Saturday, May 26, 2012

แนะนำอาชีพ "ส้นจันท์ผัดปู "

เส้นจันท์ผัดปู เป็นอาหารพื้นบ้านโบราณของจังหวัดจันทบุรี รับประทานกับผักสดนานาชนิด ซึ่งตัวเส้นจันท์นั้นจะมีลักษณะเหนียวและนุ่ม รสชาติเป็นเอกลักษณ์อร่อยไม่เหมือนใคร จะมีหวานนำนิด ๆ เปรี้ยว และเค็มตาม หน้าตาคล้าย ๆ กับผัดไทย จะแตกต่างกันตรงเครื่องปรุง ซึ่งนี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ ที่วันนี้มีข้อมูลมาเล่าสู่กัน...
  
สุชาดา ธรรมเสน หรือ เจ๊สั้น ซึ่งทำ เส้นจันท์ผัดปู สูตรโบราณ (ผัดไทยภาคตะวันออก) จำหน่าย เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นคนจันทบุรีมาแต่กำเนิด อีกทั้งครอบครัวก็ประกอบอาชีพขายของกินสลับกันไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเธอและพี่น้องจึงใกล้ชิดกับอาหารทั้งหวานและคาวมาตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะเส้นจันท์ผัดปูนี่เรียกว่ากินกันแทบทุกวันก็ว่าได้

“ก่อนที่จะมายึดการทำเส้นจันท์ผัดปูขายเป็นอาชีพ เคยทำงานเป็นพนักงานเย็บผ้ามาก่อน แต่พอมีลูกรายได้ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงมองหาช่องทางหารายได้เสริมในช่วงเวลาว่าง ก็คิดถึงสิ่งที่หลายคนบอกว่าเราทำได้ดีและอร่อย คือเส้นจันท์ผัดปู เสียงตอบรับดีมาก ตอนออกขายแรก ๆ ไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็หมดเกลี้ยง”

เจ๊สั้นบอกว่า ขายแรก ๆ ก็เรียกว่าผัดกันไม่ทัน แต่ก็ยังไม่มั่นใจ จึงยังทำงานเย็บผ้าควบคู่ไปด้วย ซึ่งเหนื่อยมาก ตอนหลังเลยไม่ไหว ตัดสินใจออกจากงานมาขายเป็นหลัก อยู่ที่ ม.บูรพา ก็ขายดีมาก ถ้าไม่ใช่ช่วงปิดเทอม

และด้วยรสชาติที่หลาย ๆ คนบอกว่าถูกปาก จึงมักมีคนมาสั่งไปออกงานโน้นงานนี้อยู่เรื่อย ๆ จึงยึดอาชีพขายเส้นจันท์ผัดปูเป็นอาชีพหลักได้มาจนถึงเดี๋ยวนี้ รวมเวลาก็นานกว่า 30 ปีแล้ว

อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำอาหารชนิดนี้ ก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้อยู่ในครัวเรือนทั่วไป

ส่วนผสม-วัตถุดิบในการทำ หลัก ๆ ก็มี เส้นจันท์, น้ำมันพืช, ปูม้านิ่มตัวขนาดย่อม, พริกแห้งเม็ดใหญ่ (แกะเมล็ดข้างในออก), หอมแดง, กระเทียม, น้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลปี๊บ, น้ำมะขามเปียก, น้ำปลา, เกลือ และกะปิ

ขั้นตอนการทำ “เส้นจันท์ผัดปู” เริ่มจากการทำในส่วนของน้ำพริกก่อน โดยนำเอาพริกแห้งเม็ดใหญ่ที่แกะเมล็ดออกแล้วมาแช่น้ำ นำหอมแดงและกระเทียมที่เตรียมไว้มาแกะเปลือก พอพริกนิ่มก็นำมาโขลกหรือปั่นรวมกับหอมแดงและกระเทียมให้ละเอียดแล้วตั้งพัก ไว้

นำปูม้านิ่มมาแกะกระดองและแกะนมที่คล้ายฟองน้ำออก ตัดขาปูบางส่วนออก แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นผ่าปูเป็น 2 ซีก นำไปทอดในน้ำมันให้ปูพอเหลืองกรอบ แล้วตักขึ้นมาพักไว้

ตั้งกระทะใส่น้ำมันให้ร้อน แล้วนำน้ำพริกที่โขลกไว้ใส่ลงผัดให้หอม ตามด้วยใส่ปูลงไปผัดคลุกเคล้ากับพริกแกง ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก เกลือ และกะปิเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความกลมกล่อม เคี่ยวทิ้งไว้สักครู่ ถ้าข้นไปต้องใส่น้ำสะอาดลงไปนิดหน่อย ชิมรสดู ต้องมีรสหวาน-เปรี้ยวนำ ได้ที่ดีแล้วก็ตักใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ก็จะได้น้ำปรุงปูสำหรับผัด

ระหว่างเคี่ยวน้ำปรุงปู ให้นำเส้นจันท์ที่เตรียมไว้มาแช่น้ำให้นิ่ม สงให้สะเด็ดน้ำเตรียมไว้ก่อนจะนำไปผัด

ขั้นตอนการผัด “เส้นจันท์ผัดปู” นำกระทะตั้งไฟ ตักน้ำเครื่องปรุงปูที่เตรียมไว้ใส่ลงไปพอประมาณ จากนั้นนำเส้นจันท์ที่แช่น้ำเตรียมไว้ใส่ตามลงไป ผัดคลุกเคล้ากันให้ทั่ว ถ้าดูแล้วแห้งไปก็เติมน้ำปรุงอีกเล็กน้อย ผัดคลุกเคล้ากันให้ทั่ว ใช้ตะหลิวเกลี่ยเส้นไม่ให้ติดกัน เมื่อผัดคลุกเคล้าจนสังเกตเห็นว่าน้ำปรุงปูซึมเข้าไปในเส้นจันท์ทั่ว แล้วก็เป็นอันใช้ได้

ตักใส่จาน หรือกล่อง หรือห่อ นำตัวปูที่เคี่ยวในน้ำปรุงวางบนเส้นจันท์เพื่อความสวยงาม พร้อมเสิร์ฟ-พร้อมขาย โดยมีผักเคียง เช่น ถั่วงอกดิบ, หัวปลี, แตงกวา, ต้นกุยช่าย, มะนาวฝานเป็นชิ้น, ใบบัวบก และพริกป่น

ราคาขาย “เส้นจันท์ผัดปู” เจ้านี้ อยู่ที่กล่องละ 35 บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบ ไม่รวมทุนเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ประมาณ 60% ของราคาขาย
  
“เส้นจันท์ผัดปู” สูตรโบราณ (ผัดไทยตะวันออก) เจ้านี้ มีขายประจำอยู่ที่จตุจักร ชลบุรี ในวันพุธและวันอาทิตย์ ที่ถนนคนเดินบางแสน ในวันศุกร์และวันเสาร์ นอกจากนั้นกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ก็ยังรับงานออกบูธ-ออกร้านงานต่าง ๆ งานโอทอป งานธงฟ้า งานประจำจังหวัด ฯลฯ ซึ่งใครสนใจติดต่อ เจ๊สั้น ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9784-0584.

http://www.dailynews.co.th/article/384/116570

Friday, May 25, 2012

แนะนำอาชีพ "แหวนหนัง“

อาชีพทำงานประดิษฐ์-งานฝีมือ บางครั้งไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านการทำมาโดยตรงก็สามารถที่จะฝึกหัดทำ สามารถสร้างสรรค์สินค้าได้ ขอเพียงมุ่งมั่นตั้งใจและรักในอาชีพที่ทำ ก็สามารถพลิกผันจากความชอบให้กลายมาเป็นอาชีพทำเงินได้อย่างดี อย่างเช่น งานประดิษฐ์จากวัสดุหนัง เช่น ’แหวนหนัง“ ที่ก็เป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ... “สุวิษา เธียรฐิติพฤฒิ” เล่าว่า เดิมประกอบธุรกิจส่วนตัว ต่อมาแต่งงานมีครอบครัวจึงเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นแม่บ้าน แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบหยุดนิ่งและสนใจเกี่ยวกับการทำงานประดิษฐ์ โดยเฉพาะงานที่นำวัสดุประเภทหินสีสวยและหนังประเภทต่าง ๆ มาใช้ทำ จึงคิดว่าน่าจะอาศัยเวลาว่างคิดประดิษฐ์จัดทำสินค้าประเภทเครื่องประดับ เพื่อจำหน่าย โดยเริ่มจำหน่ายจริงจังมาตั้งแต่ประมาณปี 2551 และก็ทำมาเรื่อย โดยปัจจุบันมีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม คือทั้งลูกค้าที่ซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และลูกค้าที่สั่งให้ทำชิ้นงานพิเศษเพื่อนำไปใช้ในวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยง, งานแต่งงาน นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มที่ซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุตกแต่งชิ้นงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย เรียกได้ว่าสินค้าที่ทำขึ้นนั้นสามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี สำหรับช่องทางการจำหน่ายเน้นที่การขายผ่านทางเว็บไซต์ชื่อ www.longdoona.com ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับดี จนปัจจุบันสามารถยึดทำเป็นอาชีพได้อย่างดี “เรียนจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่เป็นคนชอบงานประดิษฐ์ เคยฝึกทำงานประเภทนี้ จึงคิดว่าน่าจะใช้เวลาว่างที่อยู่บ้านลองประดิษฐ์สินค้า โดยเฉพาะงานเกี่ยวกับหนังและหินสี จึงออกมาเป็นสินค้าอย่างที่เห็น” สุวิษากล่าว สินค้าที่ใช้วัสดุหลักอย่าง “หนัง” นั้น เธอบอกว่ามีอยู่หลายประเภท อาทิ แหวน, พวงกุญแจ, ที่คาดผม, กำไลข้อมือ, สร้อยคอ, กระเป๋าถือ, กระเป๋าสะพาย โดยนอกจากใช้หนังเป็นส่วนประกอบหลัก ก็อาจจะมีวัสดุตกแต่งอย่างอื่นมาประกอบเพื่อเพิ่มลูกเล่นรายละเอียดด้วยก็ ได้ ขึ้นอยู่กับตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจำหน่าย จุดเด่นของสินค้าที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบคือ รายละเอียดของแต่ละชิ้นงาน รูปแบบของสินค้า รวมไปถึงความที่เป็นงานแฮนด์เมดสินค้าจึงมักจะไม่ค่อยมีแบบที่ซ้ำกัน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะชอบใน “ความแตกต่าง” ไม่ซ้ำใคร ดังนั้น งานจึงมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความนิยมของตลาด และออกแบบตามความต้องการของลูกค้า “ยอมรับว่าการสร้างจุดขาย สร้างความแตกต่าง สำคัญมากสำหรับคนที่คิดจะทำอาชีพแบบนี้ ยิ่งเป็นสินค้าเครื่องประดับตกแต่งยิ่งต้องเน้น เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ตัดสินใจซื้อสินค้ายากหากสินค้าไม่โดดเด่นพอ แต่ถ้าเกิดสินค้ามีรูปแบบที่โดนใจ ราคาสูงแค่ไหนลูกค้าก็สู้หรือพร้อมซื้อ” เป็นคำแนะนำจากสุวิษาที่น่าคิด... ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 20,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุและค่าจ้างแรงงาน ขณะที่ทุนวัสดุต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 30-350 บาท ขึ้นกับรายละเอียด รูปแบบ และขนาดชิ้นงาน วัสดุ-อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำชิ้นงาน หลัก ๆ ประกอบด้วย คีมปากจิ้งจก (ขนาดต่าง ๆ), เข็มกับด้าย, ปืนยิงกาวและกาวร้อน, เชือกเทียน สำหรับใช้มัด, คัตเตอร์, กรรไกร และวัสดุตกแต่งประกอบ อาทิ ตัวเรือนแหวน, กระเป๋า, พวงกุญแจ, หินสี และเศษหนังขนาดและสีสันต่าง ๆ (อาจใช้วิธีออกแบบและจ้างให้โรงงานตัดหรือปั๊มออกมาเป็นชิ้น ๆ เพื่อตัดขั้นตอนการทำงานหรือลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเครื่องปั๊มหนัง) ขั้นตอนการทำ ยกตัวอย่างการทำ ’แหวนหนัง“ ทรงพุ่มดอกไม้ เริ่มจากออกแบบชิ้นงานว่าต้องการให้ออกมาเป็นรูปทรงแบบไหน ซึ่งหากเป็นทรงพุ่มดอกไม้ที่สุวิษาทำอยู่ก็จะมี 3 แบบ คือ ทรงพุ่มเดี่ยว สองชั้น และสามชั้น ส่วนโทนสีก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เมื่อมีแบบแล้ว จากนั้นก็อาจทำการตัดหนังเองด้วยกรรไกรหรือคัตเตอร์ หากเป็นการทำในจำนวนน้อย แต่ถ้าผลิตในจำนวนมาก ๆ อาจใช้การจ้างโรงงานให้ตัดหรือปั๊มหนังตามแบบ เมื่อได้ส่วนประกอบของดอกแล้ว ก็นำมามัดร้อยรวมกันให้เป็นทรงพุ่มดอกไม้ โดยใช้เชือกเทียนมัดส่วนประกอบดอกรวมกันจนกลายเป็นทรงพุ่มดอกไม้ จากนั้นนำดอกไม้หนังที่ได้มาทำการตกแต่งด้วยวัสดุผสมอื่น ๆ ที่เตรียมไว้ แล้วนำไปประกอบกับตัวเรือนแหวน โดยอาจใช้ปืนยิงกาวร้อนยึดติดเพื่อความแข็งแรง เป็นอันเสร็จขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำ “ดอกไม้หนังที่ทำขึ้น เราสามารถนำไปใช้ประกอบกับเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ประเภทอื่นได้ อาทิ ที่คาดผม, กระเป๋าถือ, พวงกุญแจ ขึ้นอยู่กับไอเดียที่ต้องการจะทำ เรียกได้ว่าพลิกแพลงดัดแปลงได้ตลอด ไม่มีตัน” สุวิษากล่าว ใครสนใจชิ้นงานจากหนังลองเข้าไปดูข้อมูล ดูสินค้าต่าง ๆ ได้ในเว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น หรือหากต้องการติดต่อสุวิษา ติดต่อได้ที่ โทร.08-1432-2272 หรืออีเมล finemist@windowslive.com ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’แหวนหนัง“ และ งานประดิษฐ์จากวัสดุหนัง อื่น ๆ ที่มีรายได้เป็นผลตอบแทนของความรักความชอบ

http://www.dailynews.co.th/article/384/116363

Saturday, May 19, 2012

แนะนำอาชีพ 'ช่อไม้ประดับ''

ช่อไม้ประดับ ที่ขายกันทั่วไปนั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีก เพียงพลิกแพลงเพิ่มลูกเล่นเข้าไปก็ทำให้ช่อไม้ประดับนั้นกลายเป็นของที่มี ราคาเพิ่มขึ้นมาทันที ยกตัวอย่างเช่น “ช่อไม้ประดับมีไฟ” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากันเป็นกรณีศึกษาการทำกินในวันนี้...
 
ดารณี แต้สุจิ หรือ คุณบู่ อดีตพนักงานบริษัท เจ้าของร้านช่อไม้ประดับ Natural Arts ในตลาดนัดสวนจตุจักร บอกเล่าถึง “ช่อไม้ประดับมีไฟ” นี้ว่า เป็นผลงานต่อยอด จากที่ทำอาชีพประดิษฐ์ดอกไม้ประดับมากว่า 10 ปี โดยก่อนหน้านั้นทำงานบริษัทอยู่ราว 20 ปี เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกจึงเลือกที่จะออกมาทำงานส่วนตัว ไม่เป็นลูกจ้างอีกต่อไป

“ช่วงที่ทำงานก็ชอบจัดดอกไม้เป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ก็เลยไปหัดทำดอกไม้จากเกล็ดปลา ดอกไม้จากใบยางพารา จากสถาบันวิจัยยาง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาเมื่อได้ที่ในสวนจตุจักรจึงคิดว่าจะประกอบอาชีพด้านนี้ เพราะตลาดนี้มีต่างชาติเดินชอปปิงมาก ต่างชาติชอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ คิดว่าเดินทางนี้คงไม่ผิด”

สำหรับช่อไม้ประดับมีไฟ ดารณีเล่าว่า เป็นพัฒนาการตกแต่งช่อไม้ประดับ ซึ่งความคิดริเริ่มนี้มาจากข้อเสนอแนะจากลูกค้าที่มาซื้อของที่ร้าน และตนเองก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน ดารณีได้อธิบายวิธีการทำช่อไม้ประดับมีไฟ โดยยกตัวอย่าง “ช่อคาร่าลิลลี่” ซึ่งวัสดุที่ใช้ก็มี ชุดไฟ 20 จุด (เส้นละ 5 จุดต่อชุดไฟ 1 ชุด มี 4 เส้น) และสายปลั๊ก ราคา 35 บาทต่อชุด, ลวดขนาดต่าง ๆ (พันด้วยกระดาษพันก้าน),  กลีบดอกโสน 20 ชิ้น (รูปแบบดอกคาร่า กว้าง 10 ซม. สูง 11 ซม.), กลีบดอกโสนรูประฆังคว่ำ (สำหรับทำเกสร กว้าง 7 ซม. สูง 7.5 ซม.), ใบไม้จากกระดาษสา 8 ใบ, ลวดขนาดต่าง ๆ, ท่อหด, สก๊อตเทป, ด้ายขาว, กาว และน้ำเปล่า 

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ หลัก ๆ ก็มี กรรไกร, คัตเตอร์, ไฟแช็ก, ไม้ไอศกรีม, ชุดทดลองไฟ ฯลฯ วิธีทำ เริ่มที่ทำเกสรดอกด้วยการใช้กลีบดอกโสนที่ตัดเป็นรูประฆังคว่ำ ม้วนเป็นวงกลมมัดติดกับก้านลวดเบอร์ 24 (ยาว 12 นิ้ว) ซึ่งพันกระดาษพันก้านสีเขียว จากนั้นพับกลีบดอกโสนให้เป็นรูปดอกไม้ ให้มีช่องว่างด้านล่างเพื่อสอดเกสรและดวงไฟเข้าไปในตัวดอกไม้ได้ มัดก้านดอกไม้ด้วยด้ายขาวให้แน่น และพันด้วยกระดาษพันก้านสีเขียวเข้มอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับได้ดอกโสน 1 ดอก
เมื่อทำครบ 4 ดอก ในไฟสาย 1 เส้นแล้ว ให้ติดใบไม้ ซึ่งเป็นใบไม้จากกระดาษสา 1 ใบ ซึ่งจะต้องจัดเป็นช่อให้สวยงาม โดยเรียงดอกไม้ให้ลดระดับความสูง-ต่ำ ให้ดูมีมิติของช่อดอกไม้ โดยใช้ลวดเบอร์ 18 เป็นตัวคอยพยุงให้เป็นช่อ

ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบไฟสาย 5 เส้น มัดเป็นช่อดอกไม้รวมกัน จากนั้นใช้ก้านลวดเบอร์ 12 (ยาว 22 นิ้ว) เป็นก้านหลัก เพื่อรวมช่อย่อยทั้ง 5 ช่อเข้าด้วยกัน  ซึ่งจะได้ดอกไม้ 20 ดอก และติดใบไม้เพิ่มอีก 4 ใบ เท่านี้ก็จะได้ช่อดอกไม้ใหญ่ 1 ช่อ ขั้นตอนต่อมาคือ ต่อวงจรไฟฟ้าภายในช่อดอกไม้ โดยวิธีการต่อคุณบู่บอกว่า ในไฟสาย 1 เส้น จะมีสายไฟ 2 เส้น คือสายยาวและสายสั้น โดยการต่อสายไฟนั้นให้เริ่มที่เอาลวดสายสั้นของสายไฟเส้นที่หนึ่งต่อเข้ากับ ลวดสายยาวของสายไฟเส้นที่สอง, ลวดสายสั้นของสายไฟเส้นที่สองต่อกับลวดสายยาวของสายไฟเส้นที่สาม, ลวดสายสั้นของสายไฟเส้นที่สามต่อกับลวดสายยาวของสายไฟเส้นที่สี่, ลวดสายสั้นของสายไฟเส้นที่สี่ต่อกับลวดสายยาวของสายไฟเส้นที่ห้า และลวดสายสั้นของสายไฟเส้นที่ห้าต่อกับลวดสายยาวของสายไฟเส้นที่หนึ่ง ซึ่งสายสุดท้ายจะต่อกับสายปลั๊ก

ขั้นตอนสุดท้าย ใช้ท่อหดเล็กสวมตรงรอยต่อระหว่างลวดไฟทุกเส้น เพื่อปกปิดไม่ให้เห็นลวดที่เชื่อมต่อกัน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ ซึ่งก่อนจะขายนั้น ต้องทดลองไฟก่อนว่าไฟติดหรือเปล่าด้วย

ราคาขาย “ช่อไม้ประดับมีไฟ” นี้ อยู่ที่ช่อละ 300-450 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 180 บาท 
 
ใครสนใจ “ช่อไม้ประดับมีไฟ” ของ ดารณี แต้สุจิ หรือคุณบู่  สามารถติดต่อได้โดยตรงที่ร้านในตลาดนัดสวนจตุจักร อยู่โครงการ 9 ซอย 13 เปิดทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ หรือสอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1274-1823 หรืออีเมลไปคุยกับเธอได้ที่ daraneetay@hotmail.com ซึ่งก็เป็นอีกกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ที่ “ต่อยอดเพิ่มรายได้”.

http://www.dailynews.co.th/article/384/115305

Friday, May 18, 2012

แนะนำอาชีพ ‘งานปั้นดิน’

การปั้นดินญี่ปุ่น-ดินไทย ให้เป็นชิ้นงานจำลอง เช่น เบเกอรี่ ขนม ไอศกรีม ที่เรียกกันว่าเป็นแนว sweet deco ยังคงได้รับความนิยม สามารถนำไปตกแต่งบนของใช้ต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงาม และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับของเหล่านั้นได้อีกด้วย อย่างกรณีศึกษา ’งานปั้นดินตกแต่งสิ่งของ“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้ เป็นงานปั้นดินเป็นขนม เบเกอรี่จิ๋ว นำไปตกแต่งของใช้ต่าง ๆ ได้หลากหลาย รวมถึงกรอบมือถือ นี่ก็สามารถสร้างรายได้ได้อย่างดี…

น้ำผึ้ง-วิสุทธิณี เลิศสดับสุวรรณ ซึ่งมีประสบการณ์ในการปั้นดินญี่ปุ่น-ดินไทย แนว sweet deco มากว่า 2 ปี เล่าว่า หลังจากที่เรียนจบก็เข้าทำงานเป็นพนักงานตามห้างสรรพสินค้า จนได้เห็นงานการปั้นดินเป็นขนมเบเกอรี่ ออกแนวน่ารัก ๆ หวาน ๆ ก็เกิดความชอบ และด้วยความที่เป็นคนที่ชอบงานประดิษฐ์ตั้งแต่เด็กแล้ว จึงคิดว่าตัวเองนั้นก็น่าจะทำงานตัวนี้ได้ จากนั้นจึงเริ่มที่จะลองฝึกหัดปั้นดู โดยไปหาซื้อวัสดุมาทำการทดลองปั้นเอง

ในช่วงแรก ๆ ก็อาศัยเรียนรู้วิธีการปั้นจากอินเทอร์เน็ต ใช้เวลาฝึกหัดลองผิดลองถูกกว่า 2 เดือน ก็เริ่มค้นพบวิธีการปั้นและการเลือกวัสดุที่จะนำมาทำการปั้นที่ลงตัวได้ เมื่อทำได้ก็เริ่มปั้นมาเรื่อย ๆ และก็เริ่มนำงานปั้นขนมจิ๋วไปประยุกต์ ตกแต่งลงบนของใช้ต่าง ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อย่างพวก เคสหรือกรอบมือถือ กล่องใส่คอนแทคเลนส์ กระจก หรือเครื่องประดับ ก็นำไปตกแต่งได้ เช่นพวก กิ๊บติดผม แหวน ตุ้มหู ที่คาดผม เป็นต้น

“แรก ๆ ก็ทำไว้ใช้เอง แล้วก็เริ่มทำขาย โดยลงขายทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งงานปั้นตัวนี้มีคนทำอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อที่เราจะครองใจลูกค้าได้ งานที่เราทำออกมานอกจากจะต้องเน้นเรื่องสวยงามสมจริงแล้ว ความคงทนก็จะต้องคำนึงถึงด้วย ซึ่งสินค้าที่ทำจะต้องใช้งานได้นาน”

น้ำผึ้งกล่าวต่อไปว่า งานปั้นดินแนว sweet deco แล้วนำไปตกแต่งลงบนเคสมือถือ ก็กำลังเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งวันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ได้สัมภาษณ์ถึงเทคนิคและวิธีการทำ การตกแต่งเคสมือถือด้วยดินปั้นที่เป็นรูปขนม ไอศกรีม มานำเสนอเป็นตัวอย่าง ซึ่งน้ำผึ้งบอกว่าสำหรับการลงทุนเบื้องต้นของการทำงานตัวนี้ ใช้เงินลงทุนไม่สูง ลงทุนประมาณ 2,500 บาท ก็สามารถปั้นขายได้แล้ว

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ มีดังนี้คือ...ดินญี่ปุ่น, ดินไทย, สีอะคริลิก, ซิลิโคน (สำหรับตกแต่ง), ที่กลิ้งดิน (ใช้เป็นแท่งอะคริลิกหรือไม้ก็ได้), กาว (ใช้สำหรับติดพวกเครื่องประดับ), คีมหนีบ, หัวบีบที่ใช้แต่งหน้าเค้ก, น้ำยาเคลือบเงา ฯลฯ

ดินที่ใช้ปั้นจะมีทั้งดินไทยและดินญี่ปุ่น งานบางชิ้นก็จะใช้ดินไทยผสมกับดินญี่ปุ่นแล้วถึงปั้น เพราะจะทำให้ปั้นง่าย จัดรูปทรงได้ง่าย แห้งเร็ว

วิธีการทำเริ่มจาก...ออกแบบ วางรูปแบบที่ต้องการจะทำ หลังจากออกแบบเรียบร้อยแล้วก็ทำการปั้นดินให้เป็นรูปขนมตามที่ต้องการจะนำไป วางตกแต่งลงบนเคสมือถือ โดยการปั้นขนมต่าง ๆ นั้นจะต้องปั้นให้ออกมาสวยงาม สีสันต้องคล้ายของจริงที่สุด โดยใช้วิธีการดูแบบจากของจริง แล้วก็ทำการปั้น เมื่อทำการปั้นขนมจิ๋วเสร็จแล้วก็ปล่อยตากทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง รอให้แห้ง

การผสมสีลงในดินที่ใช้ทำ จะใช้สีอะคริลิก จะให้ดินเป็นสีอะไรก็ใช้สีนั้นทำการผสมลงไปในดิน แล้วทำการนวดให้สีเข้าเป็นเนื้อเดียวกับดิน ก็จะได้ดินที่เป็นสีตามต้องการ

เมื่อได้ขนมต่าง ๆ ที่ต้องการตามแบบแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการตกแต่งลงบนเคสมือถือ เริ่มจากการนำเคสมือถือมาเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว เช็ดเอาฝุ่นละอองออกให้หมดก่อน นำซิลิโคนบีบใส่ลงในถุงที่ติดหัวบีบสำหรับแต่งหน้าเค้ก หลังจากนั้นก็ทำการบีบซิลิโคนลงไปบนเคสมือถือที่เตรียมไว้ให้ทั่ว จากนั้นจึงนำขนมต่าง ๆ ที่ปั้นเตรียมไว้ มาทำการจัดวางตามแบบที่ออกไว้บนซิลิโคน (ถ้าต้องการให้ติดแน่นก็สามารถใช้กาวร้อนที่ใช้ติดเครื่องประดับทาลงไปบนซิ ลิโคนก่อนที่จะนำขนมต่าง ๆ มาติดตกแต่ง)

หลังจากทำการติดตกแต่งจัดวางดินปั้นรูปขนมต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ก็ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง รอจนงานแห้งสนิท จึงนำมาทำการทาน้ำยาเคลือบเงา ทาทั่วแล้วก็รอให้น้ำยาเคลือบเงาแห้ง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน

งานปั้นดินเป็นรูปขนม แนวหวาน ๆ นั้น สามารถนำไปตกแต่งติดลงบนสิ่งของได้
หลากหลาย ไม่ว่าจะติดลงบนพื้นที่เป็นไม้ โลหะ พลาสติก หรือกระจก สามารถทำได้หมด

สินค้าของน้ำผึ้งนั้นก็มีหลากหลายแบบ นอกจากเคสมือถือ ก็ยังมีกล่องใส่คอนแทคเลนส์ กล่องใส่ของใช้ กระจก กิ๊บติดผม แหวน ตุ้มหู ที่คาดผม เค้กปลอม ฯลฯ โดยมีราคาขายชิ้นละ 19-750 บาท แล้วแต่รูปแบบชิ้นงาน

ผู้ที่สนใจงานปั้นดินแนว sweet deco ตกแต่งสิ่งของต่าง ๆ ของน้ำผึ้ง-วิสุทธิณี สามารถเข้าไปดูแบบงานได้ที่ www.byladies.com หรือที่ www.facebook.com/byladies หรือหากต้องการสั่งออร์เดอร์ไปจำหน่ายต่อก็ลองโทรฯ ไปสอบถามกันดูได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-2550-0989 ซึ่งงาน ’ปั้นดินตกแต่งสิ่งของ“ นี้ก็เป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/115121

Sunday, May 13, 2012

แนะนำอาชีพ ''ขนมหม้อแกง''

ขนมหม้อแกง ขนมพื้นเมืองโบราณของเหล่าแม่ ๆทั้งหลาย อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ซึ่งด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หน้าตาขนมหม้อแกงก็ถูกพัฒนาเปลี่ยนไปเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า คนรุ่นใหม่ บวกกับอุณหภูมิการแข่งขัน จึงทำให้คนทำขายต้องสร้างความแตกต่าง ต้องสร้างจุดขายของตัวเอง จนกลายเป็นสินค้าที่มีรสชาติและหน้าตาใหม่ ๆ ที่ดึงดูดใจลูกค้าได้อย่างดี วันนี้มาดูข้อมูลอาชีพเกี่ยวกับ “ขนมหม้อแกง” ซึ่งยังคงเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ...
 
นงลักษณ์ กิมสุวรรณ วัย 46 ปี เจ้าของร้านนงลักษณ์ขนมไทย สูตรโบราณ จ.ฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการทำร้านขนมไทยโบราณว่า เธอและครอบครัวประกอบอาชีพทำขนมไทยสูตรโบราณขายมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเดิมทีนั้นเคยประกอบอาชีพขายผลไม้ตามฤดูกาล แต่เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ทำให้ธุรกิจประสบภาวะขาดทุน เงินสำรองที่เก็บไว้ รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนในการค้าขายก็หมดลง ทำให้เธอต้องไปกู้เงินมาเพื่อลงทุนใหม่

“เมื่อธุรกิจขายผลไม้ตามฤดูกาลไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้เป็นหนี้เป็นสินมากมาย จึงคิดกันกับแฟนว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปคงไม่ไหวแน่ รู้สึกเบื่อ เพราะทำไปก็เหนื่อยเปล่า ก็เริ่มมองหาอาชีพใหม่ พอดีช่วงนั้นอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ว่าที่ห้างหนึ่งมีการเปิดอบรมการอนุรักษ์ ขนมไทยโบราณฟรี เสียแค่ค่าอุปกรณ์นิดหน่อย ก็รีบไปสมัครทันทีเพราะสนใจการทำขนมไทยอยู่แล้ว อบรมเสร็จก็ฝึกทำที่บ้าน ใช้เวลาหลายเดือนจนได้รสชาติอร่อยคงที่ และเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ รวมถึงเด็ก ๆ ให้หันมาสนใจขนมไทยโบราณ ก็ประยุกต์ขนมให้มีขนาดเล็กจิ๋ว หน้าตาน่ารับประทาน เช่น ทองหยิบทองหยอดจิ๋ว เม็ดขนุนจิ๋ว ฝอยทอง ขนมชั้น และหม้อแกง-โรยหอมเจียว หม้อแกง-โรยฝอยทอง ซึ่งกระแสตอบรับดีมาก”

เคล็ดลับความอร่อยของขนมไทยโบราณ นงลักษณ์บอกว่า หัวใจสำคัญคือการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ฝีมือและความประณีต นอกจากนี้ต้องอาศัยความใจเย็นของคนทำด้วย รสชาติ หน้าตาของขนม จึงจะออกมาดี น่ารับประทาน

นงลักษณ์บอกอีกว่า อาชีพขายขนมกระแสตอบรับยังดีมาก เส้นทางขนมยังไปได้อีกไกล เพราะคนไทยยังนิยมกินขนมหวาน และพิธีการต่าง ๆ ก็นิยมใช้ขนมหวาน รวมถึงรีสอร์ทต่าง ๆ ก็หันมาใช้ขนมไทยโบราณเป็นอาหารว่างให้กลุ่มลูกค้าสัมมนาด้วย

การทำขนมหม้อแกง อุปกรณ์และวัสดุหลัก ๆ ก็มี...เตาอบ, กะละมัง, ถาด, เครื่องตีไข่, กล่องฟอยล์, ทัพพี และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบยืมเอาจากในครัวได้

ส่วนผสมที่ใช้ในการทำ...ไข่ขาว 8 ขีด, ไข่แดง 2 ขีด, น้ำตาลโตนด 1 กก., หัวกะทิ 1 กก., แป้งสาลี 2 ขีด, น้ำมันพืช, หอมแดงซอย, ฝอยทอง และใบเตยหอม

ขั้นตอนการทำ “ขนมหม้อแกง” เริ่มจากการทำหอมเจียวสำหรับโรยหน้าก่อน โดยนำหอมแดงซอยมาเจียวด้วยไฟอ่อนให้เหลืองหอม ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน เตรียมไว้ และนำใบเตยหอม 6-7 ใบ มาล้างให้สะอาด วางไว้ให้สะเด็ดน้ำ

นำส่วนผสมของไข่ขาว ไข่แดง และแป้งสาลี ใส่อ่างผสม ทำการตีให้ไข่ขึ้นฟู แล้วใส่น้ำตาลโตนด และใส่ใบเตยหอมที่เตรียมไว้ตามลงไป ทำการขยำให้ส่วนผสมเข้ากัน จนน้ำตาลละลาย

จากนั้นใส่หัวกะทิตามลงไป คนส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง 2-3 ครั้ง เสร็จแล้วจึงตักใส่พิมพ์ หรือถ้วยฟอยล์ ขนาด 7X10 ซม. ที่วางไว้บนถาด นำเข้าเตาอบเปิดไฟที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส ประมาณ 30 นาที พอเห็นว่าหน้าขนมเริ่มมีสีเหลืองอ่อนให้ปรับลดไฟมาที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส อบต่ออีกประมาณ 20 นาที เมื่อหน้าขนมมีสีเหลืองทอง ก็เป็นอันใช้ได้ ยกถาดขนมออกมา แล้วโรยหน้าด้วยหอมเจียว และฝอยทอง เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อยมากยิ่งขึ้น มาถึงตรงนี้ก็จะได้ขนมหม้อแกงอีกสูตรที่ได้รับการกล่าวขานถึงความอร่อย รสชาติหวานมันหอม และยังคงเสน่ห์ความเป็นไทยแบบโบราณดั้งเดิมไว้ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานและซื้อเป็นของฝาก ทั้งในและนอกชุมชน

“ขนมหม้อแกง” นี่ก็เป็นสินค้า “ของดี ของฝาก เมืองแปดริ้ว” อีกชนิดหนึ่งด้วย โดยราคาขายอยู่ที่กล่องละ 35 บาท มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบประมาณ 60% ของราคาขาย
  
ขนมของร้านนงลักษณ์ ขนมไทยสูตรโบราณ ได้รับการรับรองให้เป็นสินค้าโอทอป 4 ดาว โดยทำขนมหม้อแกง และขนมไทยชนิดอื่น ๆ ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ตลาดน้ำบางคล้า และตลาดร้อยปีบ้านใหม่ จ.ฉะเชิงเทรา และยังออกร้านงานโอทอป งานต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งหากใครสนใจจะสั่งซื้อไปใช้ในเทศกาลงานต่าง ๆ ต้องการติดต่อคุณนงลักษณ์ ก็ติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ โทร. 08-1576-6227 และ 08-1344-1832.

http://www.dailynews.co.th/article/384/114141

Friday, May 11, 2012

แนะนำอาชีพ “ที่คล้องประตู”

อาชีพทำกินหลาย ๆ อาชีพ นอกจากจะต้องมีฝีมือแล้ว ในเรื่องการมองหาโอกาส การมองหาตลาด ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้ เพราะยิ่งจับจุดความต้องการของลูกค้าได้เร็วได้มากแค่ไหน โอกาสที่สินค้าจะกลายเป็นที่สนใจก็มีมากขึ้น แม้แต่งานที่ดูง่าย ๆ แต่เมื่อนำมาเติมแต่งด้วยไอเดียเก๋ ๆ กวน ๆ ก็สามารถที่จะทำเป็นอาชีพได้อย่างดี อย่างเช่นงานประดิษฐ์ ’ที่คล้องประตู“ ที่วันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากัน...
                   
“จารุวรรณ อินจันทร์” และ “ศักดิ์นรินทร์ เรืองโรจน์วรไชย” ประดิษฐ์ “ที่คล้องประตู” จำหน่าย โดยจารุวรรณเล่าว่า ตนเองและศักดิ์นรินทร์มีอาชีพหลักอยู่แล้วคือเป็นพนักงานคอมพิวเตอร์กราฟิก ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นงานออกแบบ งานกราฟิก งานไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ ประกอบกับมีรูปภาพประกอบหรืองานที่ออกแบบทิ้งไว้อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งลายเส้น ลายการ์ตูน รวมถึงการออกแบบตัวหนังสือต่าง ๆ จึงคิดว่าถ้าสามารถนำวัตถุดิบที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาต่อยอดออกมาให้เป็นสินค้า ก็น่าจะสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ แต่ตอนแรกก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะผลิตสินค้าประเภทใด

ดังนั้น จึงลอง สำรวจตลาด ก็พบว่ามีสินค้าอยู่ประเภทหนึ่งที่ในตลาดยังมีคนทำไม่มาก อีกทั้งรูปแบบของสินค้าเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นก็มักจะเป็นรูปแบบธรรมดา เพราะเน้นใช้งานเป็นหลัก นั่นก็คือ “ที่คล้องประตู” จึงคิดว่าหากนำงานออกแบบมาผสมผสานเข้ากับสินค้าประเภทนี้ ก็น่าจะสร้างจุดขายและสร้างความน่าสนใจให้สินค้าได้เพิ่มขึ้น จึงทดลองออกแบบและเริ่มทดลองทำออกจำหน่าย โดยในระยะแรก ๆ นั้นผลิตและจำหน่ายทางเว็บไซต์เป็นหลัก คือhttp://jikong.bigshopping.com ต่อมาก็เปิดหน้าร้านขายที่ตลาดนัดรถไฟในวันหยุด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“ปกติที่เคยเห็นส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คำภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ และมักจะมีรูปแบบเดิม ๆ เราสองคนจึงคิดว่าถ้าใส่ลูกเล่นเข้าไปก็น่าจะสร้างจุดสนใจให้กับสินค้าได้ ประกอบกับมีลายและภาพที่เก็บไว้อยู่แล้ว จึงนำมาออกแบบและผลิตขึ้น ซึ่งพอทำออกมาขายก็ปรากฏว่าลูกค้าชอบ ปัจจุบันก็มีทั้งลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ กับลูกค้าที่มาจ้างให้ออกแบบทำเพื่อนำไปใช้เป็นของที่ระลึก” จารุวรรณกล่าว

ด้านศักดิ์นรินทร์เสริมว่า แรก ๆ มักถูกลูกค้าถามตลอดว่าเป็นสินค้าอะไร ใช้ทำอะไร แต่หลังจากสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขึ้น ก็ปรากฏว่ามีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ มีทั้งเพื่อนำไปเก็บเป็นของสะสม หรือไม่ก็มาซื้อเป็นจำนวนหลายชิ้นเพื่อนำไปมอบเป็นของที่ระลึก ทั้งยังมีลูกค้าที่มาสั่งเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปใช้คล้องประตูจริง ๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกค้าที่มีธุรกิจอพาร์ตเมนต์, รีสอร์ท และโรงแรมขนาดกลาง-ขนาดเล็ก นอกจากนี้ก็ยังมีลูกค้าที่มาสั่งทำพิเศษเพื่อนำไปใช้แทนของชำร่วย หรือใช้แทนการ์ดในงานแต่งและงานเลี้ยง ก็ทำให้สามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี

สำหรับที่คล้องประตูที่ผลิตอยู่ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14 แบบหรือชุด โดยแต่ละชุดก็จะมีลายแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะคงไว้ที่ขนาดสินค้าขนาดเดียว ข้อดีของการมีสินค้าหลากหลายแบบก็คือช่วยทำให้หน้าร้านดูหลากหลายน่าสนใจ ซึ่งลูกค้าที่ซื้อไปส่วนใหญ่แต่ละครั้งที่ซื้อก็จะซื้อกันไปคนละหลายแบบ โดยแบบที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นลายการ์ตูน กับลายที่เป็นประโยคหรือวลีที่กำลังเป็นหัวข้อที่ผู้คนสนใจอยู่ในขณะนั้น

“แรก ๆ จะเป็นรูปภาพน่ารัก ลายการ์ตูน ต่อมาเราคิดว่าคำกวน ๆคำพูดติดปากที่กำลังฮิต ก็สามารถนำมาใช้ผลิตเพื่อทำเป็นสินค้าได้ เช่น เอาอยู่ ห้ามยืมตังค์ เป็นต้น ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีไม่แพ้กัน” ศักดิ์นรินทร์กล่าว

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ไม่รวมค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการออกแบบ จะใช้ประมาณ 1,000 บาท โดยวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นมีเพียงสติกเกอร์, กระดาษแข็ง, กรรไกร, คัตเตอร์ ส่วนทุนในการทำแต่ละชุดอยู่ที่ประมาณ 60% จากราคาขาย ซึ่งราคาขายชิ้นงานขนาดมาตรฐานคือชิ้นละ 29 บาท

ขั้นตอนการทำ เนื่องจากเป็นงานที่ใช้การออกแบบเป็นหลัก ขั้นตอนการทำหลัก ๆ จึงอยู่ที่เรื่องของการออกแบบ-คิดรูปแบบให้กับสินค้า ซึ่งคนที่สนใจจะทำงานด้านนี้ก็จะต้องมีความรู้หรือมีความชำนาญในเรื่องของ โปรแกรมการออกแบบงานกราฟิกในคอมพิวเตอร์ติดตัวอยู่บ้าง หลังจากออกแบบเสร็จแล้ว ก็ส่งไฟล์งานสำเร็จรูปให้กับโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์ผลงานออกมาเป็นสติกเกอร์ จากนั้นก็นำมาติดลงบนกระดาษแข็งเพื่อให้เป็นทรงของที่คล้องประตู แล้วจึงนำมาตัดด้วยกรรไกรออกเป็นแผ่น ๆ พร้อมขาย ซึ่งขั้นตอนการทำหลัก ๆ มีเพียงเท่านี้ ที่เป็นจุดขายจริง ๆ คือไอเดีย
  
“จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่จุดเริ่มต้น คือการคิดแบบ และออกแบบที่คล้องประตูให้ดูน่าสนใจ” จารุวรรณกล่าว

ใครสนใจชิ้นงาน “ที่คล้องประตู” รูปแบบนี้ ต้องการติดต่อผู้ที่ทำ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-5260-3900 หรือที่อีเมล
roungrot@hotmail.com และ mild.mapundung@gmail.com ซึ่งนี่ก็เป็นอีกตัวอย่าง ’ช่องทางทำกิน“ เป็นงานไอเดียที่คิดและผลิตขึ้นจากการมองเห็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ เป็นงานที่ทำไม่ยาก ขายง่าย สร้างรายได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย.

http://www.dailynews.co.th/article/384/113945

Sunday, May 6, 2012

แนะนำอาชีพ“ถั่วแปบเบญจรงค์”

ทุกวันนี้การค้าการขายการจะให้อยู่รอด ต้องรู้จักนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค กับขนมก็ต้องกล้าที่จะพลิกแพลงดัดแปลงสูตรเพื่อเสริมสร้างจุดขายและสร้างจุด เด่นให้สินค้ามีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำขนมไทยโบราณธรรมดา ๆ ที่มีคนทำขายอยู่ทั่วไปมาทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีรสชาติและหน้าตาใหม่ สีสันสวยงาม ดึงดูดใจลูกค้าได้ดี อย่างเช่น “ถั่วแปบเบญจรงค์ไส้เผือก” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้ นี่ก็น่าพิจารณา...
                                   
อานนท์ ยะมานนท์  หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี เจ้าของร้านขนมบัวลอยแฟนซี  อพยพครอบครัวมาจากจังหวัดยะลาเข้าทำกินในเมืองกรุงด้วยการค้าขายและทำธุรกิจ ส่วนตัว ทำมาหลายอย่าง จนมาจับทางถูกโดยทำขนมขายเป็นอาชีพหลัก เพราะครอบครัวคลุกคลีกับการทำขนมขายมาตั้งแต่รุ่นยายมาจนถึงยุคลูกหลาน ฝีมือของอานนท์ในการทำขนมบัวลอยแฟนซีนั้น ทั้งหอมทั้งหวานและมันกลมกล่อมกำลังดี ซึ่งเขาบอกว่า เพราะการทำขนมขายเป็นอาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงครอบครัว ดังนั้นจึงต้องรักษาคุณภาพขนมให้มีรสชาติดี มีความสด ใหม่ ได้มาตรฐานคงเดิมไม่เปลี่ยนไปมา

“ที่สำคัญคือผมคำนึงถึงสุขภาพของลูกค้าเป็นอันดับแรก ด้วยความที่ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบคิดจับโน่นมาใส่นี่ จับนี่ไปใส่โน่น เป็นคนชอบลอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสูตรเด็ด ซึ่งกว่าจะได้ขนมแต่ละอย่างออกมาต้องลองผิดลองถูกนานพอสมควร แต่เพราะทำด้วยใจรักจึงสำเร็จ ได้สูตรขนมตัวใหม่ที่มีรูปลักษณ์น่าสนใจ  เมื่อเอามาให้ลูกค้าลองชิมดูต่างก็บอกว่าอร่อย ถามกันว่าเรียกว่าขนมอะไร ขายยังไง แล้วซื้อทันที เพียงเท่านี้ผมก็ดีใจแล้ว”

“ถั่วแปบเบญจรงค์” ก็เป็นขนมที่เกิดจากไอเดียของอานนท์ ซึ่งเขาบอกว่า นอกจากความอร่อยแล้ว ถั่วแปบเบญจรงค์ที่มี “ไส้เผือก” ด้วยนั้น ยังมีจุดเด่นตรงที่มีสีสันสวยงามจากพืชพรรณธรรมชาติที่มีประโยชน์กับสุขภาพ เช่น สีส้มจากแครอท, สีชมพูแดงจากบีทรูท, สีเหลืองจากฟักทอง, สีเขียวจากใบเตย, สีม่วงจากดอกอัญชัน 

วัสดุอุปกรณ์ในการทำถั่วแปบ หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส, หม้อสเตนเลสหรือหม้อหุงข้าวไฟฟ้า, กระชอน, ทัพพีกลม, กะละมังสเตนเลสหลายขนาด, กระทะทองเหลือง, เครื่องกวน, ถาดสเตนเลส, ลังถึงสำหรับนึ่ง, เล็บแมวขูดมะพร้าว, ถุงพลาสติก และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่สามารถหยิบฉวยเอาจากในครัว

สำหรับส่วนผสมที่ใช้ในการทำขนมถั่วแปบเบญจรงค์ไส้เผือก  มี 3 ส่วนคือ... ตัวไส้ขนม ก็มี เผือก, หัวกะทิ, น้ำตาลทราย และเกลือ  ตัวแป้งห่อไส้ จะใช้ แป้งข้าวเหนียวอย่างดี, ถั่วเขียวเลาะเปลือก (ถั่วทอง), สีธรรมชาติที่คั้นจากพืช เช่น สีส้มจากแครอท สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากอัญชัน สีชมพูแดงจากบีทรูท สีเหลืองจากฟักทอง, มะพร้าวทึนทึก, ใบเตยแก่ ๆ  และอีกส่วนคือ ส่วนผสมน้ำตาลที่ใช้กินกับถั่วแปบ ใช้น้ำตาลทรายเกล็ดละเอียด และงาขาวคั่วใหม่ ๆ

ขั้นตอนการทำ “ถั่วแปบเบญจรงค์ไส้เผือก” เริ่มจากทำตัวไส้ นำเผือกมาปอกเปลือกล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นพอเหมาะ แล้วนึ่งให้สุก จากนั้นบดหรือยีให้ละเอียด แล้วนำใส่ลงในกระทะทองเหลือง ตามด้วยน้ำตาลทราย หัวกะทิ เกลือนิดหน่อย ทำการกวนส่วนผสมด้วยไฟอ่อนถึงปานกลาง กวนไปเรื่อย ๆ จนข้นและเหนียวดี จึงยกลงเทใส่ภาชนะตั้งไว้ให้เย็น ก่อนจะปั้นเป็นก้อนกลม ๆ หรือใส่ถาดแล้วกดให้แน่น ใช้มีดตัดเป็นก้อนเล็ก ๆ ก็จะได้ไส้เผือกตามที่ต้องการ พักไว้    ต่อไปนำถั่วเขียวเลาะเปลือกมาล้างจนสะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำถั่วที่แช่แล้วไปนึ่งในลังถึงให้สุก ตั้งพักไว้ให้เย็น นำมะพร้าวทึนทึกมาขูดเป็นเส้น นำไปนึ่งสักครู่ เสร็จแล้วผสมถั่วกับมะพร้าว เหยาะเกลือป่นลงไปนิดหน่อย คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันทั่ว จัดเตรียมไว้ในถาด ในส่วนของส่วนผสมน้ำตาล นำงาขาวไปคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม ยกลงมาคลุกผสมกับน้ำตาลทราย เตรียมไว้   ตัวแป้งห่อไส้ การทำต้องทำน้ำผสมสีธรรมชาติที่คั้นจากพืชผักเตรียมเอาไว้ก่อน คือน้ำบีทรูท, น้ำใบเตย, น้ำอัญชัน, น้ำฟักทอง และน้ำแครอท จากนั้นจึงนำแป้งข้าวเหนียวในปริมาณพอเหมาะเทใส่กะละมัง ใส่น้ำร้อนลงไปเล็กน้อยคนเคล้าพอทั่ว แล้วค่อย ๆ ใส่น้ำสีผสมธรรมชาติที่ต้องการลงไปพอสมควร ทำการนวดแป้งผสมสีให้เข้ากัน นวดไปเรื่อย ๆ  สังเกตดูลักษณะตัวแป้งว่าจับกันเป็นก้อน มีน้ำหนัก  ทั้งนุ่มและเนียนดี ก็เป็นอันใช้ได้  ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดพอหมาด ๆ คลุมปิดไว้ไม่ให้ตัวแป้งแห้ง
     
จัดการตั้งหม้อต้มน้ำ ขยำใบเตยพอช้ำแล้วมัดผูกกัน ใส่ลงไปในหม้อน้ำเพื่อให้มีกลิ่นหอม ระหว่างรอน้ำเดือดจัดก็หันมาปั้นแป้งแล้วแผ่เพื่อห่อไส้เผือกกวนที่เตรียม ไว้ทีละลูก วางพักไว้ในภาชนะ พอได้ปริมาณพอสมควร ค่อย ๆ หย่อนใส่ลงหม้อต้มน้ำ เมื่อตัวแป้งสุกจะลอยขึ้นมา ใช้กระชอนตักขึ้นมาทำให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำลงคลุกในถาดถั่วกับมะพร้าวที่เตรียมไว้ให้ทั่วทันที เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย พร้อมรับประทานโดยโรยด้วยส่วนผสมน้ำตาลทรายคลุกงาคั่ว

การขาย ก็ตักน้ำตาลทรายคลุกงาคั่วใส่ถุงเตรียมไว้ให้พอกับตัวขนมถั่วแปบ  โดย “ถั่วแปบเบญจรงค์ไส้เผือก”  นี้ขายในราคา 7 ลูก 30 บาท  ซึ่งด้วยการเน้นคุณภาพ ความสะอาด และความเป็นธรรมชาติ ราคานี้ลูกค้าก็ไม่เกี่ยงงอน
 
“ถั่วแปบเบญจรงค์ไส้เผือก” ขายอยู่ที่เสรีเซ็นเตอร์ ชั้น G โซนอาหาร และที่ห้างเมก้า บางนา รวมถึงรับจัดออกบูธออกร้านตามงานต่าง ๆ ด้วย ใครต้องการติดต่ออานนท์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7590-9883
                   
http://www.dailynews.co.th/article/384/113092

Saturday, May 5, 2012

แนะนำอาชีพ 'บ้านทรงไทย'' “ย่อส่วน”

บ้านทรงไทย นั้นมีความสวยงามและมีเสน่ห์ แม้แต่นำมา “ย่อส่วน” ทำเป็น “โมเดล” ก็ยังคงความสวยงามของทรงบ้านไว้ในตัว เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบบ้านทรงไทย สร้างรายได้ให้กับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี ซึ่ง “กลุ่มยี่หวาโมเดล” ที่ทำ ’บ้านทรงไทยย่อส่วน“ ทำโมเดลบ้านทรงไทยขนาดเล็กจำหน่าย ก็ได้การตอบรับจากทั้งในและต่างประเทศ และวันนี้ทางทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีข้อมูลมานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...

บุญพร ยี่หวา ประธานกลุ่มยี่หวาโมเดล เล่าว่า ตนนั้นเรียนจบมาทางด้านก่อสร้าง หลังจากที่เรียนจบก็ได้มีโอกาสเข้าทำงานอยู่ที่บริษัทบ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง เป็นงานที่ทำโมเดลบ้านจัดสรร หลังจากที่ทำงานประจำอยู่ได้ประมาณ 5 ปี พอแต่งงานกับภรรยาก็ตัดสินใจออกจากงาน แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา อ.ลาดบัวหลวง ที่อยู่ปัจจุบัน พอมาอยู่ที่นี่ก็เริ่มมองหาอาชีพใหม่ทำเสริมรายได้ อยู่ที่อยุธยาก็ได้เห็นบ้านทรงไทย ก็เห็นว่าบ้านทรงไทยนั้นมีความสวยงามและมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และจากความถนัดในเรื่องของการทำโมเดลบ้านอยู่แล้ว จึงเกิดความคิดที่จะทำอาชีพโดยทำ “บ้านทรงไทยย่อส่วน” ออกเป็นสินค้าจำหน่าย

“การที่เราจะทำโมเดลบ้านทรงไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราพอที่จะมีพื้นฐานความรู้ในการทำโมเดลบ้านอยู่แล้ว แต่ก่อนที่เราจะทำบ้านทรงไทยย่อส่วน เราก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบต่าง ๆ ของบ้านทรงไทย โดยการหาหนังสือเกี่ยวกับบ้านทรงไทยมาศึกษารูปแบบ” บุญพรบอก ซึ่งหลังจากที่ศึกษารูปแบบบ้านอยู่ไม่นานบุญพรก็สามารถทำบ้านทรงไทยย่อส่วน ได้สำเร็จ โดยเขาบอกว่า การทำบ้านทรงไทยย่อส่วนนั้นทำไม่ยาก หากผู้ที่ต้องการจะทำมีความตั้งใจจริง และมีความพยายาม อดทน ก็สามารถทำออกมาได้ สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐาน ก็สามารถฝึกทำได้ ใช้เวลาฝึกหัดประมาณ 1 สัปดาห์ ก็พอจะสามารถทำได้แล้ว โดยสำหรับผู้ที่เริ่มหัดทำใหม่ ๆ ก็ให้ใช้กระดาษลายไม้ทำก่อน

“ตลาดของบ้านทรงไทยย่อส่วนนั้นก็ไปได้เรื่อย ๆ ขายได้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ” บุญพรกล่าว

ไม้ที่ใช้ทำ ก็จะมีทั้ง ไม้สัก, ไม้เมเปิ้ล และไม้ไผ่สีสุก

“เราเลือกใช้วัสดุที่หลากหลาย เพื่อที่ลูกค้าจะได้มีตัวเลือกที่หลากหลาย ถ้าเป็นไม้สักบ้านจะออกมาสีเข้ม ถ้าเป็นไม้เมเปิ้ลทำออกมาบ้านจะออกเป็นสีอ่อนหน่อย แต่ถ้าเป็นไม้ไผ่สีสุกทำออกมาบ้านจะดูเป็นสีขาว ซึ่งเป็นการสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์”

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำบ้านทรงไทยย่อส่วน หลัก ๆ ก็มี...ไม้สัก, ไม้เมเปิ้ล, ไม้ไผ่สีสุก, กรรไกร, กรรไกรซิกแซ็ก, คัตเตอร์, กาวลาเท็กซ์, กาวร้อน, สเปรย์แล็กเกอร์, หญ้าเทียม และอุปกรณ์เขียนแบบ พวกดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด เป็นต้น

ไม้สักและไม้เมเปิ้ลจะใช้เป็นไม้แผ่นบาง หาซื้อได้ตามร้านขายไม้ ส่วนไม้ไผ่สีสุกจะต้องนำมาเหลาให้เป็นแผ่นบาง ๆ คล้ายการทำเส้นตอก

ขั้นตอนการทำเริ่มจาก...ทำตัวบ้านก่อน โดยการวาดแบบตัวบ้านลงบนกระดาษ ทำการวาดเส้นลวดลายตีตารางบนตัวบ้านให้เป็นสี่เหลี่ยมหรือที่เรียกว่า “ฝาเฟี้ยม” จากนั้นก็ตัดช่องประตูช่องหน้าต่างให้เรียบร้อย แล้วใช้กรรไกรตัดตามแบบที่วาด ทำการพับติดกัน จะได้เป็นลักษณะกล่องสี่เหลี่ยมที่ไม่มีฝาบนล่าง ยึดติดด้วยกาวให้แน่นหนา

หลังจากทำการประกอบเป็นกล่องสี่เหลี่ยมแล้ว ก็นำไม้ที่ต้องการจะใช้ทำ ไม่ว่าจะเป็นไม้สัก ไม้เมเปิ้ล หรือไม้ไผ่สีสุก มาทำการตัดให้เป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เท่ากับแผ่นฝาเฟี้ยมที่วาดไว้บนตัวบ้าน แล้วทำการติดลงบนตัวบ้านที่เป็นกระดาษ โดยใช้กาวยึดติดให้แน่น ทำการติดจนรอบตัวบ้าน

เมื่อได้ตัวบ้านก็ทำการติดพื้นด้านล่าง ติดเสา ติดคาน ด้านล่างให้เรียบร้อย จากนั้นก็เริ่มมาทำหลังคา โดยการใช้กรรไกรซิกแซ็กตัดไม้ให้เป็นลักษณะฟันปลา ตัดหลาย ๆ ชิ้น นำไม้ที่ตัดมาเรียงซ้อนสลับฟันปลา ยึดด้วยกาวให้แน่นโดยเรียงให้ได้ขนาดตามแบบหลังคาที่ต้องการ จั่วบ้านก็ใช้การวาดแบบลงบนกระดาษแล้วนำไปทาบลงบนไม้แล้วตัดตามแบบ เมื่อได้หลังคากับจั่วบ้าน ก็ทำการประกอบเข้าด้วยกันและนำติดกับตัวบ้าน ติดกาวให้แน่น

จากนั้นก็ทำการตกแต่ง ติดบันได ราวบันได และก็เก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย นำไปติดตั้งไว้บนฐานไม้ให้เรียบร้อย ตกแต่งเพิ่มด้วยการนำหญ้าเทียมมาปู ใส่ต้นไม้ปลอมตกแต่งเข้าไปให้เกิดความสวยงาม จากนั้นก็ทำการพ่นแล็กเกอร์ 2 รอบ เพื่อเพิ่มความเงาสวยงาม แล้วบรรจุลงกล่องครอบกระจก เท่านี้ก็เรียบร้อย เตรียมส่งขายได้เลย

บ้านทรงไทยย่อส่วนของบุญพรนั้นมีหลายขนาด ตั้งแต่ 1 ต่อ 100, 1 ต่อ 75, 1 ต่อ 50 และ 1 ต่อ 25 ส่วนรูปแบบบ้านนั้นมีหลากหลาย ทั้ง เรือนหมู่หอกลาง เรือนหมู่ เรือนสองหลังบันไดข้าง เรือนเดี่ยวบันไดหน้าและบันไดข้าง โดยราคาขายนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของบ้าน ราคาก็มีตั้งแต่ 400-6,500 บาท

ผู้ที่สนใจ ’บ้านทรงไทยย่อส่วน“ ของกลุ่มยี่หวาโมเดล ต้องการติดต่อ ก็สามารถสั่งทำและติดต่อสอบถามได้ที่ บุญพร เลขที่ 333/381 ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 08-9992-4529 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่อิงกับวิถีไทยดั้งเดิม ซึ่งก็น่าพิจารณาไม่น้อยเลย...

http://www.dailynews.co.th/article/384/112878