Sunday, September 19, 2010

แนะนำอาชีพ"เครปไม่จำกัดไส้"

ย่านสยามสแควร์มีร้านขาย “เครป” ริมทางร้านหนึ่ง มีลูกค้าต่อแถวซื้อไม่ขาดสายจนทำขายแทบไม่ทัน มองไปมองมาก็เห็นจุดดึงดูดลูกค้า คือเขาขายราคาเดียว “20 บาท” จะใส่ไส้กี่อย่างก็ได้ไม่จำกัด ไม่คิดราคาเพิ่ม โดยทางร้านเขาบอกว่าถ้าขายของได้ยังไงก็ไม่ขาดทุน ซึ่งก็เป็นรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าคิด...

คำนวณ สิงห์นอก ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ วัย 43 ปี ปัจจุบันยึดอาชีพขายเครป หรือเครปญี่ปุ่น ที่ย่านสยามสแควร์กลางกรุงเทพฯ ขายมานาน 6-7 ปีแล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า เคยผ่านงานมาหลากหลายแบบ ทั้งใช้แรงงาน ค้าขายหลายอย่าง จนมาลงตัวที่ขนมเครปนี้ ซึ่งไปซื้อสูตรมาในราคาหลายพันบาท แต่เอาเข้าจริงเมื่อนำสูตรมาทำขายแล้วยังไม่ค่อยดี จึงต้องมีการดัดแปลงสูตรเองใหม่ จนได้เป็นสูตรแป้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การลงทุนร้านเครปครั้งแรก คำนวณบอกว่าในเงินประมาณ 20,000 บาท ซึ่งกับรายได้ถ้าลงทุนค่าวัตถุดิบต่าง ๆ ประมาณ 1,700-1,800 บาท และขายได้หมด จะมีรายได้ก่อนหักทุนวันละประมาณ 3,000 บาท

วัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ทำไส้เครปนั้นจะมี 10 กว่าอย่างขึ้นไป ในส่วนที่เป็นของคาว ก็เช่น หมูหยอง, น้ำพริกเผา, ปูอัด, แฮม, ไส้กรอก, ไข่ไก่ ในส่วนไส้หวาน และผลไม้ เช่น ลูกเกด, แยมสตรอเบอรี่, แยมบลูเบอรี่, ครีมวานิลลา, กล้วยหอม และส่วนที่แต่งหน้าเครปก็จะมี ซอสมายองเนส, ซอสช็อกโกแลต, ซอสพริก, ซอสมะเขือเทศ, เนย, ซอสถั่วเหลือง ซึ่งคำนวณจะซื้อสัปดาห์ละครั้งที่ย่านสำเพ็ง ซึ่งจะได้ของครบทุกอย่าง

สำหรับแป้งเครปนั้น สูตรของคำนวณจะมีส่วนผสมประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า 1 กก., แป้งข้าวโพด 2 ช้อนชา, น้ำเปล่า 4 กระป๋อง, นมสด 1-2 ช้อนโต๊ะ, ไข่ไก่ 1-2 ฟอง, หัวนมผง และผงแป้งกรอบ อย่างละพอประมาณ นำส่วนผสมมาทำการผสม-คนทุกอย่างให้เข้ากัน โดย ต้องระวังอย่าให้ส่วนผสมแป้งเป็นเม็ด

การทำขาย เริ่มจากเตรียมอุ่นเตาให้ร้อน สังเกตจากการสะบัดน้ำลงไปทดสอบดูว่าน้ำเดือดหรือไม่ ถ้าน้ำเดือดก็แสดงว่าเตาร้อนแล้ว จากนั้นก็ตักส่วนผสมแป้งประมาณ 1 ทัพพี หยอดลงบนเตา เกลี่ยด้วยไม้เครปให้เป็นรูปวงกลม โดยการหมุนไม้เครปไปรอบ ๆ รัศมีเตา ปลายข้างหนึ่งอยู่จุดศูนย์กลางเตา จะทำให้ได้เครปที่กลมสวย และยังมีเคล็ดลับเพิ่มเติมเล็กน้อยคือ ทาเนยเล็กน้อย จะทำให้แป้งไม่ติดกระทะ

เกลี่ยแป้งแล้วก็รอสักพัก พอแป้งใกล้สุกให้ทาเนยให้ทั่วแผ่นแป้ง แล้วจึงค่อยเติมไส้ที่ลูกค้าต้องการ โดยทาหรือเกลี่ยไส้ทั่วแป้งเครป หรือถ้าไส้เป็นชิ้นหนา เช่น ไส้กรอก แฮม ทูน่า ควรวางเพียงครึ่งเดียวของแผ่นแป้ง จะพับแป้งได้สะดวกกว่า ซึ่งที่ร้านของคำนวณนั้นลูกค้าสามารถใส่ไส้กี่อย่างก็ได้ในราคาเดียวคือ 20 บาท

คำนวณบอกว่า จากประสบการณ์การขายนั้น สามารถแบ่งประเภทของไส้ที่ลูกค้ามักจะใส่ประจำได้ 2 ประเภท ได้แก่ ไส้คาว คือ หมูหยอง, น้ำพริกเผา, ปูอัด, แฮม, ไส้กรอก, ไข่ไก่ ซึ่งไส้คาวนี้จะโรยหน้าด้วยซอสพริก ซอสมะเขือเทศ มายองเนส และไส้หวาน-ผลไม้ จะเป็นจำพวก กล้วยหอม, ลูกเกด, แยมสตรอเบอรี่, แยมบลูเบอรี่, ครีมวานิลลา และแต่งหน้าด้วยซอสมายองเนส, ซอสช็อกโกแลต นอกจากนี้ยังมีไส้คาวที่คล้ายไส้ขนมโตเกียว เช่น ตอกไข่ไก่ใส่ ละเลงให้ทั่ว รอให้สุก แล้วราดซอสถั่วเหลือง ซึ่งลูกค้าก็นิยมสั่งกินจำนวนไม่น้อย

เมื่อใส่ไส้เครปลงบนแป้งเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้ที่แซะขนม หรือเกรียง ทำการแซะขอบแป้ง จากนั้นพับครึ่งแป้งก่อน แล้วจึงพับประกบด้านซ้าย ขวา แล้วใส่ซองเครปที่ทำจากกระดาษที่เตรียมไว้ ก็พร้อมขาย

ทั้งนี้ นอกจากกรณีร้านเครปของคำนวณแล้ว สำหรับบ้านเราเรื่องการใส่ไส้เครป และการตกแต่งเครป อาจถือได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ไส้เครปที่คนไทยนิยมรับประทาน และร้านเครปส่วนใหญ่จะทำขาย ก็มีอาทิ ไส้ครีมกล้วยหอม และเนยถั่ว, ไส้ช็อกโก แลตเหลว, ไส้ครีม สังขยาใบเตย, ไส้แฮมไก่ ทูน่า หรือไส้กรอก ใส่ซอสมะเขือเทศ และมายองเนส, ไส้หมูหยอง น้ำพริกเผา, ไส้แยมต่าง ๆ เช่น แยมสตรอเบอรี่ แยมส้ม, ไส้ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ลูกเกด กล้วยหอม และไส้มะพร้าว โรยน้ำตาล ซึ่งการขายเครปก็ต้องพิจารณาสิ่งที่ลูกค้าชอบให้ดี

สำหรับร้านเครปของคำนวณ เมื่อมีการเลือกใช้ไส้ที่ลูกค้าในย่านที่ทำขายถูกใจ และมีจุดดึงดูดที่การขายราคาเดียว คือ 20 บาท กิจการก็ไปได้ด้วยดี มีรายได้ที่น่าสนใจ และเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าพิจารณา

ร้าน เครป 20 บาท ของคำนวณที่ย่านสยามสแควร์กลางกรุง เป็นร้านรถเข็น ขายอยู่ริมถนน ฝั่งตรงข้ามห้างสยามเซ็นเตอร์ ใกล้ ๆ กับสะพานลอยคนข้าม ขายวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป โดยจะหยุดทุกวันจันทร์ ใครสนใจชิมเครปเจ้านี้ หรือสนใจเรื่องการขายเครปแบบของคำนวณ ก็ลองไปดูกัน.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=80410&categoryID=525

แนะนำอาชีพ"ถุงทองทอด"

อาหารเรียกน้ำย่อยยอดนิยมของคนไทยของทานเล่นมีอยู่มากมายหลายอย่างเช่น เปาะเปี๊ยะสด-ทอดปั้นขลิบไส้ปลา,ข้าวเกรียบปากหม้อ,สาคูไส้หมู,ขนมเบื้องญวน ,ช่อม่วงฯลฯแต่ถ้าเอ่ยถึง“ถุงทองทอด”บางคนอาจทำหน้างงๆสงสัยว่าคืออะไรหน้า ตาเป็นอย่างไรวันนี้ทีม“ช่องทางทำกิน”จึงนำข้อมูลอาชีพการทำ-การขายถุงทอง ทอดซึ่งเป็น“อาหารว่างชื่อมงคล”ของคนไทยมานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...

สะคราญผ่องนราหรือเจ๊ต่ายทำ“ถุงทองทอด”ขายอยู่ย่านบ้านพักรถไฟกม.11เจ้าตัว เล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่าที่บ้านมีอาชีพขายของชำมานานหลายสิบปีแล้ว พอดีลูกสาวเรียนจบมาแล้วยังไม่มีงานทำผู้เป็นป้าได้สูตรถุงทองทอดมาจาก เพื่อนจึงเอาสูตรมาให้หลานสาวลองทำดูเผื่อจะทำขายระหว่างรองานโดยคุณยาย(แม่ ของเจ๊ต่าย)ก็มีฝีมือในการทำอาหารจึงนำสูตรดังกล่าวมาลองฝึกทำให้หลานสาวดู แต่สูตรถุงทองที่ได้มารสชาติยังไม่ถูกใจจึงมีการดัดแปลงสูตรตามแบบที่ชอบ เมื่อทุกอย่างลงตัวก็เริ่มทำขายปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมากอาจเพราะหาทานยากดู แปลกใครเห็นก็สนใจจึงซื้อไปชิมกัน

ต่อมาลูกสาวได้งานเป็นเลขาฯอยู่บริษัทปูนซิเมนต์ก็เสียดายเพราะลูกค้าติดมาก ทำถุงทองทอดขายวันละ1,000-1,200ถุงขายแต่เช้าไม่เกิน10.00น.ก็หมดจึงรับช่วง ทำขายต่อจากลูกสาวและยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าโดยเพิ่มเปาะเปี๊ยะทอด ด้วยซึ่งใช้วัตถุดิบตัวเดียวกันกับการทำถุงทองทอดและยังทำทอดมันปลากรายขาย ด้วยก็ขายดีจนต้องซื้อเครื่องตีปลามาตีเองเรียกว่าสินค้าที่ร้านขายดีทุกตัว พอเห็นเงินมันก็สนุกจึงขยับขยายที่ขายเพิ่มมาตรงหลังปตท.สำนักงานใหญ่ขาย จันทร์-ศุกร์เวลา06.00–12.00น.

สำหรับการทำ“ถุงทองทอด”อุปกรณ์หลักๆที่ต้องใช้ก็มี...เตาแก๊ส,กระทะ,ทัพพี ,ตะแกรง,กระชอน,กะละมัง,ถาดสเตนเลส,เขียง,ครกและเครื่องมืออื่นๆที่สามารถ หยิบยืมเอาได้จากในครัว

วัตถุดิบ/ส่วนผสมประกอบด้วย...แผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะ(ขนาด4นิ้ว),หมูสับติดมัน ,มันแกวสับละเอียด,แครอทต้ม(หั่นเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ),พริกไทย,รากผักชี ,กระเทียม,ซีอิ๊วขาว,น้ำตาลทราย,ต้นหอมหั่นเส้นตามยาว(สำหรับมัดปากถุง)และ น้ำมันสำหรับใช้ทอด

ขั้นตอนการทำถุงทองทอดเริ่มจากการทำ“ไส้”ถุงทองก่อนเป็นอันดับแรกโดยการเอา รากผักชีกระเทียมพริกไทยเกลือป่นมาใส่รวมกันในครกแล้วโขลกให้ละเอียดเสร็จ แล้วนำไปผสมกับหมูสับติดมันที่เตรียมไว้เคล้าพอให้ส่วนผสมเข้ากันทั่วจาก นั้นนำมันแกวสับละเอียดและแครอทต้มสุกที่เตรียมไว้ใส่ตามลงไปคลุกเคล้าส่วน ผสมให้ทั่วอีกครั้งปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาลทรายนิดหน่อยใช้มือนวดส่วน ผสมให้เข้ากันจนเหนียวจากนั้นใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำแล้วบิดหมาดๆคลุมพักเอาไว้

นำต้นหอม(หรือขึ้นฉ่ายก็ได้)ที่หั่นตามยาวโดยยาวประมาณ5นิ้วมาแช่น้ำร้อน 5นาที(เพื่อให้เกิดความอ่อนตัวจะง่ายต่อการใช้มัดปากถุงทอง)แล้วนำขึ้นมาพัก ให้สะเด็ดน้ำ

พอไส้เสร็จแผ่นแป้งพร้อมก็เตรียมห่อถุงทองได้เลยโดยตักไส้ที่ทำเตรียมไว้ใส่ ลงบนแผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะไม่ต้องมากประมาณ1ช้อนชาครึ่งใช้มือจับริมแป้งขึ้นมา จีบค่อยๆจับจีบไปรอบๆให้มีลักษณะคล้ายถุงเสร็จแล้วเอาต้นหอมมาจับผูกสัก2ที ไม่ต้องแน่นมากเอาแค่ไม่หลุดก็พอทำเช่นนี้ไปจนหมด

ตั้งกระทะน้ำมันร้อนจัดด้วยไฟปานกลางก่อนจะหรี่ไฟลงเหลือครึ่งหนึ่งจากนั้น จึงนำถุงทองที่เตรียมไว้ใส่ลงไปทอดเวลาทอดกดให้ถุงทองจมน้ำมันมิฉะนั้นปาก ถุงจะบานเป็นดอกไม้ใกล้โรยดูไม่สวยทอดจนถุงทองสุกมีสีเหลืองทองก็ตักขึ้นพัก ไว้ให้สะเด็ดน้ำมันเพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

เจ๊ต่ายเผยเคล็ดลับการทอดถุงทองเพิ่มเติมว่าจะให้ถุงทองสวยต้องทอดน้ำมัน ท่วมกลีบถุงจะได้บานเต็มที่มีสีสม่ำเสมอหากใครมือใหม่ควรทอดทีละน้อยไม่งั้น จะกลับไม่ทันถุงทองจะไหม้เสียก่อน

“ถุงทองทอด”นี้ทานกับน้ำจิ้มเปาะเปี๊ยะหรือน้ำจิ้มบ๊วยหรือจะเป็นซอสศรีราชา ก็อร่อยไปอีกแบบและต้องมีผักสดเช่นแตงกวา,ใบโหระพา,ผักกาดหอมทานแกล้มด้วยจะ ยิ่งอร่อยครบเครื่อง

ราคาขายถุงทองทอดคือ6ชิ้นหรือ6ถุงราคา20บาทส่วนปอเปี๊ยะทอดที่เจ๊ต่ายทำขาย ด้วยราคาคือ5ตัว20และทอดมันปลากรายขาย8ชิ้น20บาท

“ถุงทองทอด”นี้ยังเหมาะสำหรับงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆซึ่งเจ๊ต่ายก็รับสั่งทำ ไปออกงานนอกสถานที่ด้วยโดยติดต่อได้ที่โทร.08-0202-6349และ0-2936-2076ซึ่ง ตรงนี้ก็เป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติมอีกส่วนจากการทำ-การขายถุงทองทอด ใครสนใจอาชีพนี้ก็ลองฝึกฝนทำกันดูตามข้อมูลที่ว่ามา.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=91213&categoryID=525

แนะนำอาชีพ"ห่อหมกพุดดิ้ง"

"ห่อหมก” เป็นอาหารไทยโบราณที่มีการทำขายในหลายแหล่ง ทั้งริมทางข้างถนน ตลาดนัด ร้านอาหาร ภัตตาคาร ราคาก็มีแพงบ้างถูกบ้างตามวัตถุดิบ ฝีมือ และทำเล และยุคนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนภาพของห่อหมกให้ดูทันสมัย ขายได้ในทุก ๆ ทำเล แม้แต่ตามโรงแรมหรู หรือห้างสรรพสินค้า มีการปรับเปลี่ยนภาชนะให้ดูทันสมัย ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำการขายห่อหมกในรูปแบบใหม่มานำเสนอ...

ต้น-ชวินบุตร ทรัพย์ภิญโญชัย เป็นเจ้าของร้านขาย “ห่อหมกพุดดิ้ง” เจ้าตัวบอกว่า ที่บ้านทำกิจการขายข้าวแกงมานานกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นร้านเล็ก ๆ ที่ถนนทรงวาด ย่านเยาวราช ขายข้าวราดแกงธรรมดา แต่สิ่งที่แปลกไปคือ ห่อหมกเนื้อปู ที่เป็นสูตรคุณพ่อทำเอง มีรสชาติกลมกล่อม ซึ่งมีลูกค้าประจำมากมาย การทำห่อหมกขายจึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจการครอบครัวที่ตนและพี่สาวได้ทำต่อ ๆ มา

“จุดที่เปลี่ยนมาเป็นห่อหมกพุดดิ้งคือการใช้ใบตองนั้นทำยาก ข้อเสียเยอะ เย็บไม่ดีใบตองก็แตก ใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องการหาวัสดุใหม่ที่หาง่าย และแทนใบตองได้ดี หาไปหามาก็มาลงตัวที่ถ้วยฟอยล์สำหรับใส่ขนม ซึ่งเมื่อเปลี่ยนวัสดุแล้ว ห่อหมกจึงคล้ายขนมฝรั่ง ส่วนคำว่าห่อหมกพุดดิ้งมาจากเนื้อห่อหมกที่จะเหนียว นุ่ม และเด้งเหมือนขนมพุดดิ้ง จึงเป็นสโลแกนที่ว่า “อร่อยแบบไทย สไตล์ยุโรป”

ห่อหมกที่ทำขายนั้น จะมี 4 แบบคือ ห่อหมกปู, ห่อหมกปลา, ห่อหมกกุ้ง, ห่อหมกหอยเชลล์ จุดเด่นคือจะใช้ของทะเลแบบสด ๆ คุณภาพดี และก็มีสูตรในการทำพริกแกงเองด้วย

อุปกรณ์ทำห่อหมกนั้น เป็นอุปกรณ์ทำครัวทั่วไป อาทิ เขียง, มีด, กระทะ, เตาแก๊ส และเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ที่ต้องมีพิเศษคือเครื่องปั่นสำหรับปั่นพริก และลังถึงสำหรับนึ่งห่อหมก

วัตถุดิบที่ใช้ ก็มีผักต่าง ๆ อาทิ กะหล่ำปลี และใบโหระพาสด เป็นใบผักรองพื้น ส่วนของสดมีกุ้งสด, ปูม้าก้อน, หอยเชลล์ และปลาช่อน ซึ่งกุ้งสดนั้นจะใช้กุ้งทะเลราคา กก.ละ 200 บาท, ปูม้าใช้เนื้อปูม้าก้อนไซซ์จัมโบ้ ราคา กก.ละ 350 บาท, หอยเชลล์ใช้หอยเชลล์แกะเปลือกอย่างดี ราคา กก.ละ 230 บาทและปลาช่อนใช้เนื้อปลาช่อนล้วน ราคา กก.ละ 200 บาท ซึ่งของสดนี้หาซื้อได้ที่ตลาดสะพานปลา ส่วนผักสดหาซื้อในตลาดสดทั่วไป

สำหรับเครื่องแกง ชวินบุตรบอกว่า ถ้าใช้กะทิสด 1 กก. ประกอบกับเครื่องอื่น ๆ ตามสูตร จะทำห่อหมกพุดดิ้งได้ประมาณ 10 ถ้วย ซึ่งสูตรเครื่องแกงที่จะว่ากันต่อไปนี้ก็ใช้ตะไคร้, ข่าสด, ขิงแก่, พริกขี้หนู และผิวมะกรูด อย่างละ 20 กรัม โดยส่วนประกอบในส่วนของตะไคร้และข่าจะให้ความหอม ขิง และพริก จะให้ความเผ็ด ส่วนผิวมะกรูดให้รสชาติความเป็นแกง และดับกลิ่นคาวของสดด้วย ส่วนประกอบต่าง ๆ ถ้าทำในปริมาณมากก็ใช้เครื่อง ปั่นให้ละเอียด โดยหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อน ถ้าทำไม่มากใช้วิธีโขลกก็ได้

ขั้นตอนการผัดพริกแกง ใช้กะทิสด 1 กก. ใช้กะทิจากมะพร้าวห้าว ได้ความมัน ข้น และหวาน เทกะทิลงในกระทะ ใช้ไฟแรงปานกลาง เมื่อกะทิเริ่มร้อนค่อย ๆ ใส่เครื่องแกงลงไป ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล ตามใจชอบ โดยเนื้อแกงกะทินี้ ชวิน บุตรย้ำว่า เนื้อแกงจะต้องข้นพอดี ๆ ไม่เหนียวไปและไม่ใสไป

เตรียมผักสด คือกะหล่ำปลีซอย ใบโหระพา ใส่ภาชนะ เทเนื้อพริกแกงลงคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วตักแบ่งใส่ถ้วยฟอยล์ที่เตรียมไว้ ซึ่งถ้วยฟอยล์นี้ ชวินบุตรบอกว่า ใช้ขนาด 3321 ซึ่งเป็นขนาดเรียกของถ้วยขนม

ถ้าเป็นห่อหมกกุ้ง จะใส่กุ้งสด 2 ตัว, ห่อหมกหอยเชลล์ ใส่หอยเชลล์ 2 ตัว, ห่อหมกปู ใส่เนื้อปูม้าก้อนใหญ่ 2 ก้อน และก้อนเล็กอีก 2-3 ก้อน, ห่อหมกปลา ใส่เนื้อปลา 2 ชิ้น จากนั้นนำไปนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก่อน ห่อหมกจะเริ่มพองตัว จึงราดกะทิสดลงบนหน้าห่อหมกเพื่อเป็นการแต่งหน้า

นอกจากนี้ก็ตกแต่งหน้ากะทิด้วยพริกสีต่าง ๆ เพื่อสร้างสัญลักษณ์ให้กับห่อหมก เช่น พริกชี้ฟ้าเหลืองสำหรับห่อหมกหอยเชลล์, ห่อหมกปูใช้พริกชี้ฟ้าแดง, ห่อหมกกุ้งใช้พริกชี้ฟ้าเขียวธรรมดา และห่อหมกปลาใช้ใบผักชีโรย จากนั้นนำไปนึ่งอีกครั้งให้สุกดี ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เป็นอันเสร็จ

ราคาขาย “ห่อหมกพุดดิ้ง” นั้น อยู่ที่ถ้วยละ 29-35 บาท ซึ่งต่อ 10 ถ้วย ขายหมดก็จะได้ 290-350 บาท มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 250 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลกินเจ ห่อหมกพุดดิ้งนี้ก็สามารถทำแบบเจได้ด้วย โดยใช้เห็ดต่าง ๆ แทนเนื้อสัตว์ อาทิ เห็ดฟาง เห็ดเข็มทอง และเห็ดหอม

ชวินบุตรเปิดร้านห่อหมกพุดดิ้ง ข้าวแกงทวิตเตอร์ อยู่ที่ถนนเจริญนคร 28 แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เบอร์โทรศัพท์คือ 0-2860-1842 และ 08-6300-0613 ร้านเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. ใครสนใจชิมรสชาติก็แวะเวียนไปได้ ซึ่งการทำห่อหมกขายในรูปแบบนี้ ในพื้นที่อื่น ๆ ยังมีช่องว่างให้ลองดู.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=92649