Sunday, February 24, 2013

แนะนำอาชีพ “ปั้นสิบไส้ปลาสลิด”

“ปลาสลิด” ซึ่งเป็นปลาขึ้นชื่อของ จ.สมุทรปราการ สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารว่างอย่าง “ปั้นสิบ” ได้อย่างลงตัว เป็นของว่างที่ขายดี และสามารถขายไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูล “ปั้นสิบไส้ปลาสลิด” จากการที่ไปดูงานมหกรรม 7 ปีสายใยรักแห่งครอบครัวฯ 2555 เมื่อปลายปีที่แล้ว และวันนี้ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง...
                               
ภาวิณี ทองมาก หรือคุณเล็ก เจ้าของผลิตภัณฑ์ปั้นสิบไส้ปลาสลิด “เพลินตา” ทำอาหารแปรรูปจากปลาสลิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 อาหารแปรรูปที่ทำก็เช่น ปลาสลิดทอดกรอบ, น้ำพริกปลาสลิด, ปลาสลิดหยอง ฯลฯ เมื่อทำขายไปได้สักระยะหนึ่ง จนตลาดไม่โตกว่าเดิมแล้ว จึงคิดหาสินค้าตัวอื่นมาเพิ่ม  และคิดว่าน่าจะลองทำ “ปั้นสิบไส้ปลาสลิด” ดู ซึ่งก็พอจะมีความรู้ในการทำขนมอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร และเมื่อทำออกมาก็ประสบความสำเร็จมาก เพราะว่ามีตลาดกว้างมาก มีคนนิยมกินทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ แถมยังสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้อีกด้วย

อุปกรณ์ในการทำ “ปั้นสิบไส้ปลาสลิด” หลัก ๆ ก็มี  กระทะ-เตาแก๊ส, เครื่องนวดแป้ง, มีด-เขียง และภาชนะเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำครัว

การทำ “ปั้นสิบไส้ปลาสลิด” จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนของแป้ง และส่วนของไส้  โดยส่วนของแป้งนั้น วัตถุดิบตามสูตรก็มี แป้งสาลี 800 กรัม, แป้งข้าวเจ้า150 กรัม, น้ำมันพืช 300 กรัม, ไข่ไก่ 2 ฟอง, น้ำปูนใส 250 กรัม และเกลือ 2 ช้อนชา วิธีทำคือ เอาส่วนผสมทั้งหมดมานวดให้เข้ากันจนเป็นแป้งเนียน หากต้องนวดแป้งในจำนวนมากต้องใช้เครื่องนวดแป้งจึงจะประหยัดแรง เมื่อนวดจนแป้งเนียนแล้ว ให้พักแป้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงค่อยเอาแป้งมานวดอีกครั้งเพื่อให้แป้งคลายตัว เมื่อแป้งคลายตัวแล้ว ก็ให้แบ่งแป้งเป็นเส้นยาว ๆ แล้วหั่นแป้งเป็นชิ้นเล็ก ๆ คล้ายลูกเต๋า ความยาวประมาณ 2 ซม.  (คล้าย ๆ กับการหั่นแป้งทำปาท่องโก๋) เสร็จแล้วพักแป้งไว้

สำหรับ ส่วนของไส้ จะใช้  “เนื้อปลาสลิดแห้ง” เป็นส่วนประกอบหลัก โดยวิธีทำคือ เอาปลาสลิดมานึ่งให้สุกทั้งตัว เสร็จแล้วก็เลาะเอาก้างออก เหลือไว้แต่เนื้อ แล้วเอาเนื้อปลาสลิดไปทอดให้เหลือง จากนั้นนำไปอบอีกครั้งเพื่อให้แห้ง และเพื่อไล่ความชื้นออก   ขั้นตอนนี้ เนื้อปลาสลิด 1 กก. เมื่ออบแห้งเสร็จแล้วจะเหลือเนื้อปลาประมาณ 200 กรัม
         
ในขณะที่ส่วนผสมอื่น ๆ ของไส้ หากใช้เนื้อปลาสลิดอบแห้งแล้ว 500 กรัม วัตถุดิบอื่น ๆ ตามสูตรก็จะใช้ หอมแดงบดละเอียด, กระเทียมบด และข่าบด รวมกัน 200 กรัม, น้ำตาลทราย 1,000 กรัม, น้ำมันพืช 300 กรัม, เกลือ 5-6 ช้อน ถั่วลิสงคั่วบดละเอียด 100 กรัม
       
วิธีทำไส้ ก็ใช้น้ำมันพืชผัดหอมแดง-กระเทียม-ข่าบด ผัดให้หอม และตามด้วยการใส่น้ำตาลทราย เกลือ ถั่วลิสงคั่วบด และใส่เนื้อปลาสลิดอบแห้ง 500 กรัม ผัดไปเรื่อย ๆ จนแห้ง  ชิมรสให้มีรสหวานนำเค็มเล็กน้อย เสร็จแล้วพักให้เย็น แล้วจึงปั้นไส้เป็นลูกกลม ๆ เล็ก ๆ เตรียมไว้ต่อไปเป็น วิธีปั้นแป้ง เริ่มจากแผ่แป้งที่หั่นเตรียมไว้ให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำไส้ขนมที่ปั้นไว้มาใส่ตรงกลาง จากนั้นประกบแป้งปิดไส้ให้เป็นครึ่งวงกลม แล้วก็ม้วนเก็บริมแป้งให้เป็นเกลียว เท่านี้ก็เรียบร้อย พร้อมจะนำไปทอด
การทอดก็ให้ทอดในน้ำมันโดยใช้ไฟร้อนปานกลาง ซึ่งวิธีทอดนั้นคุณเล็กบอกว่า จะทอดให้สุกประมาณ 60% เตรียมไว้ก่อน  เมื่อนำออกขายก็จะทอดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สุกทันใจลูกค้าสั่ง เพราะหากทอดรอบเดียวเลยโดยทอดไปขายไป จะทอดไม่ทันขาย
ส่วนราคาขายนั้น จะขาย กก.ละ 300 บาท โดยมีทุนวัตถุดิบประมาณ 60% จากราคาขาย 

“ปั้นสิบไส้ปลาสลิดนั้นเป็นอาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย มีโอเมกาสาม แป้งบางกรอบนุ่มเก็บได้นาน 2  สัปดาห์ หากใส่ตู้เย็นไว้จะเก็บได้นานเกิน 1 เดือนขึ้นไป โดยเนื้อแป้งไม่แข็ง รับประทานกับน้ำชา กาแฟ ก็เข้ากัน” คุณเล็กบอก
                                   
ใครสนใจ “ปั้นสิบไส้ปลาสลิด” ต้องการติดต่อ คุณเล็ก–ภาวิณี ทองมาก ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-9699-7668 และอีเมล pleonta_salid@hotmail.com และกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ยังขายอยู่ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-16.00 น.

http://www.dailynews.co.th/article/384/186494

Friday, February 22, 2013

แนะนำอาชีพ 'ข้าวเม่าน้ำนม''

ข้าวเม่า เป็นขนมทานเล่นที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน บ้างเอามาคลุกมะพร้าว บ้างเอามาห่อกล้วยแล้วทอด ซึ่งปัจจุบันข้าวเม่านั้นสามารถทำขายเป็นอาชีพสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี อย่าง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าน้ำนม 100%” ศูนย์ผลิตข้าวเม่าอ่อนบ้านเนินสะอาด ต.เมืองไผ่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นี่ก็รวมกลุ่มกันทำ ’ข้าวเม่าน้ำนม“ ขาย เป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“ ซึ่งทั้งขายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี...


สมคิด ตันเฮง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าน้ำนม 100% เล่าว่า คนที่ชุมชนนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนาปลูก
ข้าวกันแทบทั้งนั้น ได้ข้าวแล้วก็เอาไปขายให้กับเถ้าแก่ที่รับซื้อ ซึ่งที่ผ่านมาราคาขายก็ต้องอยู่ที่คนรับซื้อว่าจะให้ถังละเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะได้ราคาไม่ค่อยดี จนคนในชุมชนต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้ขายข้าวได้ในราคาสูง และก็มาคิดว่าน่าจะนำเอาข้าวมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทุกคนก็ช่วยกันคิด จนเกิดการทำ “ข้าวเม่าน้ำนม” ขาย ซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาของรุ่นปู่รุ่นย่าที่พวกท่านทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ นำมาใช้สร้างรายได้

พอทำข้าวเม่าขาย ก็ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ดีกว่าขายข้าวหลายเท่า

“แรก ๆ ก็ผลิตขายในหมู่บ้าน จนภายหลังมาถึงจุดพลิกผันของผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าน้ำนมของเรา คือสามารถโกอินเตอร์ได้ เพราะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในชุมชน แล้วซื้อกลับไปกินที่อเมริกา ประมาณ 10 กิโลกรัม เกิดติดใจ จึงสั่งเพิ่มอีกเกือบร้อยกิโลกรัม และก็เพิ่มมาเรื่อย ๆ” สมคิดกล่าว

เมื่อมีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้น ทางกลุ่มก็ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเรื่องเงินทุน หมุนเวียนในการรับซื้อวัตถุดิบจากสมาชิก

ข้าวเม่าน้ำนม 100% ของกลุ่มนี้ เป็นที่นิยมเพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งธาตุเหล็ก บำรุงเลือด มีแคลเซียม วิตามินเอ และอื่น ๆ อีกมากมาย…

สำหรับอุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี อุปกรณ์สำหรับคั่ว เป็นเครื่องสำหรับคั่วที่ทำขึ้นโดยใช้การควบคุมด้วยมอเตอร์ หรือจะใช้วิธีคั่วด้วยมือก็ได้, เตาแก๊ส, กระทะ, ไม้พาย, เครื่องตำข้าว, เครื่องซีลสุญญากาศ เป็นต้น

วัตถุดิบหลักก็คือ ข้าวหอมน้ำผึ้ง ซึ่งเดิมทางกลุ่มลองใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 เพราะเห็นว่านิ่ม แต่พอคั่วแล้วตำ ข้าวเม่าที่ได้จะแข็ง จึงเปลี่ยนมาใช้ข้าวหอมน้ำผึ้ง และได้ข้าวเม่าที่นิ่มขึ้น โดยข้าวที่นำมาใช้ทำนั้นจะใช้ข้าวที่ใช้เวลาปลูก 90 วัน พอสังเกตเห็นรวงก้ม นับไปอีก 10 วัน ก็ต้องเกี่ยวให้หมด มิฉะนั้นข้าวจะแก่ไป (ข้าวที่เหมาะใช้ทำข้าวเม่านั้นให้ลองนำเมล็ดข้าวมาบีบให้เมล็ดแตกจะมีน้ำ ขาวขุ่นหรือที่เรียกว่าน้ำนมข้าวไหลออกมาจากเมล็ดข้าว)

ขั้นตอนการทำ...เริ่มจากนำรวงข้าวที่ผ่านการตีเอาเมล็ดข้าวที่แก่ที่อยู่ ส่วนปลายยอดออกแล้วมาทำการขูดเอาเมล็ดที่ยังติดอยู่ที่ส่วนกลางของรวงข้าว เมื่อขูดข้าวได้แล้วก็นำไปร่อนแยกเมล็ดข้าวออกจากเศษฟาง

หลังจากร่อนแยกเมล็ดข้าวกับฟางออกจากกันแล้ว ก็นำข้าวไปล้างทำความสะอาดและคัดเอาเมล็ดที่ลีบออก โดยนำข้าวไปแช่ในน้ำ เมล็ดที่ลอยน้ำก็ให้คัดออกไป นำข้าวที่ล้างทำความสะอาดและคัดเมล็ดที่ลีบออกแล้วไปใส่ลงเครื่องคั่ว ใช้ไฟประมาณ 55 องศาเซลเซียส ให้ใช้ไฟสม่ำเสมอ คั่วกระทะละประมาณ 3 กิโลกรัม คั่วไปเรื่อย ๆ ประมาณ 10-15 นาที แล้วสังเกตว่าข้าวสุกหรือยัง โดยการบี้ข้าวดู ถ้าเมล็ดข้าวนิ่มและเหนียว ก็ใช้ได้

นำข้าวขึ้นจากกระทะใส่ไว้ในกระด้ง ทิ้งไว้ให้ข้าวพออุ่น ๆ จึงนำเข้าครกกระเดื่องเพื่อทำการตำกะเทาะเปลือก เวลาตำนั้นควรใช้ไม้พายเขี่ยเมล็ดข้าวในครกให้กระจายไม่ติดกันเป็นปั้น ใช้เวลาตำประมาณ 4-5 นาที จากนั้นนำข้าวขึ้นมาทำการแยกแกลบออกจากเมล็ดข้าว โดยนำเข้าเครื่องดูดแกลบ หรือจะใช้วิธีใส่กระด้งแล้วฝัดข้าวแบบสมัยโบราณก็ได้ แต่ต้องแยกแกลบออกจากเมล็ดข้าวให้หมด และก็ทำขั้นตอนเดิมอีกประมาณ 4 รอบ ก็จะได้เมล็ดข้าวที่แยกแกลบออกหมด 100%

ขั้นตอนสุดท้าย ก็เป็นการนำข้าวเม่าที่ทำการแยกแกลบออกจากเมล็ดหมดแล้วมาบรรจุใส่ถุงพลาสติก ถุงละ 1 กิโลกรัม ทำการซีลปิดปากถุงด้วยระบบสุญญากาศ จากนั้นจัดเก็บไว้ในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้รอจำหน่ายได้นานประมาณ 4 เดือน

การทำ ’ข้าวเม่าน้ำนม“ นั้น ข้าว 1 ถัง 10 กิโลกรัม ทำข้าวเม่าได้ประมาณ 4 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งข้าวเม่านี้ก็สามารถกินเล่นได้เลย หรืออาจจะมีการนำไปคลุกกับมะพร้าวด้วย หรือห่อกล้วยทอด ก็สุดแท้แต่ผู้ที่ซื้อไป
สำหรับผู้ที่สนใจกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ต้องการติดต่อกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าน้ำนม 100% กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต.เมืองไผ่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เบอร์โทรศัพท์คือ 08-9518-6807.

http://www.dailynews.co.th/article/384/186276

Sunday, February 17, 2013

แนะนำอาชีพ ''พิซซ่าไทยสไตล์''

’พิซซ่า” อาหารฝรั่งที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไทยจำนวนไม่น้อยชอบรับประทาน ในบ้านเรานอกจากจะมีร้านขายที่เป็นแบรนด์ใหญ่ ๆ แล้ว กับการทำขายทั่ว ๆ ไปก็ใช่ว่าไม่น่าสนใจ อย่างร้าน “ไทย สไตล์ พิซซ่า คาเฟ่” ที่ใช้สูตรพลิกแพลง ทำหน้าพิซซ่าใหม่ ๆ โดยนำอาหารไทยมาผสมผสาน ปรุงแต่งรสชาติจนอร่อยถูกปากคนไทยมากขึ้น นี่ก็ขายดีทั้งที่ร้าน รวมถึงกับการออกไปทำสด ๆ ขายตามตลาดนัด ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมาให้ลองพิจารณากัน...
“รจนา แก่นบุญ” เป็นเจ้าของร้าน “ไทย สไตล์ พิซซ่า คาเฟ่” ร้านนี้ขายอาหารทั้งอาหารไทย อาหารตามสั่งต่าง ๆ หลากหลาย และอาหารฝรั่ง เช่น  สเต๊ก สปาเกตตี รวมถึงพิซซ่า
โดยรจนาเล่าว่า เดิมทีเดียวหลังจากแต่งงานก็มีหน้าที่เป็นแม่บ้าน คอยรับส่งลูกไปเรียน อยู่ที่กรุงเทพฯ จนเมื่อประมาณ 5 ปี ที่แล้ว หลานที่อยู่ทางบ้านที่ จ.สระแก้ว ได้ชวนขายของช่วงโรงเรียนปิดเทอม ก็เลยกลับสระแก้วเพื่อขายของ ซึ่งก็คิดว่าจะขายอาหารอยู่แล้วเพราะเป็นคนชอบทำอาหาร แต่ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะขายอะไรดี จนมีเพื่อนของเพื่อนที่ทำแป้งพิซซ่าขายมาสอนวิธีการทำพิซซ่าให้ จึงตัดสินใจขายพิซซ่า

ที่ตัดสินใจทำพิซซ่าขาย ก็เพราะเห็นว่าตลาดนัดที่สระแก้วยังไม่มีคนทำขาย จึงเริ่มจากการทำขายตามตลาดนัดต่าง ๆ ซึ่งวันแรกที่ทำขายนั้นขายดี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบกันมาก เตรียมของไปเป็นร้อยชิ้น ขายหมดในเวลาไม่นาน ซึ่งทำขายตามตลาดนัดได้ระยะหนึ่งก็ถึงช่วงเปิดเทอม จึงต้องกลับกรุงเทพฯ แต่ก็เกิดความเสียดายรายได้จากการขาย จึงปรึกษาสามีว่าอยากจะกลับสระแก้วเพื่อขายของ ซึ่งสามีก็ไม่ได้ว่าอะไร จึงกลับสระแก้วเพื่อทำพิซซ่าขายตามตลาดนัดมาเรื่อย ๆ มีตลาดนัดที่ไหนก็ตระเวนขายไปทั่ว ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี หลังจากที่ทำขายตามตลาดนัดอยู่ประมาณ 5 ปี ก็เปิดร้านขายโดยขายอาหารอื่น ๆ ด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการขายพิซซ่าตามตลาด ยังคงขายอยู่สัปดาห์ละ 3 วัน

เดิมนั้นทำหน้าพิซซ่าอยู่ 6 หน้าคือ รวมมิตร ซีฟู้ด ฮาวายเอี้ยน ไส้กรอก ปูอัด ต้มยำกุ้ง แต่ภายหลังก็ได้พัฒนาทำหน้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น ปลาทูน่า ไส้กรอกสโมคกี้เบคอน (เด็ก ๆ ชอบมาก) รวมถึงหน้าไทย ๆ เช่น ลาบหมู และยังพยายามคิดหน้าใหม่ ๆ แบบไทย ๆ ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ เพื่อให้หลากหลาย เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า

“การขายตามตลาดนัดเราจะไม่ทำสำเร็จไปขาย แต่จะเตรียมหน้า เตรียมแป้ง ไปอบขายกันสด ๆ วัตถุดิบที่ใช้ก็จะต้องเป็นของดี สดใหม่ การอบขายกันสด ๆ นั้นเป็นจุดขายที่ดี เพราะลูกค้าจะได้ของใหม่ ๆ ที่ยังร้อน ๆ ที่สำคัญพอนำพิซซ่าที่อบออกจากเตากลิ่นหอมของพิซซ่าก็จะกระจาย คนที่เดินตลาดนัดได้กลิ่นแล้วก็จะเกิดความอยากกินขึ้นมาได้”

อุปกรณ์ในการทำพิซซ่า หลัก ๆ มีดังนี้คือ...หม้ออบอเนกประสงค์ (หม้ออบไฟฟ้าเป่าลมร้อน ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าบาท), ลูกกลิ้งตัดพิซซ่า, พาย นอกเหนือจากนี้ก็เป็นอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดที่มีใช้ในครัวเรือนทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว

วัตถุดิบ ก็มี...แป้งพิซซ่า(ใช้แป้งที่ทำสำเร็จ), ซอสพิซซ่า, ซอสพริก, ซอสมะเขือเทศ, มายองเนส, ออริกาโน่ ส่วนวัตถุดิบทำหน้าพิซซ่า ก็เช่น ปูอัด, ปลาหมึก, ปลาทูน่า, ไส้กรอก และอื่น ๆ ที่ใช้ทำ ซึ่งถ้าเป็นหน้าลาบหมู ก็จะปรุงลาบหมูเตรียมไว้เลย ส่วนชีสที่ใช้มี 2 ชนิดคือ มอสซาเรล่า ชีส (ทำให้หน้าเหนียวและยืด) และ เชดด้า ชีส (ทำให้กลิ่นพิซซ่าหอม)

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำแป้งพิซซ่าสำเร็จรูปมาทาด้วยซอสพิซซ่าให้ทั่วหน้าแผ่นแป้ง ทาไม่ต้องหนามาก ซึ่งซอสพิซซ่าจะเพิ่มสีสันให้พิซซ่า จากนั้นก็จัดเรียงวัตถุดิบเป็นหน้าพิซซ่าตามที่ลูกค้าสั่ง อย่างถ้าเป็นหน้าไส้กรอกสโมคกี้เบคอน ก็นำไส้กรอกสโมคกี้หั่นเป็นชิ้นเล็กพอประมาณ นำเบคอนหั่นวางเรียงให้ทั่วหน้าแผ่นแป้งที่ทาด้วยซอสพิซซ่าแล้ว หรือถ้าเป็นหน้าลาบหมู ก็นำลาบหมูที่ทำเตรียมไว้แล้วมาใส่ลงบนหน้าแป้งที่ทาซอสพิซซ่าแล้ว โดยเกลี่ยให้ทั่วแผ่นแป้ง

เมื่อทำการเรียงหน้าทำหน้าเสร็จแล้ว ก็นำมายองเนสที่ใส่ในขวดมาบีบราดทับลงบนหน้าพิซซ่า ราดเป็นตารางหมากฮอส เพื่อความสวยงาม และยังเป็นการทำให้มายองเนสไม่กระจุกอยู่ที่เดียว จากนั้นก็นำมอสซาเรล่า ชีส และเชดด้า ชีส มาขูดโรยหน้าทับลงไปให้ทั่วแผ่นแป้งพิซซ่าจากนั้นจึงนำเข้าเตาอบ ใช้ความร้อน 250องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบประมาณ
5-7 นาที (ก่อนนำพิซซ่าเข้าอบในเตาให้ทำการเปิดเตาวอร์มไว้ประมาณ 1 นาทีก่อน) เมื่ออบเสร็จตามเวลาแล้วก็นำออกจากเตามาโรยหน้าด้วยออริกาโน่ ใส่กล่อง เท่านี้ก็เรียบร้อย พร้อมขายให้กับลูกค้า

พิซซ่าของร้าน “ไทย สไตล์ พิซซ่า คาเฟ่” ของรจนา ที่ทำขายอยู่มี 3 ไซซ์ ได้แก่ เล็ก ขนาด 5 นิ้ว, กลาง ขนาด 7 นิ้ว, ใหญ่ ขนาด 9 นิ้ว ราคาก็อยู่ที่ 60-90-120 บาท ตามลำดับ แต่สำหรับแป้งแบบแผ่นบางจะมีเฉพาะไซซ์ใหญ่
“ไทย สไตล์ พิซซ่า คาเฟ่ (Thai Style PIZZA Cafe)” ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ 366/1 ถนนสุวรรณศร อ.เมือง จ.สระแก้ว ใครผ่านไปแถวสระแก้วอยากจะลองชิม “พิซซ่ารสชาติไทย ๆ” และอาหารอร่อยอื่น ๆ ของทางร้าน ก็เชิญได้ ส่วนเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ รจนา แก่นบุญ คือ โทร.08-1428-2613 ซึ่งการ ’ทำพิซซ่าขาย“ นี่ก็เป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/183297

แนะนำอาชีพ “โอ่งผ้าไทย”

“ผ้าไทย” อย่าง  “ผ้าถุง”  และ “โอ่งดิน” ที่ใส่น้ำ ขนาดใบย่อม ๆ สามารถนำมาประดิษฐ์เข้ากันเป็น “โอ่งผ้าไทย” เป็นของชำร่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าเดิม ๆ และก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ยังมีตลาดรองรับการจำหน่าย ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลงานประดิษฐ์แบบไทย ๆ รูปแบบนี้มาให้พิจารณากัน...
                                   
อ.ชลอ ทองสุข ชมรมบุคคลต้นแบบภูมิปัญญาฯ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ  จ.ปทุมธานี เล่าถึงความเป็นมาของ “โอ่งผ้าไทย” ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เห็นลูกหลานซื้อผ้าลายไทยไปไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ แล้วก็เห็นมีคนเอาผ้าไทยไปตากผึ่งแดดที่ขอบโอ่ง ซึ่งดูไม่สวยงาม แต่ก็ทำให้เกิดความคิดว่าถ้าทำโอ่งที่มีลวดลายเป็นผ้าไทยคงจะสวยไม่น้อย จึงได้เริ่มคิดวิธีทำขึ้นมา
วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำชิ้นงาน “โอ่งผ้าไทย” นั้น หลัก ๆ ก็มีโอ่งดิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว สูงประมาณ 6 นิ้ว, กรรไกร, กาวลาเท็กซ์, กระดาษทราย, ดิ้นเงิน-ดิ้นทอง และผ้าถุงที่เป็นผ้าลายไทย
วิธีทำ เริ่มที่การนำโอ่งไปแช่น้ำไว้ 2 ชั่วโมง นำขึ้นมาผึ่งลมให้แห้ง เสร็จแล้วนำกระดาษทรายมาขัดโอ่งให้เนียน ซึ่งเหตุที่ต้องนำโอ่งไปแช่น้ำก่อน เพราะถ้าไม่แช่ เวลาติดผ้าแล้วอาจจะหลุดได้ง่าย

เมื่อขัดโอ่งให้เนียนแล้ว ก็พักเตรียมไว้ จากนั้นทำการตัดผ้าถุงลายไทยเป็นชิ้น ๆ โดยตัดตามลายของผ้าให้แยกออกเป็นชิ้น ๆ โดยชิ้นผ้าแต่ละชิ้นจะตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดยาวด้านละ 2 ซม.

ขั้นต่อมาก็ทากาวลาเท็กซ์ที่ใต้ขอบฝาโอ่ง จากนั้นเตรียมชิ้นผ้าลายไทยที่ตัดแล้ว 4 ชิ้น นำมาตัดครึ่ง โดยชิ้นผ้าแต่ละชิ้นที่ถูกตัดออกมาจะกลายเป็นชิ้นผ้ารูปสามเหลี่ยม จะได้ชิ้นผ้าลายไทยทั้งหมด 8 ชิ้น เสร็จแล้วนำชิ้นผ้าไปแปะทีละชิ้นที่ใต้ฝาขอบโอ่ง โดยผ้าด้านขวางจะถูกติดใต้ขอบโอ่ง และผ้าด้านมุมจะอยู่ด้านล่าง

เมื่อติดไปจนครบรอบขอบโอ่ง ก็จะครบ 8 ชิ้นพอดี

เสร็จขั้นตอนที่ว่ามาข้างต้นแล้ว ก็ตัดผ้าเฉลียง รูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 1.5 นิ้ว  ยาว 5 นิ้ว จากนั้นทากาวรอบบริเวณขอบโอ่ง แล้วนำผ้าเฉลียงมาแปะปิดขอบโอ่งให้เรียบร้อย ทั้งในและนอกขอบโอ่ง

สำหรับบริเวณตัวโอ่งนั้น นำชิ้นผ้าลายไทยที่ตัดเตรียมไว้มาแปะบนตัวโอ่งได้เลย โดยเริ่มแปะที่บริเวณช่องว่างใต้ขอบโอ่งลงมา แปะลงมาเรื่อย ๆ ลงไปจนถึงก้นโอ่ง

อ.ชลอ บอกว่า ขั้นตอนการแปะผ้าลงบนโอ่งนี้จะค่อนข้างยาก ดังนั้นเวลาที่ติดผ้าลงตัวโอ่งก็ต้องอาศัยความประณีต และใช้สมาธิพอสมควร การแปะผ้าแต่ละชิ้นต้องหุ้มตัวโอ่งให้ตึง อย่าให้ผ้าเกยกัน เพราะจะดูไม่เรียบร้อย  
ส่วนบริเวณฝาปิดโอ่ง ก็เริ่มแปะชิ้นผ้าจากขอบฝาขึ้นมาจนถึงบริเวณจุก วิธีการแปะผ้าก็คล้าย ๆ กับการแปะขอบฝาโอ่งที่อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อแปะผ้าเสร็จแล้ว ก็ตกแต่งด้วยการผูกดิ้นเงินหรือดิ้นทองที่ฝาโอ่ง ให้ดูสวยงาม เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว

“โอ่งผ้าลายไทยนี้ แรก ๆ ก็ทำค่อนข้างยากหน่อย ต้องฝึกไปเรื่อย ๆ จึงจะชิน และถนัดมือมากขึ้น ทำครั้งแรกต้องมีความละเอียด ต้องใจเย็น แต่พอทำเสร็จออกมาแล้วจะดูสวย ดูมีราคา” อ.ชลอ กล่าว

พร้อมยังบอกต่อไปว่า ช่วงที่ฝึกทำใหม่ ๆ อาจจะใช้เวลาในการทำ 2-3 ชั่วโมง ต่อ 1 ใบ แต่พอทำได้คล่องแล้วก็จะใช้เวลาน้อยลง พอเรารู้แบบ รู้ทักษะ รู้วิธีทำ รู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็จะมีความคิดออกมาเองว่าจะทำอย่างไรให้เร็วขึ้น
ในส่วนของราคาขาย “โอ่งผ้าไทย” นั้น อ.ชลอ บอกว่า ถ้าเป็นขนาดโอ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถขายได้ในราคาใบละ 100-150  บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนวัสดุหลักอยู่ที่ใบละประมาณ 50 บาทขึ้นไป

“ต้นทุนน้อย ได้งานหรู ต่างชาตินิยมซื้อเป็นของฝาก” เป็นคำกล่าวของ อ.ชลอ เป็นคำกล่าวปิดท้ายถึงชิ้นงาน “โอ่งผ้าไทย”
                                
ใครสนใจชิ้นงาน สนใจการประดิษฐ์ “โอ่งผ้าไทย” ต้องการติดต่อ อ.ชลอ ทองสุข  ก็ติดต่อได้ที่ เลขที่ 48 หมู่ 2 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โทร. 08-3037-5189 และ 08-6407-0377 ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่าง เป็นกรณีศึกษา การนำวัสดุเดิม ๆ แบบไทย ๆ มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/183563

แนะนำอาชีพ 'เครื่องประดับไม้'

’งานไม้“ งานที่ใช้วัสดุเกี่ยวกับไม้ ยังเป็นงานฝีมือ งานไอเดีย ที่มีการผลิตออกมาต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าตลาดส่วนนี้ยังไม่ตัน และก็อาจเพราะคุณสมบัติของวัสดุประเภทไม้ ที่ทำให้ชิ้นงานดูมีค่า-มีราคา จึงทำให้หลายคนนิยมนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเป็น ’ช่องทางทำกิน“  อย่าง 3 สาวที่รวมกลุ่มผลิตงานฝีมือจากไม้เพื่อเสริมรายได้กลุ่มนี้ นี่ก็น่าสนใจ...
     
นันทิยา สุทธหลวง ตัวแทนของกลุ่ม ที่ยังประกอบไปด้วยเพื่อนอีก 2 คนคือ พรทิพย์ ตันทเสน และ พรนิภา บริบูรณ์ เล่าว่า แต่ละคนมีงานประจำรองรับกันอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ทุกคนในกลุ่มชอบทำงานประดิษฐ์ และอยากหารายได้เสริม จึงรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าประเภทของตกแต่ง, เครื่องประดับ, ของกระจุกกระจิก โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “บังอร (BangOnShop)” ตระเวนขายตามงานสินค้าและตามตลาดนัดงานทำมือ ล่าสุดมาขายอยู่ที่ตลาดนัดของทำมือโครงการอารีย์การ์เด้น ในซอยอารีย์สัมพันธ์ นอกจากนั้นยังเปิดร้านออนไลน์จำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก ในชื่อ www.facebook.com/ByBangOnShop ซึ่งก็เริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  
ตอนแรกเริ่มจากการทำกระเป๋าผ้าทำมือ ต่อมามองเห็นว่ากระดุมไม้ที่ต้องนำมาใช้สำหรับตกแต่งงานกระเป๋าที่ทำอยู่ มีลวดลายและรูปแบบซ้ำกัน มีแบบให้เลือกไม่มาก คิดว่าน่าจะทำขึ้นใช้เองได้ จึงทำการออกแบบ ต่อมาเพื่อนในกลุ่มเสนอว่ากระดุมไม้ที่ทำอยู่นั้นน่าจะนำมาต่อยอดใส่ไอเดีย ดัดแปลงให้แตกไลน์ขยายเป็นสินค้าชนิดอื่น ๆ ได้ อาทิ ตุ้มหู, เข็มกลัด รวมถึงกิ๊บติดผม จึงทดลองออกแบบเพิ่ม และกลายมาเป็นสินค้างานไม้อย่างที่เห็น
  
“งานชิ้นนี้เริ่มทำมาได้ประมาณ 2 ปีกว่า ๆ แล้ว แต่ก่อนเคยขายที่จตุจักร แต่สู้เรื่องค่าเช่าไม่ไหว จึงเปลี่ยนเป็นตระเวนขายตามตลาดนัดสินค้าทำมือ โดยอาศัยการใช้ช่องทางของเฟซบุ๊กเข้าช่วย เพื่อแจ้งข่าวสารกับลูกค้าว่าจะไปขายที่ไหน และรับสั่งจองสินค้าผ่านทางช่องทางนั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าพอไปได้ และเริ่มมีลูกค้ารู้จักชิ้นงานของเรามากขึ้น”
  
นันทิยาบอกว่า แรก ๆ ลูกค้าก็จะสงสัยและเข้ามาสอบถาม พร้อมทั้งหยิบจับสินค้าว่าคืออะไร พอทราบว่าเป็นงานไม้ทำมือ ลูกค้าก็สนใจ จุดเด่นของชิ้นงาน นอกจากจะเป็นไม้แล้ว รูปแบบและสีสันก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้สินค้าน่าสนใจ โดยรูปแบบส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ตัวการ์ตูนน่ารัก ๆ รวมถึงรูปแบบที่เป็นลายกราฟิก ลายเส้นสวย ๆ โดยสีสันจะเน้นไปที่โทนอ่อนหวาน เพราะลูกค้าทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้หญิง ซึ่งมีตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น และคนทำงาน จนถึงผู้ใหญ่
  
“ถ้าเป็นวัยรุ่นก็จะชอบที่มีสีสันนิด ๆ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะชอบที่เป็นลายไม้ที่ไม่ลงสี ไม้ที่เราเลือกมาทำจะยึดวัสดุประเภทไม้สักเป็นหลัก เพราะมีเนื้อไม้ที่เหมาะกับการทำงาน และมีลายไม้ที่ดูคลาสสิก” นันทิยากล่าว
  
ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ไม่นับรวมค่าจ้างตัดด้วยเครื่องเลเซอร์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์และสีที่ใช้ตกแต่ง ขณะที่ทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคาขาย ซึ่งมีตั้งแต่ชิ้นละ 59 บาทขึ้นไป ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ก็มี กรรไกร, คัตเตอร์, กระดาษทราย, พู่กัน, กาว, สีอะคริลิก, เข็มกลัด, แป้นตุ้มหู, กิ๊บติดผม เป็นต้น  
  
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบโครงร่างของรูปแบบสินค้าที่ต้องการ หากใครมีทักษะการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็จะยิ่งช่วยให้ทำงานได้เร็ว ขึ้น ส่วนใครไม่มีก็อาจใช้การวาดภาพร่างลงบนกระดาษแทนก็ได้ แต่จะทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ช้าขึ้น เพราะร้านตัดไม้จะต้องไปแกะแบบหรือทำการแปลงให้เป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ก่อน เนื่องจากเครื่องตัดเลเซอร์ใช้ระบบการป้อนคำสั่งด้วยคอมพิวเตอร์
  
เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว ก็ส่งแบบให้กับร้านตัดไม้ ซึ่งจะทำการตัดไม้ด้วยเครื่องเลเซอร์เพื่อขึ้นรูปชิ้นงาน และเมื่อได้ชิ้นงานมาแล้วก็นำมาตกแต่งพื้นผิวให้เรียบด้วยการใช้กระดาษทราย ค่อย ๆ ขัดเสี้ยนไม้หรือลบรอยคมที่เกิดจากการตัดให้เกลี้ยง แล้วนำไปทำความสะอาด จากนั้นนำมาลงสีชิ้นงานด้วยสีอะคริลิก แล้วจึงทำการติดแป้นตุ้มหู กิ๊บติดผม หรือเข็มกลัด แล้วแต่จะทำเป็นอะไร ติดด้วยกาว จากนั้นก็ตรวจสอบความเรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
  
“ไม้สัก 1 แผ่น ราคาขายอยู่ที่ฟุตละ 12-15 บาท ขึ้นกับคุณภาพและความหนา โดยไม้สักความยาว 1 ฟุตจะสามารถตัดออกมาเป็นตุ้มหูได้ประมาณ 5 คู่ หรือ 10 ชิ้น” เจ้าของชิ้นงานกล่าว
                  
ใครสนใจงานไม้ ’เครื่องประดับไม้“ เจ้านี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-0595-1828, 08-7077-3349 และตามเฟซบุ๊กข้างต้น หรือใครสนใจอยากจะไปดูสินค้าก็แวะไปดูได้ทุกวันเสาร์ที่โครงการอารีย์กา ร์เด้น ในซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งแม้ผู้ผลิตชิ้นงานกลุ่มนี้จะทำเป็นอาชีพเสริม แต่นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจเช่นกัน.

http://www.dailynews.co.th/article/384/184830

แนะนำอาชีพ เต้าหู้นมสดรสผลไม้”

อาหารสร้างรายได้ ทำเองขายเอง แนวคิดนี้มีผู้สนใจมองหากันมากมาย ซึ่ง “น้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้” ที่เป็นอีกทางเลือกของอาหารแนวใหม่จากกระแสนิยมอาหารประเภทนม โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่ชอบทานอาหารเสริมเพื่อเพิ่มแคลเซียม นี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาเสนอให้ลองพิจารณากัน...
  
ศุภวดี กะทิพรมราช เจ้าของเต้าหู้นมสด ตรา “คุณเจี๊ยบ” เล่าถึงความสำเร็จในอาชีพให้ฟังว่า มีจุดเริ่มต้นด้วยความชอบส่วนตัว จากการที่เธอและครอบครัวชอบทานเต้าหู้นมสด ภายหลังก็เกิดความคิดที่จะผลิตขาย โดยได้ทดลองทำตามวิธีการทำเต้าหู้นมสด ทั้งจากตำราอาหาร จากอินเทอร์เน็ต และคำบอกเล่าถึงสูตรต่าง ๆ จากผู้รู้ แล้วมาลองฝึกทำ จดบันทึกและปรับปรุงมาเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูก จนได้รสชาติที่ชอบเฉพาะตัว จึงลองทำขาย ซึ่งก็มีเสียงตอบรับดีมาก จนกลายเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว จากนั้นก็พัฒนาสูตรด้วยการเพิ่มชิ้นผลไม้ลงไป เพื่อเพิ่มคุณค่า รสชาติ และสีสัน ให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยมีการทำเรื่องขอ อย. เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์
 
“สภาพแวดล้อมปัจจุบันทำให้คนใส่ใจรักสุขภาพของตัวเองและครอบครัวมากขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ของเราจึงไม่หยุดอยู่กับที่ น้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เป็นสูตรพิเศษที่ไม่ซ้ำแบบใคร เริ่มลองทำขายตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ขายคู่กับเต้าหู้นมสดที่ทำอยู่เดิม กระแสตอบรับจากลูกค้าดีเกินคาด เพราะน้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้มีหลายรสให้เลือกบริโภคได้ไม่จำเจ และเพิ่มความอร่อยขึ้นด้วยเม็ดแมงลัก และวุ้นปั่นที่ผสมในน้ำนมสด จึงทำให้น้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้ มีทั้งความสด หอม หวาน และมันอร่อย ที่ลงตัวเข้ากันพอดี”

สำหรับอุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, หม้อเคลือบ, หม้อสเตนเลส (ขนาด-จำนวนขึ้นอยู่กับปริมาณการทำ), กระบวย, ทัพพี-ไม้พาย, กะละมัง, เครื่องปั่น, กระชอน, ผ้าขาวบางสำหรับกรองกาก, ถ้วยตวง, ภาชนะใส่เครื่องผสม, ขวดพลาสติกอย่างหนาที่มีฝาปิด (ขนาด 150 ซีซี) สำหรับบรรจุจำหน่าย และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

วัตถุดิบที่ใช้ทำ ตามสูตรก็มี... นมสด, นมข้นจืด, ครีมเทียม, น้ำสะอาด, เจลลาติน, ผงวุ้น, น้ำตาลทรายขาว, สารแต่งกลิ่นและเจือสีสังเคราะห์ รสเผือก ข้าวโพด แคนตาลูป วานิลลา สตรอเบอรี่ และรวมถึงรสชานม รสกาแฟ

ขั้นตอนการทำ “น้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้” เริ่มจากนำน้ำสะอาด น้ำตาลทราย เจลลาติน และผงวุ้น (ใส่ผงวุ้นมากกว่าเจลลาติน) แช่รวมกันในหม้อเคลือบ พักไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วนำส่วนผสมไปตั้งไฟ ใช้ไฟปานกลางต้มจนเดือด แล้วเคี่ยวต่ออีกประมาณ 5 นาที จึงปิดไฟ ยกลงพักไว้ให้เย็นสักครู่ เพื่อรอให้ตัวเต้าหู้แข็งตัว

ระหว่างรอตัวเต้าหู้แข็งตัว นำเม็ดแมงลักที่เตรียมไว้มาแช่ในน้ำสะอาด รอให้เม็ดแมงลักพองตัว ประมาณ 5 นาที กรอกใส่ขวดพลาสติกที่เตรียมไว้ ประมาณ 1 ใน 5 ส่วนของขวด 150 ซีซี พักเตรียมไว้ เมื่อตัวเต้าหู้แข็งตัวแล้วก็นำไปปั่นให้มีขนาดเท่าเม็ดลูกปัด แล้วกรอกใส่ขวดตามลงไป 1 ใน 5 ส่วนเช่นกัน ตั้งพักไว้ รอส่วนผสมของน้ำนมสด

การทำ “น้ำนมสด” นำนมสด นมข้นจืด ครีมเทียม และน้ำตาลทรายนิดหน่อย ใส่ผสมลงหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟต้ม หมั่นคนเรื่อย ๆ ต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วใส่ผงปรุงแต่งรสชาติที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นรสเผือก รสข้าวโพด รสแคนตาลูป รสวานิลลา รสสตรอเบอรี่ หรือรสชา และรสกาแฟ ซึ่งในขั้นตอนนี้หากต้องการปรุงแต่งเป็นหลายรส ก็ให้ทำนมสดแยกเป็นส่วน ๆ ไป

ถัดมาก็ยกลงตั้งไว้ในหม้อขนาดใหญ่กว่าที่บรรจุน้ำเย็น พักส่วนผสมน้ำนมสดไว้ก่อน รอให้เย็นหรืออุ่น ซึ่งช่วงพักนี้ก็ต้องหมั่นคนส่วนผสมด้วย เพราะนมยังร้อนอยู่ ถ้าทิ้งไว้หน้าจะจับกันเป็นแผ่นเป็นฝ้า จากนั้นก็นำนมสดที่ได้ไปกรอกใส่ขวดที่มีเนื้อเต้าหู้ปั่นและเม็ดแมงลัก ปิดฝาให้สนิท นำไปแช่ในตู้เย็นหรือลังน้ำแข็ง เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย จะได้น้ำเต้าหู้นมสดรสชาติต่าง ๆ ที่เก็บได้นานราว 10 วัน โดยไม่ใส่สารกันบูด

น้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้ ราคาขายส่งคือโหลละ 48 บาท
  
“น้ำเต้าหู้นมสดรสผลไม้” เจ้านี้ มีแหล่งผลิตแหล่งขายอยู่ที่เลขที่ 3/25 หมู่ 10 ต.ลาดสวาย อ.ลาดสวาย จ.ปทุมธานี โทร. 08-1927-1237, 08-1689-0596, 08-1120-8022 โดยทั้งขายทั่วไป และรับสั่งทำ (ต้องสั่งล่วงหน้า 1-2 วัน) สำหรับใช้ในงานประชุมสัมมนา เทศกาลงานต่าง ๆ รวมถึงเป็นของฝาก ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่มีตลาดกว้างน่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/185132

Sunday, February 3, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ต้มโคล้งปลาย่าง’

อาชีพค้าขาย จะให้ดีจะต้องรู้จักพลิกแพลง หรือทำของขายไม่เหมือนใคร ทั้งหน้าตา และรสชาติ อย่างเช่น “ต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าว” ของกลุ่มแม่บ้านทอดมันรสบรรเจิด ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนคลองสามวา ที่ไปออกร้านในงาน “โอทอป ซิตี้” ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 15-23 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...
                            
บรรเจิด ทองไพรวรรณ ประธานกลุ่มแม่บ้านทอดมันรสบรรเจิด เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำอาหารขาย เคยทำงานบริษัทมานาน 10 ปี แล้วต่อมาได้ออกมาช่วยน้องสาวทำขนมหวานขาย จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับขยายมาขายทอดมันปลากราย และทอดมันปลาหมึกซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมของครอบครัว เมื่อขายไประยะหนึ่ง ก็มีเสียงจากลูกค้าให้ขายอย่างอื่นอีก จึงได้ทำ “ต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าว” ขายเพิ่ม ซึ่งเป็นสูตรของครอบครัวอีกเช่นกัน โดยต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าว ที่ขายเสริมขึ้นมานี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน
  
ต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าวที่ทำขาย บรรเจิดบอกว่า ต้มด้วยน้ำสมุนไพรไทยแท้ ๆ อย่างมะขามเปียก, หัวหอมแขก, ข่าอ่อน, ตะไคร้ โรยหน้าด้วยใบผักชีฝรั่ง และมะเขือเทศ เพื่อความเข้มข้น และกลิ่นหอม
  
อุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส กะละมัง  หม้อ เตาย่าง (ถ่าน) ทัพพี มีด-เขียง และอุปกรณ์ครัวอื่น ๆ
  
วิธีทำตามสูตร ต้มน้ำเปล่า 10 ลิตร ให้พออุ่น ๆ แล้วใส่มะขามเปียก 500 กรัมลงไปเคี่ยวจนน้ำเดือด จนเนื้อมะขามร่อนออกหมด จากนั้นใช้ทัพพีตักกากมะขามเปียกแยกออกไป       
นำหัวหอมแขก 500 กรัม, ตะไคร้  400 กรัม และข่าอ่อน 400 กรัม  ไปย่างบนเตาถ่านให้สุก  จนมีกลิ่นหอมของน้ำมันระเหยออกมา เสร็จแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มรวมกับน้ำมะขามเปียก ปรุงรสด้วยเกลือป่น  น้ำตาลทราย พริกขี้หนู และน้ำมะนาว ตามใจชอบ        

ส่วนของเนื้อปลานั้น ใช้ เนื้อปลากด ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด สั่งตรงมาจากจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งแล่มาเรียบร้อยแล้ว นำมาตากแดดก่อน  1 วัน  และนำไปย่างไฟอ่อน (ใช้เตาถ่าน) จนสุก แล้วจึงนำไปอบด้วยกาบมะพร้าวที่สุมไฟประมาณ 1 วันครึ่ง ก็จะได้เนื้อปลาย่างที่มีกลิ่นของกาบมะพร้าว       

เมื่อได้น้ำต้มโคล้งที่เดือดแล้ว ค่อย ๆ ใส่เนื้อปลาลงไปในหม้อทีละชิ้น จนเต็มหม้อ โรยหน้าด้วยใบผักชีฝรั่งหั่น ใบมะกรูดฉีก มะเขือเทศหั่น และพริกขี้หนูทอด เป็นอันเสร็จขั้นตอน

“ต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าว” นี้ ตักใส่ถุงขายในราคาถุงละ 80 บาท โดยจะตักเนื้อปลา 1 ชิ้น และน้ำแกงที่มีส่วนผสมของสมุนไพรต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
      
นอกจากต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าวแล้ว สำหรับ “ทอดมันปลาหมึก” ซึ่งเป็นอาหารว่างยอดนิยมอีกอย่างที่ขึ้นชื่อของกลุ่มแม่บ้านกลุ่มนี้ บรรเจิดบอกว่า ทำไม่ยาก โดยสั่งซื้อเนื้อทอดมันที่มีส่วนผสมของปลาทะเลรวมสำเร็จรูป นำมาผสม เนื้อปลาหมึกกล้วย ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ, พริกแกง, ไข่ไก่ และถั่วฝักยาวซอย ตีผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปทอด โดยแบ่งปั้นทอดเป็นชิ้น ๆ ขนาดพอคำ ทอดในน้ำมันเดือดให้สุก และขายพร้อมน้ำจิ้มทอดมัน ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลทรายแดง, น้ำส้มสายชู, เกลือป่น, กระเทียม และพริกขี้หนูแดง เพิ่มเครื่องเคียงด้วยในกะเพราทอดกรอบ และแตงกวาหั่น โดย “ทอดมันปลาหมึก” ขายในราคาขีดละ 30 บาท ซึ่งก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ
                        
สำหรับผู้ที่สนใจ “ต้มโคล้งปลาย่างกาบมะพร้าว” และ “ทอดมันปลาหมึก” ต้องการติดต่อ บรรเจิด ทองไพรวรรณ ก็ติดต่อได้ที่ กลุ่มแม่บ้านทอดมันรสบรรเจิด (เขตคลองสามวา) 29/1500  ซอยหทัยราษฎร์ 39 แขวงคลองสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 08-1700-0015.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล
แสงจันทร์ สนั่นเอื้อ : รายงาน

..................................

คู่มือลงทุน....ต้มโคล้งปลาย่าง

ทุนอุปกรณ์       ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ    ประมาณ 50 บาท /1 ถุง   
รายได้    ราคาขาย 80 บาท /1 ถุง
แรงงาน    1 คนขึ้นไป
ตลาด    ย่านอาหาร, ชุมชน, ออกร้าน  
จุดน่าสนใจ    หลาย ๆ ย่านไม่มีการทำขาย
 
 
http://www.dailynews.co.th/article/384/180733

แนะนำอาชีพ "อักษรไม้"

อาชีพผลิตงานฝีมือ งานประดิษฐ์ หลายคนยึดจับจนเป็นอาชีพหลัก แต่หลายคนก็ทำเป็นอาชีพเสริมได้น่าสนใจ แม้ไม่มีหน้าร้านขาย แต่ก็สามารถใช้สื่อออนไลน์ค้าขายทำเงินได้ไม่แพ้กัน อย่างเช่นงานประดิษฐ์ ’ตัวอักษรไม้“ ของ ’กาญจน์-วันเพ็ญ ทันจิตต์“ สองหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอในวันนี้...
              
กาญจน์ เล่าว่า ธุรกิจนี้เริ่มจากความคิดที่อยากทำของขวัญด้วยมือให้ภรรยา คือวันเพ็ญ ความที่มีอาชีพเกี่ยวกับงานกราฟิกจึงมองว่าอยากประดิษฐ์ตัวอักษรที่มี เอกลักษณ์ของตัวเองขึ้น จึงลงมือออกแบบ ก่อนนำมาตัดขึ้นรูปบนแผ่นไม้ หลังจากนั้นมีหลายคนเห็นแล้วเกิดความชอบ ขอให้ช่วยทำให้บ้าง จึงมองว่าน่าจะพัฒนาเป็นอาชีพได้ โดยจากเดิมที่เป็นการตัดด้วยมือก็พัฒนามาใช้เครื่องตัดไฟฟ้า ก่อนผสมผสานเทคนิคหลายอย่าง จนเกิดเป็นตัวอักษรไม้ประดิษฐ์นี้ขึ้น
  
ด้านวันเพ็ญ เล่าว่า รูปแบบที่เห็น นำไอเดียที่เคยพบจากร้านงานประดิษฐ์ในต่างประเทศมาประยุกต์ให้เหมาะกับ ลูกค้าและตลาดในไทย สินค้าจัดอยู่ในกลุ่มของขวัญ ของที่ระลึก และของตกแต่ง ลูกค้าจึงมีทั้งกลุ่มที่สั่งทำชิ้นงานสำเร็จรูป และกลุ่มที่ซื้อตัวอักษรเพื่อนำไปตกแต่งชิ้นงานอีกต่อหนึ่ง โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “19 December” ปัจจุบันยังไม่มีหน้าร้าน อาศัยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว คือที่ http://woodencraft.weloveshopping.com กับ www.facebook.com/pages/19-December โดยเปิดมาได้ 1 ปีครึ่ง ซึ่งผลตอบรับกลับมาก็ค่อนข้างน่าพอใจ
  
“ข้อดีของการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ คือราคาถูก ค่าใช้จ่ายแทบไม่มี แต่ต้องใช้เวลาในการทำการตลาดเพื่อให้ชื่อสินค้าเป็นที่รู้จัก อีกทั้งต้องหมั่นพยายามโต้ตอบหรือตอบข้อซักถามกับลูกค้าที่เข้ามา ซึ่งสื่อใหม่นี้ถ้าใช้ให้ดีจะมีพลังมาก” ก็เป็นมุมมองสำหรับคนที่สนใจการค้าการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ที่วันเพ็ญแนะนำไว้...
  
สินค้าของทั้งคู่มีจุดเด่นอยู่ที่ “ฟอนต์ (Font)” หรือ “ตัวอักษร” ที่จะถูกออกแบบขึ้นใหม่ ไม่ใช่ตัวอักษรสำเร็จรูปที่มีอยู่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ขนาด สีสัน และลักษณะของตัวอักษร ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
  
“บางคนเขาก็จะบอกความต้องการมา เช่น ต้องการนำไปประดับตกแต่งในงานแต่งงาน เขาก็จะบอกแนวคิดหรือรูปแบบของงานมาให้ เราก็จะช่วยคิดและออกแบบให้ลูกค้าดูว่าชอบไหม ถ้าชอบใจก็จะเริ่มต้นขึ้นชิ้นงาน ลูกค้าบางคนก็สั่งโดยเขียนข้อความมาให้ เพื่อให้เราทำ โดยมีทั้งที่นำไปมอบให้ผู้ใหญ่ใช้สำหรับตั้งโต๊ะ นำไปเป็นป้ายแสดงความยินดีมอบให้คนที่เรียนจบการศึกษา อีกทั้งลูกค้าบางรายมาสั่งให้ทำป้ายชื่อร้านก็มี” กาญจน์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิต ระบุ  
  
และบอกอีกว่า การทำชิ้นงานลักษณะนี้ขาย ทุนเบื้องต้นนั้นขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต หากผลิตไม่มาก อาจใช้แค่เพียงเลื่อยฉลุด้วยมือ หรือเลื่อยตัดไม้ไฟฟ้า ต้นทุนก็จะไม่มาก แต่หากต้องการผลิตจำนวนมาก ก็อาจจะต้องลงทุนในส่วนของเครื่องตัดไฟฟ้า ราคาก็อยู่ที่หลักหลายหมื่นบาท โดยตัวที่เขาใช้อยู่มีราคาประมาณ 50,000 บาท ส่วนทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มต้นที่ตัวอักษรละ 100 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาด รูปแบบ และความยากง่ายในการทำ
  
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ หลัก ๆ ประกอบด้วย เครื่องตัดไม้ไฟฟ้า (เครื่องซีเอ็นซี), เลื่อยฉลุหรือเลื่อยตัดไฟฟ้า (เลื่อยจิ๊กซอว์), ไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้สน ไม้เปอร์เซีย ไม้สัก ไม้อัดสังเคราะห์ (เอ็มดีเอฟ), กระดาษทรายเบอร์ต่าง ๆ สำหรับลบเสี้ยนผิวไม้, สีน้ำทาบ้าน, สีสำหรับงานแนปกิ้น, กาวลาเท็กซ์ และวัสดุตกแต่ง อาทิ กระดาษแนปกิ้น ลูกปัด กากเพชร
  
“ส่วนใหญ่เราจะใช้ไม้สน ไม้เปอร์เซีย และไม้สัก โดยจะซื้อมาเป็นแผ่น ๆ สำรองไว้ ไม้เอ็มดีเอฟหรือไม้อัดสังเคราะห์จะไม่ค่อยใช้เท่าไหร่ เพราะอายุการใช้งานน้อย และบางทีก็ไม่เหมาะสำหรับงานภายนอก เพราะเมื่อโดนแดดโดนฝนก็จะเปื่อยยุ่ยได้ง่าย” เป็นคำแนะนำการเลือกใช้ไม้  
  
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบตัวอักษรตามความต้องการของลูกค้าในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อได้แบบที่พอใจแล้วก็ทำการบันทึกและป้อนคำสั่งไปที่เครื่องตัดไฟฟ้าหรือ ซีเอ็นซี จากนั้นเครื่องก็จะทำการตัดขึ้นรูปเป็นตัวอักษรที่ต้องการ นำตัวอักษรไม้ที่ได้มาตรวจดูรอยไม้หรือเสี้ยนที่เกิดขึ้น ใช้กระดาษทรายเบอร์ต่าง ๆ ทำการลบเสี้ยนให้เรียบ จากนั้นนำไปตกแต่งด้วยสีและวัสดุที่เตรียมไว้ ตรวจตราความเรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำตัวอักษรไม้
  
“ขั้นตอนไม่ซับซ้อน แต่ก็มีรายละเอียดที่ต้องทำอยู่บ้าง เช่น การตรวจดูเหลี่ยมมุมของตัวอักษรและรอยเส้นบนเนื้อไม้ ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยาก ขึ้นอยู่กับจินตนาการและไอเดียเป็นสำคัญ” วันเพ็ญ ทิ้งท้ายถึง ’ช่องทางทำกิน“ รูปแบบนี้
                                    
สนใจชิ้นงาน ’ตัวอักษรไม้“ ติดต่อที่ โทร. 08-9201-2909, 08-1753-8505 หรือเปิดเข้าไปดูในหน้าร้านออนไลน์ตามช่องทางข้างต้นดูก็ได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานไอเดียที่น่าสนใจ สามารถพลิกแพลงสินค้าได้หลากหลายประเภท.

http://www.dailynews.co.th/article/384/181963

แนะนำอาชีพ “ขนมเทียน”

เทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะมาถึง ก็จะมีการจับจ่ายซื้อของไหว้ อาหารคาวหวานที่เน้นความหมายเป็นมงคลกับชีวิต ซึ่งของไหว้มาตรฐาน นอกจากหมูเห็ดเป็ดไก่แล้ว ที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง ขนมเทียน ซึ่งอย่างหลังนี่วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ เป็น “ขนมเทียนตำรับชาววัง”  รูปลักษณ์สวย ขนาดกำลังดี  รสชาติอร่อย ไม่ติดมือ-ติดมัน...
                               
ผู้มีประสบการณ์ชำนาญการทำ “ขนมเทียน” ขายมานานกว่า 15 ปี กัลยา-กัลยารัตน์ เตชะบุญ อายุ 64 ปี เจ้าของร้านบ้านขนมเทียนชาววัง เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการทำขนมเทียนขายว่า หลังเรียนจบก็แต่งงานเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก  3 คน แฟนทำงานเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์  พอลูก ๆ เริ่มโตรายจ่ายก็มากขึ้นเรื่อย ๆ รายได้ที่มีเท่าเดิมไม่พอใช้ในครอบครัว จึงอยากมีรายได้เสริม พอดีญาติผู้ใหญ่รู้ จึงมาถาม และสอนสูตรขนมเทียนชาววังให้ ก็พยายามฝึกทำ ซึ่งต้องอาศัยความใจเย็น ต้องใช้ความละเมียดละไม ประดิดประดอยพิถีพิถันทุกขั้นตอน ใบตองที่นำมาห่อก็ยังต้องคัดให้ได้ขนาดพอดี ฝึกทำแล้วก็นำไปให้เพื่อนบ้านชิม ทุกคนบอกกันว่าอร่อยมาก และถามว่าเมื่อไหร่จะทำขาย

“ไม่เคยขายของมาก่อน แรก ๆ ทำออกมาแล้วก็ไม่รู้จะขายยังไง จึงเอาใส่กระจาดไปฝากขายตามร้านขายของทั่วไป ลูกละ 2  บาท ซึ่งตอนนั้นขนมเทียนที่ทำแต่ละลูกก็ยังไม่เท่ากัน มีเล็กบ้างใหญ่บ้างเพราะมือเรายังไม่แม่น แต่ก็ขายหมดทุกวัน คนที่ซื้อไปก็บอกกันปากต่อปาก กระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนแฟนก็ช่วยหาที่ส่งขายด้วยการเอาไปให้เพื่อนที่บริษัทชิม ก็มีการสั่งทำจำนวนมาก แต่ตอนนั้นยังทำมาก ๆ ไม่ไหว เพราะเพิ่งทำขาย เครื่องไม้เครื่องมือยังไม่สมบูรณ์ คนช่วยก็ไม่มี คนสั่งก็บอกว่าทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วก็สั่งมาเรื่อย ๆ ซึ่งขนมที่ทำขายจะเน้นรสชาติไม่หวานเกินไป เนื้อจะเนียน กลมกลืนเข้ากันพอดีกับไส้ที่หอมและนุ่มลิ้น” คุณกัลยาเล่า และบอกถึงจุดเด่นขนม ขนมเทียนเจ้านี้จะมีขนาดเล็กกว่าที่มีขายกันทั่วไป ตัวแป้งจะไม่ติดใบตอง แถมใบตองก็ไม่มันติดมืออีกด้วย ที่สำคัญคือไม่ใส่สารกันบูดเด็ดขาด แต่มีอายุอยู่ได้ 3-4  วัน ถ้านำเข้าตู้เย็นจะอยู่ได้ถึง 8-10 วัน เมื่อจะรับประทานก็นำออกมาให้คลายความเย็นลง ซึ่งขนมก็ยังนุ่มอร่อยเหมือนเดิม หรือจะอุ่นด้วยไมโครเวฟก็ได้

ในการทำ อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ มี เตาแก๊ส, เครื่องบด, กระทะทอง, ไม้พาย, กะละมัง, ถาด, กรรไกร, มีด, หม้อสเตนเลส, ซึ้งนึ่ง, ใบตอง และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบยืมเอามาจากในครัวได้

ส่วนผสม “ไส้ขนมเทียนชาววัง” ประกอบด้วย ถั่วเขียวซีกเลาะเปลือก, น้ำตาลทราย, หอมแดง, เกลือ-พริกไทยดำ, น้ำมันพืช ส่วนผสม “ตัวแป้งขนมเทียน” ใช้แป้งข้าวเหนียวอเนกประสงค์ น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลปี๊บ น้ำสะอาด

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเตรียมภาชนะสำหรับห่อขนม เอาผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดใบตองให้สะอาด แล้วตัดเป็นวงรี ทำชั้นนอกชั้นใน โดยให้ใบตองชั้นนอกใหญ่กว่า ตัดใบตองเรียบร้อยแล้วก็นำไปตากแดดเพื่อให้ใบตองอ่อนตัว เวลาห่อจะได้ไม่แตก จากนั้นเอาผ้าชุบน้ำมันพืชมาเช็ดใบตองที่ตัดให้ทั่ว (จะได้แกะทานง่าย)
การทำไส้ขนม นำหอมแดงมาปอกเปลือกแล้วซอยใส่ภาชนะเตรียมไว้ พริกไทยดำนำมาโขลกพอละเอียดเตรียมไว้ นำถั่วเขียวซีกเลาะเปลือกมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 5 ชั่วโมง จากนั้นนำไปนึ่งให้สุกแล้วบดหรือโขลกให้ละเอียด เสร็จแล้วตักใส่กระทะทองตั้งพักไว้ ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใช้ความร้อนปานกลาง นำหอมแดงซอยลงเจียวให้หอม  ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน ก่อนจะนำไปใส่ในกระทะทองที่มีถั่วบดอยู่ ตามด้วยพริกไทยดำป่น น้ำตาลโตนด เกลือป่น แล้วเริ่มกวนด้วยไฟปานกลางไปเรื่อย ๆ จนแห้ง สังเกตว่าถั่วร่อนกระทะก็เป็นอันใช้ได้ ยกลงตั้งไว้ให้เย็น แล้วปั้นไส้ให้เป็นก้อนกลมเตรียมไว้ ก่อนจะนำไปอบควันเทียนในภาชนะที่มีฝาปิด 3-4 ชั่วโมง

การทำตัวแป้ง ต้มน้ำตาลโตนดกับน้ำสะอาดจนละลายเป็นเนื้อเดียวกัน เติมน้ำมันพืชลงไปนิดหน่อย แล้วนำไปกรอง ตั้งพักไว้สักครู่ จากนั้นเอาแป้งข้าวเหนียวมานวดกับน้ำตาลโตนดที่กรองแล้ว  นวดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแป้งมีลักษณะคล้ายนมข้น จึงพักแป้งไว้ประมาณ  3-4 ชั่วโมง  
การห่อขนม นำใบตองที่เช็ดน้ำมันเตรียมไว้มาทำเป็นรูปกรวย ตักแป้งใส่ลงไปในกรวยเล็กน้อย ใส่ไส้ ตักแป้งหยอดปิดแล้วห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด จากนั้นเรียงใส่รังถึงให้เต็ม นึ่งโดยใช้ไฟปานกลางประมาณ 50  นาที ขนมจะสุก ยกลง ผึ่งลม อย่าให้โดนน้ำ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย พร้อมขายกล่องละ 100 บาท โดยมีขนมเทียน 25 ลูก 
                                    
“ขนมเทียนชาววัง” เจ้านี้ ขายได้ขายดีไม่เฉพาะเทศกาลตรุษจีน ลูกค้าซื้อหาไปใช้ในหลายโอกาส เช่น ขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลต่าง ๆ ประชุมสัมมนา รวมถึงเป็นของฝาก โดยมีบริการจัดเป็นกระเช้า-ตะกร้าสวย ๆ ซึ่งใครต้องการติดต่อคุณกัลยา ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-1279-8580, 08-1711-1762, 0-2510-9147 ทั้งนี้ การทำขนมชนิดนี้ขายก็เป็นทั้งการอนุรักษ์ขนมโบราณ และเป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่ยังไปได้ดีอย่างน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว.

http://www.dailynews.co.th/article/384/182174