Thursday, February 24, 2011

แนะนำอาชีพ 'การปลูกสตรอเบอรี่'

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งโครงการหลวงซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า มูลนิธิ โครงการหลวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารของพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ หยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา โดยหาพืชอื่นทดแทนให้ปลูกและช่วยยกระดับการครองชีพ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น โดยมีโครงการวิจัยสตรอเบอรี่เป็นหนึ่งในโครงการนี้ มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการนำสตรอ เบอรี่พันธุ์ต่าง ๆ เข้ามามากมาย เพื่อทดลองปลูกตามสถานีทดลองเกษตรที่มีระดับความสูงที่ต่างกัน รวมทั้งศึกษาเรื่องของโรคแมลง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการตลาด

ผลของความสำเร็จและข้อมูลที่ได้มาจากโครงการวิจัยสตรอเบอรี่นี้ได้นำไปใช้ใน งานส่งเสริมให้แก่ชาวไทยภูเขา รวมทั้งเกษตรกรพื้นราบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสตรอเบอรี่และต้นไหลด้วย ปัจจุบันสตรอเบอรี่จึงถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งที่ทำรายได้ค่อนข้างดี และให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วแก่เกษตรกรผู้ปลูกของทั้งสองจังหวัดนี้

และจากการศึกษาพบว่า ระบบการปลูกสตรอเบอรี่ ต้นไหลจะถูกบังคับให้เกิดการพัฒนาของตาดอกและเพื่อความแข็งแรงก่อนปลูก โดยการปล่อยให้ได้รับอุณหภูมิเย็นในเวลากลางคืนบนที่สูง ซึ่งจะทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าต้นไหลที่ผลิตบนพื้นราบ

สำหรับการปลูกบนพื้นราบนั้น หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ตอนปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ต้นไหลทั้งหมดที่ออกมาจะถูกปลูกลงในถุงพลาสติกเล็กที่บรรจุดินแล้วขนาด 3x5 ซม. และปล่อยให้เจริญเติบโตในแปลงจนกระทั่งเดือนมิถุนายน จึงขนขึ้นไปปลูกบนที่สูงประมาณ 1,200-1,400 เมตร เพื่อผลิตต้นไหลต่อไปซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม หลังจากที่ปล่อยให้ต้นไหลที่เจริญอยู่ในถุงพลาสติก และได้รับความหนาวเย็นบนที่สูงจนเพียงพอแล้วจะนำลงไปปลูกในแปลงพื้นราบ ประมาณ ต้นเดือนตุลาคม หากปลูกช้าเกินไปจะทำให้ผลผลิตออกช้าตามไปด้วย

ต้นไหลที่ผลิตได้จากบนที่สูงนี้จะสามารถตั้งตัว และออกดอกได้เร็วกว่า คือประมาณเดือนธันวาคม ปกติเกษตรกรจะใช้ระยะปลูก 30 x 40 ซม. สำหรับการปลูกแบบสองแถว และระยะปลูก 25 x 30 ซม. สำหรับการปลูกแบบสี่แถว จะใช้จำนวนต้นไหลทั้งหมดประมาณ 8,000-10,000 ต้นต่อไร่ การคลุมแปลงจะใช้ ฟางข้าว ใบตองเหียง หรือใบตองตึง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือร่วมกันก็ได้คลุมระหว่างแถวในแปลงยกร่อง ดอกแรกจะบานได้ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน และสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมในพื้นที่ปลูกของจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนจังหวัดเชียงรายซึ่งมีสภาพอากาศที่เย็นกว่าจะเก็บเกี่ยวต่อไปได้อีกจน ถึงเดือนเมษายน เมื่อถึงปลายฤดูการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น ต้นไหลที่เจริญออกมาก็จะถูกบังคับให้เจริญในถุงพลาสติกขนาดเล็กใส่ดิน เหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และเตรียมไว้ใช้เป็นต้นแม่สำหรับการขนขึ้นไปขยายบนที่สูงต่อไปเป็นวงจร เหมือนกันทุก ๆ ปี

สำหรับผลผลิตโดยรวมทั้งประเทศนั้นส่วนใหญ่ประมาณ 40% จะถูกขนส่งเข้าสู่ตลาดกรุงเทพมหานครเพื่อจำหน่ายเป็นผลสดอีก 40% จะส่งเข้าโรงงานเพื่อทำการแปรรูปจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายต่าง ประเทศ ส่วนที่เหลือ 20% จำหน่ายเป็นผลสด และแปรรูปในอุตสาหกรรมแบบครัวเรือนให้กับนักท่องเที่ยว ภายในท้องถิ่นนั้น ๆ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=673&contentID=123015

No comments: