้ที่ใช้สมองเคร่งเครียดกับการทำงาน จนรู้สึกปวดต้นคอ หรือผู้ที่ทำงานหนัก นักกีฬา มีติดตัวไว้สำหรับทา ถู นวด เพื่อช่วยให้ร่างกายเกิดความรู้สึกสดชื่น เบากาย”

ที่คลินิกของสันติยังมีผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านอีกหลายชนิด เช่น เครื่องหอมสมุนไพรทิพย์เกสร, ยาหม่องสมุนไพร, น้ำหอมสมุนไพร, ยาหอมบำรุงหัวใจ, รางจืด, เบญจธาตุยาลมขึ้นเบื้องสูง ฯลฯ

สำหรับการทำน้ำมันนวดตัวลูกประคบ อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, กระทะ, ถังสเตนเลสขนาดใหญ่, ทัพพี, ผ้าขาวบาง, ไม้พาย, เขียง, มีด, กระด้ง, เครื่องชั่ง, ตะแกรง, ถ้วยตวง, ครกสำหรับตำ, ขวดแก้ว หรือขวดพลาสติกที่มีฝาปิดใช้ใส่ผลิตภัณฑ์ และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบฉวยจากในครัวเรือนได้

วัตถุดิบ-ส่วนผสมที่ใช้ในการทำน้ำมันลูกประคบ ก็มี...น้ำมันสกัดจากสมุนไพรลูกประคบ 400 กรัม, น้ำมันระกำ 150 กรัม, ทิงเจอร์ดองดึง 100 กรัม, เกล็ดสะระแหน่ (เมนทอล) 100 กรัม, การบูร 70 กรัม, พิมเสน 120 กรัม, น้ำมันยูคาลิปตัส 120 กรัม, น้ำมันเปปเปอร์มินต์ 100 กรัม, กานพลู 60 กรัม, น้ำมันอบเชย 40 กรัม, น้ำมันเขียว 40 กรัม และไวท์ออยล์ 100 กรัม

ขั้นตอนแรกต้องทำน้ำมันสกัดจากสมุนไพรในลูกประคบก่อน สมุนไพรในลูกประคบประกอบด้วย... หัวไพลสด 1 กก., ว่านม้าสด 500 กรัม, ว่านนางคำสด 100 กรัม, เถาวัลย์เปรียง สด/แห้ง 100 กรัม, ตะไคร้สด 100 กรัม, เถาเอ็นอ่อน สด/แห้ง 100 กรัม, ข่าสด 100 กรัม, เถาโคคลาน สด/แห้ง 100 กรัม, ผักเสี้ยนผีสด 100 กรัม, ขมิ้นอ้อยสด 100 กรัม, ผิวมะกรูดสด 100 กรัม, ใบส้มป่อย 100 กรัม, น้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว 3 ลิตร

วิธีทำ นำสมุนไพรที่เตรียมไว้มาทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้นก็นำตะไคร้ หัวไพล ผิวมะกรูด และขมิ้นอ้อย มาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ตำหยาบ ๆ พอแตก เสร็จแล้วก็นำมาคลุกเคล้ากับสมุนไพรที่เหลือทั้งหมด ก่อนจะนำสมุนไพรทั้งหมดลงไปทอดในน้ำมันงาด้วยไฟอ่อน ๆ จนสมุนไพรทั้งหมดเหลือง กรอบดี (ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง) นำขึ้น ปล่อยให้เย็น แล้วจึงกรองเอาแต่น้ำมันเตรียมไว้เป็นส่วนผสมของยาต่อไป

ต่อไปทำทิงเจอร์สมุนไพรดองดึง วัตถุดิบที่ใช้ก็มี หัวดองดึงสด (หัวขวาน) 1 กก. นำมาตำให้ละเอียด นำลงแช่ในเหล้าโรง 40 ดีกรี จำนวน 3 ขวดกลม เป็นเวลา 15-30 วัน แล้วจึงกรองเอาแต่น้ำ เตรียมไว้เป็นส่วนผสมของยาต่อไป

ขั้นตอนสุดท้ายในการทำ “น้ำมันลูกประคบ” เมื่อเตรียมส่วนผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำส่วนผสมหรือวัตถุดิบดังกล่าวทั้งหมดใส่รวมกันในถังสเตนเลส ทิ้งไว้ประมาณ 2 วันก็ใช้ได้ แต่ก่อนใช้ต้องทำการกรองเอาแต่น้ำมันมาใช้ บรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

จากสูตรที่ว่ามาข้างต้น สามารถทำน้ำมันลูกประคบออกมาได้ในปริมาณ 1,000 กรัม (1 กก.) บรรจุขวดโดยราคาขาย ขวดใหญ่ 50 ซีซี 150 บาท ขวดเล็ก 22 ซีซี 80 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 50%

ใครสนใจ “น้ำมันลูกประคบ” ต้องการซื้อไปใช้ หรือเป็นตัวแทนจำหน่าย ติดต่อคุณสันติได้ที่ 113/2 หมู่ 1 บ้านวัดถั่ว ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี 72140 โทร. 0-3558-1967, 0-3558-1909 หรือที่มือถือ 08-5384-4965 ซึ่งเจ้าของ “ช่องทางทำกิน” รายนี้ก็เป็นกรณีศึกษาการต่อยอดภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจ.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=35822&categoryID=525