Sunday, May 29, 2011

แนะนำอาชีพ “อาหารเมนูเห็ด”

“อาหารเมนูเห็ด” ผนวกพืชผักสมุนไพรต่าง ๆ ยุคนี้กำลังบูมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น แกงเห็ดสมุนไพร, แกงเห็ดรวมมิตรใบย่านาง นี่ก็เป็นอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ ที่เป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี สำหรับผู้ที่ทำขาย...

เสงี่ยม หรือที่ใคร ๆ เรียก ป้าเสงี่ยม ซึ่งทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ เล่าว่า เมื่อก่อนขายข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวกลอย ในตลาด อ.ต.ก. แต่เนื่องจากต้นทุนจำพวกข้าวเหนียว น้ำตาล กะทิ ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค้าขายไม่ค่อยได้กำไรคุ้มเหนื่อย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพทำอย่างอื่น
โดยส่วนตัวพอจะรู้ว่าเห็ดชนิดต่าง ๆ มีสรรพคุณช่วยล้างลำไส้ ล้างพิษ ป้องกันโรคมะเร็ง จึงเบนเข็มมาเอาดีทางนี้ ส่วนสูตรนั้นเป็นของคุณแม่ นำมาประยุกต์ ดัดแปลง ด้วยความที่เป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้วจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร ได้ประยุกต์และปรับปรุงสูตรเรื่อยมา จนมีสูตรเมนูเห็ดมากมาย อาทิ แกงเห็ดรวม ลาบเห็ด คั่วเห็ดสมุนไพร ต้มยำเห็ด ขนมจีนเห็ด แกงป่าเห็ด เห็ดทอดกรอบ ฯลฯ ซึ่งก็ขายดีทุกเมนูสำหรับเมนูเห็ดที่จะนำเสนอ ณ ที่นี้ คือ แกงเห็ดรวมมิตรใบย่านาง, ลาบเห็ด, คั่วเห็ดสมุนไพร ซึ่งเป็นเมนูที่ป้าเสงี่ยมนำไปออกร้านขายเป็นประจำ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ ก็ใช้อุปกรณ์ทำอาหารทั่ว ๆ ไป อาทิ เตาแก๊ส หม้อ กะละมัง ทัพพี มีด-เขียง ฯลฯ ซึ่งจะหาซื้อใหม่ หรือหยิบยืมใช้จากในครัวก็ได้
ป้าเสงี่ยมบอกว่า ปกติเห็ดที่ใช้จะมีกว่า 20 ชนิด ได้แก่ เห็ดฮังการี, เห็ดภูฏาน, เห็ดหยกดำ, เห็ดหยกขาว, เห็ดฟาง, เห็ดเป๋าฮื้อ, เห็ดขอนขาว, เห็ดหูหนู, เห็ดโคนหิมะ, เห็ดเผาะ, เห็ดตับเต่า, เห็ดหอม, เห็ดโคนญี่ปุ่น, เห็ดนางรม, เห็ดนางฟ้า, เห็ดนางรมญี่ปุ่น, เห็ดเข็มทองคำ, เห็ดเข็มทอง, เห็ดออรินจิ ซึ่งเห็ดเหล่านี้ส่วนมากหาซื้อที่ตลาดไท

บางชนิดก็ปลูกเอง เพื่อเป็นการลดต้นทุน

วิธีทำ สำหรับ แกงเห็ดรวมมิตรใบย่านาง นำเห็ดมาล้างให้สะอาด แกะ ฉีก หั่น ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ พักไว้ การทำแกงเห็ดรวมมิตรใบย่านาง ซึ่งเป็นเมนูเด็ดของร้านป้าเสงี่ยม ตามสูตรจะใช้เห็ดที่เตรียมไว้ประมาณ 500 กรัม เตรียมน้ำ 1 กก. แบ่งเป็นน้ำเปล่า 500 กรัม ที่เหลือเป็นน้ำใบย่านาง ส่วนการปรุงรส-เครื่องปรุง ใช้น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ, พริกขี้หนูปั่น 1 ช้อนโต๊ะ, หอมแดงซอย 2 ช้อนโต๊ะ, ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ เสริมด้วยฟักทองหั่น บวบหั่น ต้มนาน 20 นาที เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยชะอม ใบแมงลัก ผักหวานป่า ดอกขจร ดอกไม้จีน กระเจี๊ยบ ตามใจชอบ

ป้าเสงี่ยมบอกว่า เห็ดประมาณ 500 กรัม จะตักขายได้ประมาณ 3-4 ถุง ขายในราคาถุงละ 50 บาท

กรณีจะทำ ลาบเห็ด ใช้เห็ดลวกต้มประมาณ 3 กก. ยำกับหอมแดงซอย 500 กรัม ปรุงรสด้วยน้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ, เกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะ, ข้าวคั่ว 200 กรัม และน้ำมะนาว พริกตำ ตามใจชอบ โรยหน้าด้วยใบสะระแหน่ และผักชีฝรั่ง ตักขายถุงละ 50 บาทเช่นกัน

ส่วนการทำเห็ดคั่ว หรือ คั่วเห็ดสมุนไพร ใช้ขาเห็ด หอม 500 กรัม นำมาทุบ ต้มให้สุกมาก ๆ เสร็จแล้วบีบน้ำออก คั่วให้สุกในกระทะ พร้อมปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดง 100 กรัม และซีอิ๊วขาวเล็กน้อย เสร็จแล้วก็คั่วในกระทะอีก พร้อมตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า พริกขี้หนูหั่น คั่วให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ตักขายถุงละ 50 บาทเช่นกัน ซึ่งจากสัดส่วนวัตถุดิบนี้จะตักได้ 2-3 ถุง

ป้าเสงี่ยมบอกว่า จากราคาขาย “อาหารเมนูเห็ด” ทุกอย่าง เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว จะได้กำไรประมาณ 20% ขึ้นไป หากมีทำเลขายได้วันละมาก ๆ ก็นับว่าเป็นรายได้ที่น่าพิจารณา ซึ่งใครสนใจ แกงเห็ดรวมมิตรใบย่านาง และเมนูเห็ดต่าง ๆ ต้องการติดต่อป้าเสงี่ยม ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-5146-8771 ป้าเสงี่ยมยินดีให้คำปรึกษา.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=141620

Saturday, May 28, 2011

แนะนำอาชีพ "กระเป๋าสตางค์เค้ก"

งานแฮนด์เมดยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมให้กับผู้ทำ-ผู้ค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ตลาดเติบโตมาก และมีการแข่งขันกันสูง ดังนั้นสินค้าแฮนด์เมดก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดขายที่แตกต่าง อย่างงาน ’กระเป๋าสตางค์เค้ก“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้ ก็เป็นตัวอย่างสินค้าที่มีการสร้างความต่างให้สินค้าไม่เหมือนใคร ทำให้สินค้าน่าสนใจ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าเจ้าของไอเดียได้เป็นอย่างดี…


มะเหมี่ยว-ธนิสา ห้วยหงส์ทอง เป็นเจ้าของไอเดียที่คิดทำ “กระเป๋าสตางค์เค้ก” แบรนด์ ชมสไตล์ แฮนด์เมด บาย ธนิสา (chomstyle handmade by Thanisa) ออกมาจำหน่าย และสร้างรายได้เสริมได้อย่างดี โดยเจ้าของความคิดเล่าว่า ทำงานประจำเป็นเว็บดีไซน์อยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ส่วนงานกระเป๋าสตางค์เค้กตัวนี้ทำออกมาจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม โดยใช้เวลาว่างหรือวันหยุดสร้างผลงานขึ้นมาจำหน่าย เป็นการเพิ่มรายได้เข้ากระเป๋า

เริ่มมาจากต้องการหาอะไรทำเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ และเป็นคนชอบทำงานประดิษฐ์งานแฮนด์เมดมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ เพราะเป็นคนที่ชอบใช้ของที่ไม่เหมือนใคร แตกต่างจากคนอื่น จึงมักจะประดิษฐ์หรือดีไซน์สิ่งของขึ้นมาใช้เองเป็นประจำ แต่ในช่วงแรกที่เริ่มคิดทำอาชีพเสริมก็ยังไม่ได้จับงานกระเป๋าสตางค์ แต่ทำเป็นงานเย็บถักโครเชต์ แต่พอทำไปสักระยะเริ่มรู้สึกว่าไม่เข้ากับตัวเอง จึงเลิกล้มไป และก็พยายามหาอย่างอื่นทำ

หลังจากที่คิดหาช่องทางใหม่ทำอยู่สักพัก ก็ได้เจอหนังสือของต่างประเทศ เป็นหนังสือเกี่ยวกับงานประดิษฐ์ เป็นรูปเค้ก ขนมต่าง ๆ ก็เห็นว่าน่ารักดี จึงได้ไอเดีย คิดว่าน่าจะนำมาดัดแปลงทำอะไรได้ จนในที่สุดก็เกิดไอเดียนำมาประยุกต์

เมื่อคิดออกแล้วว่าจะทำงานอะไร ก็เริ่มศึกษาการเย็บเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต

“เราก็พอจะมีความรู้พื้นฐานด้านการเย็บอยู่บ้าง แต่ถ้าจะทำขายต้องทำให้งานออกมาดูดีสวยงาม จึงต้องศึกษาเพิ่มเติม และก็ปรึกษาคุณแม่ด้วย หลักจากศึกษาอยู่ระยะหนึ่งก็เริ่มทดลองทำ งานแรก ๆ ที่ทำออกมายังไม่สวย เบี้ยวไปเบี้ยวมา ก็ปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ไม่ดี จนในที่สุดก็ทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์ กระเป๋าเป็นทรงไม่บิดเบี้ยว”

เริ่มแรกก็ยังไม่ได้ทำขายเลย แต่ทำใช้เอง พอเพื่อน ๆ เห็นแล้วชอบก็สั่งทำบ้าง และจากการบอกต่อ ปากต่อปาก สินค้าก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นจึงเริ่มทำออกจำหน่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต

“งานกระเป๋าเค้ก เป็นงานที่ยังไม่มีใครทำ งานไม่เหมือน ไม่ซ้ำใคร” เจ้าของไอเดียกล่าว

วัสดุอุปกรณ์ในการทำหลัก ๆ ก็มี... ผ้าสักหลาด, ใยโพลีเอสเตอร์, เข็ม, ด้าย, กาวยาง, ดินสอ เป็นต้น ที่ใช้ผ้าสักหลาดก็เพราะว่าผ้าสักหลาดเป็นผ้าที่มีความนุ่ม เป็นขนฟู เวลาทำออกมาจะดูสวย การเลือกซื้อผ้าควรซื้ออย่างน้อยประมาณ 10 สี ด้ายที่ใช้ก็ต้องมีหลายสี ซึ่งเวลาเย็บจะต้องใช้ด้ายสีเดียวหรือกลมกลืนกับผ้า

ขั้นตอนการทำกระเป๋าเค้ก...เริ่มจากวาดแพตเทิร์นกระเป๋าตามทรงที่ต้องการลง บนกระดาษ อาจจะเป็นทรงกลม สามเหลี่ยม หรือรูปหัวใจ เป็นต้น โดยขนาดนั้น กว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร จากนั้นก็ตัดแพตเทิร์นตามรูปที่วาดไว้ นำแพตเทิร์นไปวางทาบลงบนผ้าสักหลาด ซึ่งเลือกสีผ้าตามต้องการ ทำแบบไว้ 3 ชิ้น จากนั้นก็ตัดผ้าตามแบบที่วาดไว้ ตัดให้เผื่อขอบไว้สำหรับเย็บประมาณ -1 เซนติเมตร ตัดออกมา 2 ชิ้น อีก 1 ชิ้นให้ตัดพอดีแบบ

จากนั้นนำผ้าที่ตัดออกมา 2 ชิ้น มาทำการประกบกันให้ด้านหน้าผ้าเข้าหากัน ทำการเย็บตามเส้นให้เรียบร้อย เย็บให้เหลือช่องใส่ซิบไว้ หลังจากที่เย็บเรียบร้อยก็ทำการกลับเอาด้านในออกมาด้านนอก จากนั้นก็นำซิปใส่ในช่องที่เว้นไว้แล้วทำการเย็บติดให้เรียบร้อย อย่าลืมว่าด้ายที่ใช้เย็บนั้นจะต้องใช้ด้ายที่มีสีเดียวกันกับสีของผ้าด้วย

เมื่อทำการเย็บกระเป๋าเรียบร้อย ก็นำแบบผ้าที่ตัดไว้อีกชิ้นหนึ่งมาวางไว้ด้านบนด้านไหนก็ได้ที่เป็นด้านที่ ต้องการให้เป็นด้านหน้า ใช้ด้ายเย็บติดกันให้เหลือช่องไว้สำหรับยัดใยโพลีเอสเตอร์ เย็บเสร็จก็นำใยโพลีเอสเตอร์ยัดใส่เข้าไปพอประมาณในช่องที่เว้นไว้ จากนั้นก็เย็บปิดช่องให้เรียบร้อย

ต่อไปทำรูปผลไม้ต่าง ๆ สำหรับแต่งหน้ากระเป๋า เช่น ส้ม กีวี แตงโม แอปเปิ้ล บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ สับปะรด ฯลฯ ตัดผ้าตามสีของผลไม้เพื่อให้เหมือนจริง อย่างส้มก็ใช้ผ้าสีส้ม ตัดให้เป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร พับครึ่ง เย็บให้เว้นช่องไว้ยัดใยโพลีเอสเตอร์ เมื่อเย็บเสร็จก็กลับด้านยัดใยโพลีเอสเตอร์ เย็บปิดให้เรียบร้อย จากนั้นตัดผ้ามาติดขอบปิดรอยให้เรียบร้อยโดยใช้กาวยางยึดให้แน่น ตกแต่งให้ดูคล้ายของจริงมากขึ้น

เมื่อได้ผลไม้ต่าง ๆ แล้วก็นำผลไม้ประมาณ 4-5 ชนิดมาเย็บติดลงด้านบนกระเป๋า เย็บเก็บด้ายให้ดูเรียบร้อย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

การทำ ’กระเป๋าสตางค์เค้ก“ นั้นลงทุนไม่สูง ใช้เงินทุนเบื้องต้นประมาณ 2,000 บาท ต้นทุนการทำก็ตกอยู่ที่ใบละประมาณ 20 บาท ทำขายได้ในราคาใบละ 59 บาท ถ้าใครสั่งซื้อมาก ๆ ไปจำหน่ายต่อตั้งแต่ 1 โหลขึ้นไป ก็จะได้ราคาใบละ 40 บาท โดยชิ้นงานของมะเหมี่ยวมีอยู่ 4 รูปแบบคือ รูปหัวใจ กลม สามเหลี่ยมพิซซ่า และสามเหลี่ยมมน


สำหรับผู้ที่สนใจงานลักษณะนี้ ต้องการติดต่อมะเหมี่ยว จะสั่งออร์ เดอร์ไปจำหน่ายต่อ โทรศัพท์ไปพูดคุยสอบถามได้ที่ โทร.08-1412-0906 หรือคลิกเข้าไปดูสินค้าเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.chomstyle.com ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่างสินค้าที่มีการสร้างความต่าง ทำให้สินค้าน่าสนใจ จนสร้างรายได้ กลายเป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=141432

Sunday, May 22, 2011

แนะนำอาชีพ 'ข้าวห่อใบบัว'

สมัยนี้หากจะหาอาหารโบราณรสชาติอร่อยถูกปากอาจจะหายากอยู่สักหน่อย เพราะอาหารโบราณแต่ละอย่างล้วนค่อนข้างมีขั้นตอนยุ่งยากในการทำและต้องพิถี พิถันในการเลือกสรรวัตถุดิบ อย่าง “ข้าวห่อใบบัว” ก็เป็นเมนูโบราณที่หารับประทานยากในยุคปัจจุบัน หากจะรับประทานต้องไปหาซื้อตามแหล่งเฉพาะ หรือตามตลาดที่มีอาหารไทยโบราณ ซึ่งที่ตลาดน้ำบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ก็มีอยู่เจ้าหนึ่ง เป็นสูตรโต๊ะจีนโบราณ และเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา

จากความคิดที่ต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหาร พลิกฟื้นเมนูอาหารไทย-จีน ให้คนรุ่นใหม่รู้จัก ทิพวรรณ สกุลเรืองศรี หรือ “เจ๊อ๊อด” ได้ทำ “ข้าวห่อใบบัว” สูตรโต๊ะจีน ออกขาย เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ตลาดน้ำบางคล้าเปิดแรก ๆ ก็มีการสำรวจคนที่จะไปขายของว่าใครจะขายอะไรบ้าง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมตลาดน้ำบางคล้า และเพราะเธอเป็นคนพื้นเพที่นี่ ก็คิดอยากอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารโบราณ และเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก พอดีพี่ชายทำธุรกิจรับจัดโต๊ะจีน เมนูอาหารในโต๊ะก็มีข้าวห่อใบบัวเป็นนางเอกรวมอยู่จึงได้ไอเดียตรงนี้มา ประกอบการตัดสินใจ

“ตัดสินใจทำข้าวห่อใบบัวขายทันที ยังไงก็ขายได้ เพราะไม่มีร้านไหนทำขาย คู่แข่งน้อย เป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ห่อด้วยใบบัวมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่สำคัญไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เป็นสินค้าที่ดึงดูดลูกค้าได้ดี ลูกค้าบางคนไม่เคยรู้จักข้าวห่อใบบัวมาก่อน แต่เพราะหน้าตาที่ดูน่ารับประทาน รสชาติอร่อย จึงบอกปากต่อปากจนมีลูกค้าขาประจำจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่นิยมซื้อคนละหลาย ๆ ห่อเพื่อนำไปเป็นของฝาก สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้หลายวัน เมื่อจะรับประทานก็เอามาอุ่นในไมโครเวฟ รสชาติเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, กระทะ, ตะหลิว, กะละมังสเตนเลส หลาย ๆ ขนาด, ลังถึงนึ่ง, ถาด และเครื่องมือเครื่องไม้เบ็ดเตล็ดอย่างอื่นที่สามารถหยิบยืมได้จากในครัว

สำหรับวัตถุดิบ-ส่วนผสมในการทำข้าวห่อใบบัว ก็หาซื้อได้จากตลาดสดทั่วไป หลัก ๆ ก็มี ข้าวขาวเสาไห้, เผือกทอด, เม็ดบัวต้ม, กุ้งแห้งทอด, กุนเชียงทอด, เนื้อหมูหมัก, ไข่แดงไข่เค็ม, น้ำมันพืช, พริกไทย และน้ำซอสที่ใช้คลุกเคล้ากับข้าวสวย มีส่วนผสมของน้ำมันหอย ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว น้ำตาล และผงปรุงรส

ขั้นตอนการทำ “ข้าวห่อใบบัว” สูตรโต๊ะจีน เริ่มจากนำเนื้อหมูมาหั่นเป็นชิ้นขนาดตามต้องการ หมักกับซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย ผงปรุงรส และพริกไทยป่น คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปหมักในตู้เย็นสักครู่

ทำการหุงข้าวเตรียมไว้ นำกุนเชียงไปทอดแล้วหั่น ส่วนไข่แดงไข่เค็มนั้นผ่าเป็นสองซีก ปอกเปลือกเผือกล้างสะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้น นำไปทอดแล้วพักไว้ และกุ้งแห้งนำไปทอดเตรียมไว้ เม็ดบัวก็นำไปต้มเตรียมไว้

เมื่อส่วนผสมทุกอย่างพร้อม ก็นำเอาข้าวที่หุงสุกแล้ว มาคลุกเคล้ากับน้ำซอสปรุงรสให้ทั่ว ตั้งกระทะ พอน้ำมันร้อนนำหมูหมักลงไปผัดให้หอม ตามด้วยข้าวที่เคล้าซอสใส่ลงไปผัดพร้อมกับเผือกทอด กุ้งแห้งทอด และเม็ดบัวต้ม ผัดทุกอย่างให้เข้ากัน ปรุงรสให้กลมกล่อมด้วยพริกไทย น้ำตาลและเกลือ เสร็จแล้วยกลง

ต่อไปเป็นขั้นตอนการห่อข้าว วางใบบัวหลวงซ้อนกันในถ้วย (ห่อละ 2 ใบ) จากนั้นเลือกตักส่วนผสมลงไปก่อน เพื่อโชว์ เช่น เนื้อหมู เผือก กุนเชียง กุ้งแห้ง และไข่แดงไข่เค็ม แล้วจึงตักข้าวผัดซอสใส่ตามลงไปปิดท้าย จากนั้นห่อใบบัวให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ห่อให้แน่น ก่อนจะนำไปนึ่งในลังถึงที่ตั้งไฟรอจนน้ำเดือด ประมาณ 20 นาที ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

เวลาจะรับประทานข้าวห่อใบบัว ก็จะนำกรรไกรหรือมีดมาตัดที่ใบบัวเป็นรูปกากบาท เพื่อให้ทานง่าย

เคล็ดลับความอร่อย เจ๊อ๊อด บอกว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่เมล็ดข้าวที่สุกพอดี อย่าดิบ และอย่าแข็งเกินไป และต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด พิถีพิถันทุกขั้นตอนในการทำ ใบบัวที่ใช้ห่อก็ต้องใช้ใบบัวหลวง ทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน

ราคาขาย “ข้าวห่อใบบัว” ห่อละ 35 บาท มีต้นทุนประมาณ 60%

“ข้าวห่อใบบัว” เจ้านี้ขายที่ตลาดน้ำบางคล้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือถ้าเป็นวันธรรมดาก็ไปแวะเวียนเยี่ยมร้านเจ๊อ๊อดได้ที่ บ้านเลขที่ 94/103 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ต.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โทร.08-0249-8289 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษาการนำเมนูอาหารโบราณมาสร้างรายได้ กลายเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=140191

Friday, May 20, 2011

แนะนำอาชีพ 'คัพเค้กผ้าขนหนู'

หยิบจับดัดแปลงและปรับใช้ ยังเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้มีอาชีพงานประดิษฐ์ยังต้องทำความเข้าใจและใส่ใจใน รายละเอียดอยู่ ซึ่งหากเข้าใจก็สามารถนำไปใช้คิดสินค้าใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างความแตกต่าง สร้างสรรค์จุดขายได้อย่างดี อย่างเช่นงาน ’คัพเค้กผ้าขนหนู“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากันในวันนี้...

“จิระวดี วันจันทร์ศิริ” เจ้าของงานไอเดียแปลกแหวกแนว เล่าว่า เรียนจบทางด้านศิลปกรรมมานาน แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้วิชา จนต่อมาต้องแต่งงานจึงคิดหาของที่ระลึก-ของชำร่วยเพื่อแจกให้แขกในงานแต่ง งานของตนเอง เนื่องจากอยากได้ของที่ระลึก ของชำร่วยที่ตรงกับที่ตนเองต้องการ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบทานขนมเค้กมาก จึงติดใจในรูปแบบและความน่ารักของขนมเค้ก โดยเฉพาะ “คัพเค้ก” เค้กที่มีลักษณะเป็นถ้วย ๆ จึงพยายามคิดดัดแปลงและทำจนสำเร็จ ปรากฏว่าเพื่อนฝูงและคนสนิทชอบ และมาติดต่อให้ช่วยทำ “คัพเค้กผ้าขนหนู” เพื่อจะนำไปเป็นของชำร่วย จึงคิดว่าน่าจะพัฒนาและต่อยอดทำเป็นอาชีพได้ จึงทำจำหน่ายเรื่อยมา โดยทำมาประมาณ 2 ปีแล้ว ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี

“เริ่มแรกไม่ได้ทำขาย ทำไว้สำหรับแจกในงานแต่งงานของตัวเองเท่านั้น ปรากฏว่าแขกที่มาร่วมงานชอบ ต่อมาก็เลยมีการติดต่อให้ช่วยทำ จากจุดนั้นก็ขยายวงกว้างออกมาเรื่อย ๆ จนยึดทำเป็นอาชีพในปัจจุบัน” เจ้าของชิ้นงานกล่าว

สำหรับแรงบันดาลใจและไอเดีย จิระวดีขยายว่า นอกจากจะเป็นคนที่ชอบทานขนมเค้กมากแล้ว ยังชอบที่รูปทรงกับสีสันของภาชนะที่นำมาใส่หรือจัดวางเค้กอีกด้วย เนื่องจากมีสีสันและรูปทรงที่หลากหลาย น่ารัก จึงคิดว่าหากนำวัสดุที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ อย่าง “ผ้าขนหนู” ผืนเล็ก ๆ นำมาประดิษฐ์ให้แทนเนื้อเค้กจริง ๆ ก็น่าจะเป็นไอเดียที่ดี และสร้างความแตกต่างจากสินค้าประเภทของชำร่วยที่มีอยู่ในตลาดได้ จึงเกิดเป็น “คัพเค้กผ้าขนหนู” อย่างที่เห็น โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “ต้นกล้า” และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ http://tonklafavors.weloveshopping.com ซึ่งปัจจุบันมีทั้งลูกค้าตรง คือคู่วิวาห์ และลูกค้าที่เป็นบริษัทรับจัดงานแต่งงาน รวมถึงลูกค้าที่มารับสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง...

“ตลาดตอนนี้ถือว่าไปได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คนไทยนิยมจัดงานแต่งงาน อาทิ ช่วงปลายปี โดยลูกค้าจะมีหลากหลายกลุ่ม แต่ที่เห็นชัดเจนคือลูกค้าคู่วิวาห์จะมีเพิ่มมากขึ้นจากแต่ก่อน อาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป และลูกค้าปัจจุบันต้องการของชำร่วยที่แตกต่างออกไปจากสินค้าทั่ว ๆ ไปที่มีอยู่ในตลาด”

รูปแบบของ “คัพเค้กผ้าขนหนู” นั้น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 40 แบบ และยังสามารถต่อยอดพัฒนางานออกไปได้อีกเรื่อย ๆ โดยสินค้าที่ลูกค้านิยมส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบอย่าง ขนมคัพเค้ก, เค้กสามเหลี่ยม, แยมโรล เป็นต้น

ทุนเบื้องต้นอาชีพ ใช้งบประมาณลงทุนราว 2,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งสินค้านั้นราคาตั้งแต่ชิ้นละ 15 บาท ไปจนถึง 200 บาท ขึ้นอยู่กับรายละเอียดและความยากง่ายของชิ้นงานเป็นสำคัญ

วัสดุและอุปกรณ์ในการทำ “คัพเค้กผ้าขนหนู” หลัก ๆ ที่จำเป็น ประกอบด้วย ผ้าขนหนูสีสันต่าง ๆ, ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ สำหรับใส่เบเกอรี่, ดอกไม้ประดิษฐ์ หรือวัสดุตกแต่ง, กระดาษสา, ปืนยิงกาวซิลิโคน และเครื่องมือในงานประดิษฐ์ อาทิ กรรไกร คัตเตอร์ เข็ม-ด้าย เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากคิดแบบ โดยอาจร่างแบบลงบนกระดาษก่อน เพื่อกำหนดว่าจะเลือกใช้ผ้าขนหนูกี่ผืนต่อ 1 ชิ้นงาน จากนั้นเลือกภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้ โดยเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของชิ้นงานหรือผ้าขนหนูที่จะใส่เข้าไป เมื่อเลือกและกำหนดแบบได้แล้ว เริ่มจากการนำผ้าขนหนูที่เตรียมไว้มาทำการม้วนให้ครบวงรอบ จากนั้นจึงจับจัดวางลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้ โดยไม่ต้องยึดกาว แต่ต้องระวังอย่าให้ชิ้นงานหลวมหรือแน่นจนเกินไป

ขั้นตอนต่อมา นำวัสดุตกแต่งที่เตรียมไว้มาประดับลงบนผ้าขนหนูซึ่งใช้แทนเนื้อเค้ก นำปืนกาวยิงยึดติดส่วนประกอบของวัสดุตกแต่ง ส่วนการทำวิปปิ้งครีมเทียมนั้น เจ้าของชิ้นงานเผยว่า เลือกใช้กระดาษสา โดยนำมาขยำหรือจับให้เป็นก้อน ๆ คล้ายกับวิปปิ้งครีม และใช้ปืนกาวยิงเพื่อยึดติด ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“การทำมีขั้นตอนไม่มาก และไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังและความประณีตพอสมควร จุดเด่นอีกอย่างของชิ้นงานที่ผลิตขึ้นคือเรื่องรายละเอียดและคุณภาพ เพราะเราเป็นร้านเล็ก ๆ ดังนั้นเรื่องคุณภาพจึงสำคัญ เพราะจะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น และช่วยกันบอกแบบปากต่อปาก ซึ่งถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้ร้านเราทางอ้อม” เจ้าของงานไอเดีย “คัพเค้กผ้าขนหนู” ระบุ

ใครสนใจชิ้นงาน ต้องการติดต่อเจ้าของงานไอเดีย ’คัพเค้กผ้าขนหนู“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2980-0232, 08-9275-4004 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกงานไอเดียที่กล้าที่จะแหวกแนวสร้างความแตกต่าง จนเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ได้อย่างดี.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=139979

Saturday, May 14, 2011

แนะนำอาชีพ “กระเบื้องทะเล”

“กระเบื้องทะเล” เป็นเมนูอาหารทานเล่น ๆ ที่มักจะอยู่ในเมนูร้านอาหารทั่วไป ซึ่งถ้าจะลองนำมาทำขายเดี่ยว ๆ ก็ได้ และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีสูตรกระเบื้องทะเลอร่อย ๆ ของร้านอาหารริมน้ำชื่อร้าน “ครัวริมนที” มาฝากให้ลองพิจารณากัน และแถมด้วยสูตร “ยำเห็ดเข็มทองกุ้งสด” ที่ใครจะลองทำขายคู่กับกระเบื้องทะเล ก็เข้าที...

กบ-อรวรรณ กล่อมเกลี้ยง เป็นเจ้าของร้านครัวริมนที เจ้าตัวเป็นคนที่ชอบทานชอบชิมอาหารหลากหลาย ประกอบกับอยากมีธุรกิจของตนเอง จึงเปิดร้านอาหารที่บ้าน ซึ่งพอจะมีพื้นที่ อีกทั้งยังมีบรรยากาศที่ดี เพราะอยู่ติดริมน้ำ

“ตอนเริ่มเปิดร้านใหม่ ๆ ใช้วิธีวิ่งเข้าหาลูกค้าโดยการแจกใบปลิวโปรโมตร้าน ร้านเรา เป็นร้านไม่ใหญ่ แต่มีบรรยากาศริมน้ำ นั่งสบาย เป็นร้านอาหารไทย มีเมนูหลากหลาย ทั้งไทย จีน อีสาน และยังรับจัดเลี้ยงงานบุญต่าง ๆ ด้วย”

สำหรับเมนู “กระเบื้องทะเล” กบบอกว่า ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ลูกค้ามักจะสั่งทาน โดยการทำนั้น วัตถุดิบที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... เนื้อกุ้ง, เนื้อปลากราย, มันหมู, แป้งเปาะเปี๊ยะ ส่วนเครื่องปรุงรสก็มี... พริกไทย, เกลือ, น้ำตาล, ซีอิ๊วขาว โดยการที่ผสมเนื้อปลากรายนั้นเพื่อทำให้เนื้อเหนียวนุ่มมากขึ้น ส่วนมันหมูนั้นก็เป็นตัวช่วยทำให้ไม่กระด้างวิธีการทำตามสูตรนั้นเริ่มจาก นำเนื้อกุ้งประมาณ 2 กิโลกรัม เนื้อปลากรายประมาณ 1 กิโลกรัม และมันหมูประมาณ 3 ขีด มาทำการสับหรือปั่นให้ละเอียดก่อน จากนั้นก็นำเนื้อทั้ง 3 อย่างนี้ใส่รวมกันลงในกะละมัง แล้วก็ปรุงรสชาติตามต้องการด้วย พริกไทย เกลือ น้ำตาล และซีอิ๊วขาว เมื่อใส่ทุกอย่างลงผสมกันเรียบ ร้อยแล้วก็ใช้มือนวดโดยต้องใช้แรงค่อนข้างมากหน่อย เพื่อให้เนื้อกุ้ง ปลากราย มันหมู ผสมผสานเข้ากันเป็นเนื้อเดียว และเครื่องปรุงรสซึมผ่านเข้าเนื้อจนทั่ว ทำการนวดไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมเข้ากันดี จนมีความเหนียวเนียนนุ่ม ใช้เวลาประมาณ 1/2 ชั่วโมง ก็พร้อมใช้

ส่วนผสมนี้สามารถซีลเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อรอใช้ได้ประมาณ 2 วัน ไม่ควรเกินจากนี้

ต่อไปเป็นการห่อ เมื่อมีส่วนผสมที่พร้อมใช้แล้ว ก็นำแป้งทำเปาะเปี๊ยะแผ่นใหญ่มาหนึ่งแผ่น วางเป็นแผ่นรองด้านล่าง จากนั้นก็ตักส่วนผสมที่นวดไว้มาใส่ลงบนแผ่นแป้งประมาณ 1 ขีด เกลี่ยให้ทั่วแผ่นแป้ง แล้วก็นำแผ่นแป้งอีกแผ่นมาประกบทับลงไป ใช้ปลายมีดตบ ๆ เบา ๆ ให้แน่นติดกัน (ไม่ควรให้เนื้อหนาเกินไปเพราะทอดออกมาแล้วจะไม่กรอบ)

หลังจากห่อเรียบร้อยก็ใช้ปลายมีดแหลม ๆ เจาะรูให้ทั่วแผ่นก่อนจะนำไปทอด เวลาทอดแล้วเนื้อข้างในจะได้สุกทั่วทั้งแผ่น การทอดนั้นใช้ไฟแรงปานกลาง ตั้งน้ำมันให้ร้อนจัดจนเดือด จากนั้นก็ปรับไฟลงมาเล็กน้อย แล้วก็ใส่แผ่นแป้งที่เตรียมไว้ลงทอดให้น้ำมันท่วมแผ่น ใช้เวลาทอดประมาณ 3-4 นาที ดูว่าแผ่นแป้งเป็นสีเหลืองทองก็ใช้ได้ ตักขึ้นมาพักให้สะเด็ดน้ำมัน ใช้มีดหั่นแบ่งเป็นชิ้น ๆ เป็นลักษณะคล้ายกระเบื้อง ก็พร้อมขายพร้อมเสิร์ฟ คู่กับน้ำจิ้มบ๊วย

เมนู “กระเบื้องทะเล” ของร้านนี้ ราคาขาย 16 ชิ้น 100 บาท ซึ่งแผ่นแป้ง 1 แผ่นหั่นแบ่งได้ 8 ชิ้น จากส่วนผสมที่นวดผสมไว้ราว 3 กิโลกรัม มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 1,000 บาท สามารถนำมาทำเมนูนี้ได้ประมาณ 15 ชุด ขายชุดละ 100 บาท ขายหมดก็จะมีรายได้ประมาณ 1,500 บาท ได้กำไรประมาณ 500 บาท หรือกำไรประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์

เจ้าของร้านยังบอกอีกว่า ส่วนผสมที่ใช้ทำเมนูกระเบื้องทะเลนี้ ทำได้อีกหนึ่งเมนูคือ “ทอดมันกุ้ง” เพราะใช้ส่วนผสมเดียวกัน โดยการทำก็แบ่งเนื้อกุ้งที่นวดผสมไว้เป็นก้อน ใช้นิ้วเจาะให้เป็นรูตรงกลางเป็นลักษณะโดนัท (เวลาทอดจะได้สุกทั่ว) นำไปคลุกกับเกล็ดขนมปัง แล้วทอดประมาณ 5-6 นาที ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน ก็จะได้เป็นทอดมันกุ้ง

เมนูทอดมันกุ้งนี้ ราคาขาย 5 ชิ้น 100 บาท

แถมด้วยสูตร “ยำเห็ดเข็มทองกุ้งสด” อีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยม วัตถุดิบหลัก ๆ ก็มี... เห็ดเข็มทอง, กุ้งสด, ตั้งโอ๋สด, ต้นหอม, หอมแดง ส่วนเครื่องปรุงรสก็มี.. พริกขี้หนูสวน, มะนาว, น้ำปลา, น้ำเชื่อมวิธีทำก็เริ่มจาก... นำเห็ดเข็มทองประมาณ 2 ขีด และกุ้งกุลาขาวตัวขนาดกำลังดี 8 ตัว มาทำการลวกน้ำร้อนให้สุก ตักขึ้นมาพักไว้ แต่เห็ดเข็มทองที่ลวกแล้วจะต้องทำการบีบน้ำให้ออกจากเห็ดให้หมดก่อนจะนำไปยำ เพราะถ้าไม่เอาน้ำออกเวลานำไปยำแล้วน้ำที่อยู่ในเห็ดจะทำให้รสชาติของยำนั้น เสียรส

การปรุงน้ำยำก็ใส่มะนาว น้ำปลา น้ำตาลทรายเล็กน้อย และพริกขี้หนูสวนทุบพอหยาบ ลงในภาชนะที่ใช้ปรุงน้ำยำ ต้องการรสชาติแบบไหนก็ปรุงตามต้องการ คลุกให้เข้ากัน ใส่หอมแดง ต้นหอม ตั้งโอ๋สดหั่น ผสมลงไป คลุกเคล้าสักพักจึงค่อยนำเห็ดเข็มทองที่ลวกแล้วลงคลุกให้ทั่ว ตักใส่จาน นำกุ้งที่ลวกไว้แล้วมาวางเรียงให้สวยงาม พร้อมขาย-พร้อมเสิร์ฟเมนูยำเห็ดเข็มทองกุ้งสดนี้ ราคา 80 บาท


ร้านครัวริมนทียังมีเมนูเด็ด ๆ อีกหลายอย่าง ที่ลูกค้านิยมมาก ๆ ก็เป็นพวกเมนูปลา เช่น เมี่ยงปลาช่อน, ปลาม้าผัดพริกไทยดำ, ปลาคังผัดฉ่า ต้มยำปลาคัง, ต้มยำปลาม้า ฯลฯ ร้านนี้อยู่ที่ลาดกระบังซอย 1 เลี้ยวเข้าซอยจนถึงวัดลานบุญ เลี้ยวขวาก็เจอร้าน เบอร์โทรศัพท์ร้านคือ 0-2727-9739 ร้านเปิดตั้งแต่เวลา 10.30-22.30 น. ทุกวัน ทั้งนี้ สำหรับเมนู “กระเบื้องทะเล” และ “ยำเห็ดเข็มทองกุ้งสด” นั้น ใครจะลองนำสูตรไปฝึกทำขาย ก็ลุยกันเลย !!

คู่มือลงทุน..กระเบื้องทะเล

ทุนอุปกรณ์ ขึ้นกับรูปแบบการทำขาย

ทุนวัตถุดิบ ไม่เกิน 65% ของราคาขาย

รายได้ ราคาขาย 100 บาท / 16 ชิ้น

แรงงาน 1 คนขึ้นไป

ตลาด ร้านอาหาร, ทำขายทั่วไป

จุดน่าสนใจ เมนูกินเล่นทำง่าย-ขายไม่ยาก

บดินทร์ ศักดาเยี่งยงค์

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=138759

แนะนำอาชีพ 'กล่องหุ้มผ้า'

การประดิษฐ์ตกแต่งกล่องกระดาษให้สวยงาม ก็สามารถเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ได้ โดยใช้ความชอบ ฝีมืองานประดิษฐ์ และความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเลือกของเหลือใช้มาทำได้ อย่างผู้ที่สร้างชิ้นงาน ’กล่องหุ้มผ้า“ รายนี้...

วิไลพร เอี่ยมวุฒิกร หรือ ครูโอ๋ วิทยากรประจำร้านคันทรี่ ฮอบบี้ (Country Hobby) เจ้าของงาน “กล่องหุ้มผ้า” ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์และมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ขั้นตอนการทำนั้นเรียกได้ว่าเป็นงานประดิษฐ์จากฝีมือเป็นหลัก โดยครูโอ๋เล่าว่า เดิมมีอาชีพหลักอยู่แล้ว แต่ด้วยความชอบและมีใจรักในงานประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำ “กล่องหุ้มผ้า” ขาย และสอนทำ ซึ่งก็ยึดเป็นอาชีพหลักได้มาจนถึงปัจจุบันนี้

“การได้ทำในสิ่งที่ชอบ และยังสร้างรายได้ให้อีก นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่เติมเต็มในชีวิต ทุกวันนี้ไม่รู้สึกว่าทำงานเลย ในการทำกล่องแต่ละครั้งจะรู้สึกเพลิดเพลินมาก บางครั้งถึงขนาดทำถึงเช้าได้เลย” เจ้าตัวบอก

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ในการทำกล่องหุ้มผ้า 1 กล่อง ประกอบด้วย กระดาษแข็ง 1 แผ่น (ขนาดใหญ่ หนา 3 มิลลิเมตร) ราคาแผ่นละ 36 บาท, กระดาษแข็ง 1 แผ่น (ขนาดใหญ่ หนา 1 มิลลิเมตร) ผ้าคอตตอนลายน่ารัก 1 เมตร, ไม้หนีบผ้า 2 แผง ราคาแผงละ 18 บาท, กาวพีบีเอ (PBA), แปรงทากาว, คัตเตอร์, กรรไกร, ไม้บรรทัด, แผ่นรองตัดกระดาษ, ริบบิ้นผ้าลูกไม้ และอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่สวยงามตามความชอบ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ สามารถหาได้ง่าย ๆ บางบ้านอาจหาได้จากในบ้าน เพราะเป็นของใช้ประจำบ้านอยู่แล้ว แต่ผ้าที่จะนำมาห่อกล่องนั้นจะมีราคาแพงมากกว่าวัสดุชิ้นอื่น ๆ ยิ่งถ้าเป็นผ้าของญี่ปุ่นจะมีราคาแพงมาก สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดสำเพ็ง

ขั้นตอนการทำกล่องหุ้มผ้า เริ่มจากตัวกล่องด้านนอก ให้ตัดกระดาษแข็งแผ่นใหญ่ 1 แผ่น ขนาดหนา 3 มิลิเมตร เป็น 6 ชิ้น แบ่งเป็นขนาด 25 x 30 เซนติเมตร 2 ชิ้น (สำหรับก้นกล่อง และฝากล่อง) และขนาด 8 x 25 เซนติเมตร อีก 4 ชิ้น (สำหรับด้านข้างกล่อง) จากนั้นเริ่มต้นด้วยการประกอบตัวกล่องก่อน โดยทากาวที่สันกระดาษแข็งสำหรับด้านข้างกล่องทั้ง 4 ชิ้น วางลงบนกระดาษแข็งสำหรับก้นกล่องทั้ง 4 ด้านขึ้นมา ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสักพัก ก็จะได้ตัวกล่อง

ต่อไปตัดผ้าให้ได้ความยาวรอบตัวกล่อง โดยให้ผ้ามีขนาดกว้างกว่าด้านกว้างของกล่องประมาณ 2 เซนติเมตร จากนั้นทากาวลงบนผ้า แปะผ้าลงบนด้านข้างของกล่องโดยรอบ ส่วนเกินของผ้าให้พับเข้าด้านในตัวกล่องและพับบนก้นกล่องด้านละ 1 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม ให้ทิ้งชายส่วนบนของด้านกว้างกล่องไว้ 1 ด้าน สำหรับเชื่อมกับตัวกล่อง

สำหรับฝากล่อง ให้ตัดฟองน้ำใยโพลีเอสเตอร์สีขาว ขนาด 25 x 30 เซนติเมตร จำนวน 2 ชิ้น ทากาวบนฝากล่อง แปะลงฟองน้ำบนฝากล่อง 2 ครั้ง เพื่อความหนาและนุ่ม ซึ่งสำหรับผ้าฝากล่องนั้น ให้ตัดขนาด 28 x 34 เซนติเมตร ทากาวลงบนฟองน้ำ แปะผ้าลงไป ดึงผ้าให้เรียบ พับมุมให้เรียบร้อย พยายามให้ผ้าของฝากล่องด้านกว้างด้านใดด้านหนึ่ง มีขนาดยื่นออกไป 1.5 นิ้ว โดยไม่ต้องพับมุม เพราะจะใช้ผ้าด้านนั้นเป็นตัวเชื่อมต่อกับตัวกล่อง

เสร็จแล้วหนีบด้วยไม้หนีบผ้าทุกด้าน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 15 นาที ตัวซับในกล่อง ใช้กระดาษแข็งแผ่นใหญ่ หนา 1 มิลลิเมตร ตัดเป็น 7 ชิ้น ขนาด 25 x 30 เซนติเมตร 3 ชิ้น (สำหรับฝากล่องด้านล่าง ก้นกล่องด้านบน ก้นกล่องด้านล่าง) และขนาด 8 x 25 เซนติเมตร 4 ชิ้น (สำหรับด้านในกล่อง)

ตัดผ้าขนาด 12 x 29 เซนติเมตร 4 ชิ้น และ 29 x 34 เซนติเมตร 2 ชิ้น ทากาวลงบนกระดาษ และแปะผ้าตามขนาดให้ครบ พับมุมให้เรียบร้อยเตรียมไว้ จากนั้นแปะกระดาษหุ้มผ้าชิ้นเล็กด้านในกล่องทั้ง 4 ด้านให้เรียบร้อย หนีบด้วยไม้หนีบผ้ายึดไว้ไม่ให้หลุด ด้านละ 3-4 ตัว แปะกระดาษหุ้มผ้าก้นกล่องด้านบนและด้านล่างอีก 2 ด้านให้เรียบร้อยเช่นกัน

เชื่อมฝากล่องและตัวกล่อง ด้วยการนำกล่องด้านที่เหลือชายผ้าไว้มาวางทาบฝากล่อง หนีบไม้หนีบผ้าไว้ นำกระดาษหุ้มผ้าฝา กล่องด้านล่างที่ทากาวมาแล้ว แปะลงบนฝากล่อง หนีบชายผ้าไม่ให้หลุดจากตัวกล่อง

นอกจากนี้ยังต้องมีตัวยึดรั้ง เพื่อไม่ให้เปิดฝาจนอ้ากว้างเกินไป ทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ริบบินผ้าลูกไม้มาติดส่วนของด้านในเยื้องมาทางริมซ้ายของฝากล่องด้าน ใน เอาเศษกระดาษมาติดทับผ้าลูกไม้บนฝาด้านบนข้างในกล่อง เพื่อยึดผ้าลูกไม้กับฝากล่อง แล้วนำตัวปิด-เปิดกล่อง หรือตัวกุญแจล็อกสำหรับเวลาปิด-เปิด และอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ มาติด มาตกแต่งให้สวยงามตามใจชอบ นอกจากนี้ อาจจะตกแต่งรอบ ๆ กล่องด้วยการเย็บผ้าลูกไม้ ก็สามารถทำได้

ครูโอ๋บอกว่า การทำกล่องหุ้มผ้า 1 กล่อง ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง โดยปกติจะทำทิ้งไว้ 1 คืน หาของหนัก ๆ มาทับ หรือใช้ไดร์เป่าจะทำให้กล่องแห้ง
เร็วขึ้น หากมีเวลามาก ๆ วันหนึ่ง ๆ สามารถทำได้หลายใบ

’สำหรับเคล็ดลับในการทำนั้น จะไม่ทากาวที่ผ้าโดยตรง เพราะจะทำให้ผ้าเปียก ผ้าไม่เรียบ ย่น จับยาก ให้ทากาวที่ตัวกระดาษแทน นอกจากนี้ต้องดูว่าลายผ้าที่ติดลงบนกล่องแต่ละด้านนั้นต่อเนื่องหรือเป็นลาย เดียวกันหรือเปล่า ซึ่งถ้าลวดลายไปในทิศทางเดียวกัน จะดูสวยงามและเป็นระเบียบ“ เจ้าของงานแนะนำ

ทุนวัสดุในการทำ ’กล่องหุ้มผ้า“ นี้ ครูโอ๋บอกว่า อยู่ที่ประมาณ 250 บาท ตั้งราคาขายได้ 800 บาท เนื่องจากเป็นงานฝีมือล้วน ๆ ซึ่งส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับคุณภาพของผ้าที่นำมาใช้ ถ้าใช้ผ้าราคาถูกก็จะมีต้นทุนต่ำกว่านี้ ตั้งราคาขายได้ต่ำกว่านี้ ทั้งนี้ สนใจงานลักษณะนี้ดูเพิ่มเติมได้ใน www.protonza.com และติดต่อครูโอ๋ได้ที่ โทร. 08-5123-4780.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=138561

Saturday, May 7, 2011

แนะนำอาชีพ 'สาเกเชื่อม'

ขนมไทยผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมานาน มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการกินของคนไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้ขนมบางชนิดจะสูญหายไปจากความนิยมแล้ว แต่ขนมไทยประเภทของ “เชื่อม” นั้นยังคงอยู่ ซึ่งการเชื่อมยังเป็นการถนอมอาหารของคนไทยโบราณ สามารถนำผลไม้หลายชนิดมาทำได้อย่างน่าอัศจรรย์ วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีสูตรความอร่อยของการเชื่อมผลไม้ที่ชื่อว่า “สาเก” มาแนะนำเป็นแนวทางอาชีพ การขาย “สาเกเชื่อม” .....

อัญชลี จันทอง หรือ “ป้าแดง” เจ้าของร้านขนมเชื่อมและขนมไทยโบราณ ที่ตลาดน้ำบางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพค้าขายมานานมากแล้ว โดยก่อนหน้านั้นได้ขายของมาหลายอย่าง เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าฮวย ขายตอนเช้า ๆ และเปลี่ยนมาทำขนมไทยและของเชื่อมขายประมาณ 10 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าที่ตลาดบางคล้ายังไม่มีใครขาย ซึ่งก็มีขนมเชื่อมหลายชนิด เช่น สาเกเชื่อม จาวตาลเชื่อม พุทราจีนเชื่อม มะตูมเชื่อม รากบัวเชื่อม มันเชื่อม เผือกเชื่อม ฯลฯ แล้วพัฒนาเพิ่มสินค้าขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า เช่น แปะก๊วย- มะพร้าวอ่อน, ขนมจ้าง, บ๊ะจ่าง, ขนมเทียนแก้ว แต่ที่ขายดีที่สุดของร้านก็คือ “สาเกเชื่อม” และจาวตาลเชื่อม

“โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบทำขนมและชอบทานพวกเผือก มัน สาเก จาวตาล ฟักทอง อยู่แล้ว เลยอาศัยความชอบและใจรักในการทำขนมมาเป็นแรงบันดาลใจให้ลงมือทำขายเป็นอาชีพ ความรู้ก็ไม่ได้ไปเรียนวิธีการทำจากที่ไหน แต่อาศัยวิธีสังเกตคนรอบตัวที่ทำเป็น และนำมาลองผิดลองถูกด้วยตัวเองหลาย ๆ ครั้ง ทำเองชิมเองจนทุกอย่างลงตัว ก่อนจะนำแจกจ่ายให้คนรอบข้างลองชิม ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะได้รับคำชมจากทุกคน จากนั้นจึงกล้าทำขาย ยึดหลักทำแบบกินกันในบ้าน เน้นคุณภาพ”

ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ทำให้ป้าแดงสามารถทำขนมเชื่อมขายเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมาจนถึง ปัจจุบันนี้ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคนและผู้สูงอายุ เพราะของพวกนี้เป็นของที่ทานมาตั้งแต่โบราณ แต่เด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ป้าแดงอยากขายของพวกนี้ให้คนรุ่นใหม่รับประทานกันมาก ขึ้น

อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการทำ “สาเกเชื่อม” นั้น ก็มี กระทะทอง, เตาแก๊ส หรือเตาถ่าน, กะละมัง, หม้อสเตนเลสขนาดใหญ่, ถาด, ทัพพี, เขียง, ผ้าขาวบาง และเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ ให้หยิบยืมเอาจากในครัวได้วัตถุดิบ ก็ใช้... สาเก พันธุ์ข้าวเหนียว, น้ำตาลทราย, น้ำมะนาว, น้ำปูนใส, กะทิ, แป้งข้าวเจ้า, เกลือ, ใบเตย


ขั้นตอนการทำ “สาเกเชื่อม” ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการเลือกสาเกที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป เมื่อได้สาเกขนาดเหมาะที่ต้องการ นำผลสาเกมาผ่าตามความยาวของผล ให้ได้ 4 ซีก คว้านเอาไส้หรือแกนกลางออกทิ้ง ปอกเปลือกออกให้หมด เอาน้ำมะนาวมาทาผิวสาเกที่เป็นสีเขียวให้ทั่ว เพื่อไม่ให้เนื้อสาเกดำเวลาเชื่อม เสร็จแล้วจับสาเกแต่ละซีกคว่ำลง แล้วหั่นขวางผลเป็นชิ้น ๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว นำชิ้นสาเกที่หั่นเตรียมไว้ไปแช่ในน้ำปูนใส ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง (เวลาเชื่อมจะได้ไม่เละ) ล้างน้ำสะอาด แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ต่อไปก็เป็นขั้นตอนการเชื่อม นำน้ำสะอาดใส่กระทะทอง ตามด้วยน้ำตาลทราย เกลือนิดหน่อย ใบเตยหั่น ยกขึ้นตั้งไฟ พอเดือดยกลงมากรองด้วยผ้าขาวบาง เสร็จแล้วนำน้ำเชื่อมที่ได้เทใส่กลับกระทะทองใบเดิม ยกขึ้นตั้งไฟอีกครั้ง ใส่สาเกลงไปต้มด้วยไฟอ่อน ๆ เคี่ยวไปเรื่อย ๆ (ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานหน่อย) ระหว่างเคี่ยวต้องหมั่นช้อนฟองทิ้ง เคี่ยวไปจนน้ำเชื่อมซึมเข้าเนื้อสาเก และน้ำเชื่อมงวดต้องให้น้ำเชื่อมชุ่มเนื้อสาเก หมั่นใช้ทัพพีตักน้ำเชื่อมราดหรือคอยกลับข้างชิ้นสาเกให้แช่น้ำเชื่อมอย่าง ทั่วถึง เมื่อเชื่อมสาเกได้ที่ดีแล้วยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น สาเกเชื่อมจะมีความอิ่มตัวตลอด เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย สาเกเชื่อมที่ได้จะมีลักษณะใสเป็นเงาน่ารับประทาน เก็บไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้เป็นสัปดาห์ นำออกมาอุ่นรับประทานร้อน ๆ ก็ได้

เทคนิคในการเชื่อมสาเก ป้าแดงบอกว่า การเชื่อมต้องใจเย็น และพิถีพิถัน เพื่อให้น้ำเชื่อมซึมซับเข้าไปในเนื้อ ทำให้มีความเหนียว นุ่ม อร่อย มีความหอมโดยธรรมชาติ และวัตถุดิบที่ใช้ต้องใหม่ คุณภาพดี

ราคาขาย “สาเกเชื่อม” ถุงเล็ก 4 ชิ้น ราคา 30 บาท ถุงใหญ่ ครึ่งกิโลกรัม ราคา 70 บาท

สนใจขนมไทย สนใจ “สาเกเชื่อม” ของป้าแดง วันธรรมดาจะขายอยู่ที่ตลาดบางคล้า ใกล้ร้านเซเว่นฯ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะขายอยู่ที่ตลาดน้ำบางคล้า เบอร์ติดต่อป้าแดงคือ โทร. 08-3828-9387, 08-6892-8398 ซึ่งอาชีพนี้ก็ยังสามารถทำขายตามที่ลูกค้าสั่งเพื่อนำไปใช้ในงานเทศกาล งานบุญ งานมงคลต่าง ๆ ได้ด้วย.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=137336

แนะนำอาชีพ 'เกี๊ยวยักษ์'

แม้แต่อาชีพขายอาหารก็ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างจุดเด่น เฟ้นจุดขาย เพราะนอกจากจะช่วยให้เกิดความแตกต่างแล้ว ก็ยังเสริมให้ลูกค้าจดจำเอกลักษณ์ของร้านค้าได้อีกด้วย อย่างเช่น ’เกี๊ยวยักษ์“ ของ “หนึ่ง-ธนัตถ์ธิติ อยู่คำ” ที่สามารถทำให้เมนูก๋วยเตี๋ยวธรรมดา ๆ กลายเป็นเมนู-เป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ...

หนึ่ง-ธนัตถ์ธิติ ชายหนุ่มผมยาววัย 41 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อแปลก “ลุงหนึ่งเกี๊ยวยักษ์” บอกกับเราว่า ร้านของเขาเปิดขายมาได้ 4-5 ปีแล้ว โดยมี 2 สาขาคือ ที่ศูนย์อาหารเมืองทองธานี และที่ร้านบนถนนอินทราวาส ย่านตลิ่งชัน โดยแต่เดิมก็ทำเมนูก๋วยเตี๋ยวขายทั่ว ๆ ไป จนครั้งหนึ่งมีกลุ่มเด็กนักเรียนมาบอกว่า ที่ร้านไม่มีเกี๊ยวตัวโตกว่านี้บ้างหรือ จึงเกิดไอเดียว่าถ้าจะทำเกี๊ยวขนาดใหญ่กว่าขนาดปกติ น่าจะสร้างจุดสนใจ และดึงดูดลูกค้าได้ จึงทดลองทำออกมาทั้งเกี๊ยวหมูและเกี๊ยวกุ้ง ปรากฏว่าลูกค้าติดใจมาก และกลายมาเป็นจุดขายของทางร้านที่ลูกค้าใช้เรียกและบอกต่อ ๆ กันแบบปากต่อปาก จนกลายมาเป็นที่มาของชื่อร้านจนถึงปัจจุบัน


“จุดเริ่มต้นเริ่มจากที่มีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ตะโกนสั่งเกี๊ยวชิ้นใหญ่ ๆ แค่ประโยคสั้น ๆ ทำให้ฉุกคิดว่าถ้าสามารถทำเกี๊ยวขนาดใหญ่กว่าปกติ น่าจะแปลกและมีจุดขายมากขึ้น จึงเป็นที่มาของเกี๊ยวยักษ์ในวันนี้” เจ้าของร้านกล่าว

และนอกจาก “เกี๊ยวยักษ์” ที่เป็นจุดขายแล้ว เมนูปกติก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน โดยที่ร้านจะมีเมนูก๋วยเตี๋ยวที่เป็นเมนูยอดนิยม อย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำลูกชิ้นหมูเด้ง บะหมี่แห้ง บะหมี่น้ำ บะหมี่ต้มยำ โดยขายในราคาชามละ 35 บาท ส่วนเกี๊ยวยักษ์นั้นหากลูกค้าต้องการเพิ่มก็จะขายแยกออกมาเป็นเมนูเสริม สำหรับทานเคียงกับเมนูก๋วยเตี๋ยว โดยจำหน่ายอยู่ที่ราคาลูกละ 7 บาท สำหรับเกี๊ยวหมู และราคาลูกละ 10 บาท สำหรับเกี๊ยวกุ้ง

“แต่ละวันจะผลิตเกี๊ยวยักษ์ขายแบบหมดแล้วก็จะหมดเลย ไม่มีเพิ่ม” เจ้าของร้านระบุ

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป โดยส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเกี๊ยว โดยงบลงทุนส่วนนี้ไม่รวมค่าเช่าร้าน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าอุปกรณ์ตกแต่งร้าน ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาขาย รายได้นั้นก็จะมี 2 ทาง จากเมนูก๋วยเตี๋ยว และเมนูเกี๊ยวยักษ์ ราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ชามละ 35 บาท ส่วนเกี๊ยวยักษ์ลูกละ 7-10 บาท

เครื่องมือและอุปกรณ์หลัก ๆ ประกอบด้วย เครื่องบดเนื้อหมู และเครื่องตีแป้ง สำหรับตีส่วนผสม ที่เหลือเป็นอุปกรณ์ทั่ว ๆ ไปสำหรับร้านก๋วยเตี๋ยว อาทิ หม้อต้มก๋วยเตี๋ยว, ภาชนะใส่ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

ส่วนผสมในการทำเกี๊ยวหมู-เกี๊ยวกุ้ง ต่อจำนวน 200 ลูก ประกอบไปด้วย เนื้อหมูสับบดละเอียด ประมาณ 10 กิโลกรัม, แป้งมัน 1 กิโลกรัม, ไข่ไก่ 10 ฟอง ส่วนถ้าเป็นเกี๊ยวกุ้ง จะเปลี่ยนจากการใช้เนื้อหมูเป็นการใช้กุ้งขาว 200 ตัวแทน โดย กุ้ง 1 ตัว ต่อเกี๊ยวยักษ์ 1 ลูก ส่วนเครื่องปรุง ใช้เพียงพริกไทย 3 ช้อนโต๊ะ เพื่อเพิ่มรสชาติ ที่ไม่ใช้พริกไทยมาก เพราะอาจจะเผ็ดเกินไปสำหรับลูกค้าที่เป็นเด็กเล็ก

ขั้นตอนการทำเกี๊ยวยักษ์สูตรลุงหนึ่ง เริ่มจากนำเนื้อหมูมาบดด้วยเครื่องบดให้ละเอียด จากนั้นนำมาสับด้วยมีดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้เนื้อหมูที่มีความละเอียดมากขึ้น จากนั้นนำแป้งมันที่เตรียมไว้แล้วมาผสมกับไข่ไก่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน หรือใช้เครื่องตีแป้งตีให้เข้ากันรอบหนึ่ง เมื่อได้ที่แล้วนำเนื้อหมูบดสับละเอียดที่เตรียมไว้ใส่ลงไป จากนั้นใช้มือคลุกเคล้าให้แป้งมันและไข่ไก่เข้าเนื้อกัน ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ส่วนผสมซึมซับเข้าสู่เนื้อหมู

หลังจากครบกำหนดแล้ว นำส่วนผสมที่ได้มาห่อด้วยแผ่นแป้งเกี๊ยว เป็นอันพร้อมใช้ ซึ่งแผ่นเกี๊ยวสามารถใช้ที่มีจำหน่ายสำเร็จรูปอยู่ทั่วไป เพียงแต่เอามาตัดขนาดให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ

ถ้าเป็นการทำเกี๊ยวกุ้ง ก็นำหมูสับบดละเอียดมาห่อเข้าที่ตัวกุ้ง ก่อนที่จะห่อด้วยแผ่นแป้งเกี๊ยว ก็เป็นอันเสร็จ

“รายได้จากการขายเกี๊ยวกุ้งและเกี๊ยวหมูนั้น ต่อ 200-300 ลูก จะมีรายได้ก่อนหักทุนประมาณ 1,400-3,000 บาท” เจ้าของสูตรเมนูเกี๊ยวยักษ์ระบุ ซึ่งก็ถือว่าเป็นรายได้น่าสนใจ ที่นอกเหนือไปจากรายได้ของเมนูก๋วยเตี๋ยว

เจ้าของสูตรบอกด้วยว่า เน้นให้ลูกค้าประทับใจและติดใจในรสชาติ มากกว่าที่จะเน้นขายเอากำไรเยอะ ๆ ถือว่าลูกค้าอยู่ได้ร้านก็อยู่ได้ ซึ่งในอนาคตเขามีเป้าหมายที่จะผลิตเกี๊ยวยักษ์ให้มากขึ้น เพื่อขายส่งอีกทางหนึ่งด้วย

ร้านลุงหนึ่งเกี๊ยวยักษ์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 32 หมู่ 21 ถนนอินทราวาส แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โทร. 08-2962-7807 เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น แต่ ’เกี๊ยวยักษ์“ มักจะขายหมดก่อนเวลาปิดร้าน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความ ’ช่างคิด-ช่างทำ“ ที่แม้แต่คนในอาชีพขายอาหาร ก็ไม่ควรขาดจุดนี้.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=137138