Friday, August 30, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เพนท์แก้ว’

งานฝีมือที่ใช้ทักษะศิลปะยังต่อยอด-พลิกแพลงได้ตลอด จุดสำคัญคือค้นหาเอกลักษณ์ สร้างจุดเด่น เล่นกับจุดขาย เพื่อให้ชิ้นงานโดดเด่นโดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด ยิ่งปัจจุบันมีช่องทางที่สามารถทำการขายได้หลากหลายรูปแบบ โอกาสจะทำเงินสร้างอาชีพก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น อย่างเช่นงาน ’เพนท์แก้ว“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้... ****** “ตรีเนตร วิจิตรศักดิ์” เจ้าของงานเพนท์แก้ว ที่ใช้ชื่อว่า Cup and Mug Design เล่าว่า เดิมทีมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือน ต่อมารู้สึกเบื่อ และคิดอยากจะหาอาชีพส่วนตัวที่เป็นธุรกิจของตัวเองทำ จึงลาออกจากงานประจำ ออกมาเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้า แต่ด้วยความที่เป็นอาชีพที่ใช้เงินทุนสูง ประกอบกับในตลาดมีการแข่งขันกันมาก จึงมองหางานอาชีพที่ลงทุนน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเพื่อจำหน่ายชิ้นงาน จนมาเจอกับงานเพนท์แก้วนี้... เขาเล่าอีกว่า สำหรับงานเพนท์แก้ว เท่าที่ศึกษาในตลาดส่วนใหญ่จะมีรูปแบบซ้ำ ๆ เช่น ไม่เป็นลายดอกไม้ ก็จะเป็นลายกราฟิกเรียบ ๆ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ จึงมองว่าหากใส่ลายเส้นที่ดูสนุก ๆ ให้อารมณ์กวน ๆ ก็น่าจะมีช่องว่างในตลาดที่ชิ้นงานจะแทรกเข้าไปได้ จึงเริ่มทดลองผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่าย โดยอาศัยช่องทางผ่าน โซเชียล เน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ในชื่อ www.facebook.com/CupandMug.Design นอกจากนั้นยังใช้อินสตาแกรมชื่อ cupandmugdesign นำเสนอชิ้นงานให้ลูกค้าได้เลือกอีกด้วย โดยทำมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ซึ่งผลตอบรับถือว่าดี “ข้อดีของช่องทางนี้คือเราและลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งทุนที่ใช้ในเรื่องของการตกแต่งแบบการเปิดร้าน แบบการมีหน้าร้าน ก็ตัดไป แต่จุดสำคัญคือต้องทำให้ลูกค้าเชื่อถือ ไว้ใจ ดังนั้น รูปสินค้าที่เราโพสต์ลงไปจะเน้นรูปจากชิ้นงานจริง จะไม่มีการตกแต่งดัดแปลง” ตรีเนตรกล่าว... งานเพนท์แก้วที่ทำนั้น เขาบอกว่า ชิ้นงานที่ทำขึ้นจะเน้นลายเส้นที่ดูเป็นวัยรุ่น เน้นลายกราฟิก และลายการ์ตูนกวน ๆ โดยภาชนะที่นำมาเพนท์ลายนั้น นอกจากแก้วน้ำรูปทรงต่าง ๆ แล้ว ก็ยังเพนท์งานลงบนภาชนะอื่น ๆ อาทิ จาน, ถ้วย, ชาม, เหยือก และนอกจากจะเพนท์ชิ้นงานสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย ก็ยังมีบริการรับสั่งทำชิ้นงานตามออร์เดอร์ แต่จะเน้นที่ลวดลายกราฟิก ลายการ์ตูน จะไม่เน้นงานเพนท์ภาพเหมือน ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะใช้เวลาทำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 1 ชิ้นงาน หลายคนมองแล้วอาจจะดูง่าย แต่การเพนท์แก้วจะแตกต่างจากการวาดภาพหรือระบายสีบนกระดาษหรือผ้าใบ เพราะแก้วที่นำมาเพนท์จะมีคุณสมบัติโค้งมน ผิวเรียบเป็นมัน เงา และลื่น ดังนั้น การเพนท์แก้วแต่ละใบจำเป็นต้องอาศัยความใจเย็น อดทน และใช้ความประณีตมาก อีกทั้งหากขณะเพนท์งาน จับถือไม่ดี อาจเกิดการตกหล่นหรือกระแทกจนทำให้ชิ้นงานเสียหาย ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 3,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 150-260 บาท ขึ้นกับลายและขนาดภาชนะ และสำหรับวัสดุอุปกรณ์ก็ประกอบด้วย แก้ว หรือภาชนะรูปทรงต่าง ๆ (จาน, ชาม, ถ้วย, เหยือก), ปากกามาร์คเกอร์อะคริลิกสีต่าง ๆ ใช้ลงเส้นหรือเพนท์, กรรไกร, คัตเตอร์, ฟ็อกกี้ฉีดน้ำ สำหรับฉีดทำความสะอาดภาชนะ, ถุงมือยาง ใช้ใส่ขณะเพนท์ เพื่อป้องกันรอยนิ้วมือหรือคราบสกปรกติดเปื้อนลงบนสี และผ้าสะอาดสำหรับเช็ด ซึ่งหลัก ๆ มีอยู่เท่านี้ โดยอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเครื่องเขียนทั่วไป... ขั้นตอนการทำมีไม่มาก เริ่มจากเลือกภาชนะที่จะนำมาเพนท์ลาย โดยเลือกจากขนาด รูปทรง หรือพื้นผิวของภาชนะที่ใช้ จากนั้นนำภาชนะที่เลือกมาทำความสะอาดด้วยการฉีดน้ำ ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดให้ทั่ว ผึ่งไว้ให้แห้งสักพัก จึงนำภาชนะนั้นมาลงมือทำการเพนท์ลวดลาย สำหรับการเพนท์นี้ หากยังไม่ชำนาญในการลงเส้น อาจใช้การร่างภาพด้วยดินสอก่อน หรือหากต้องการทำลายเดิมซ้ำกันหลาย ๆ ใบ อาจใช้วิธีตัดกระดาษทำเป็นแม่แบบก็ได้ เมื่อเพนท์ลายลงบนแก้วหรือภาชนะครบตามต้องการแล้ว นำแก้วหรือภาชนะที่เพนท์มาผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นทำการห่อด้วยกระดาษเพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกติดแก้ว บรรจุใส่กล่องหรือภาชนะที่ใช้เก็บสินค้า เป็นอันเสร็จขั้นตอน “ขั้นตอนมีไม่มาก แต่ต้องใช้ทักษะในการวาดการเพนท์ลายพอสมควร ปากกามาร์คเกอร์อะคริลิกที่เลือก แนะนำว่าควรศึกษาให้ดี เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะให้คุณสมบัติของสีหรือลายเส้นแตกต่างกัน ตรงนี้ยืนยันว่ามีผลมากกับการสร้างสรรค์ชิ้นงาน” ตรีเนตร เจ้าของงานเพนท์แก้ว กล่าวแนะนำ... ****** ใครสนใจติดต่อตรีเนตร ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7558-1655 และเข้าไปดูรูปแบบสินค้าได้ตามช่องทางออนไลน์ที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งงาน ’เพนท์แก้ว“ รูปแบบนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งงานฝีมือที่นำทักษะเชิงศิลป์มาประยุกต์ใช้ จนกลายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/229701

Saturday, August 24, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ไส้อั่วหมูรสเผ็ด’

เก็บตกจากกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางสร้างสุขภาพใจกับโรงพยาบาลมนารมย์” ที่มีการจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ที่รีสอร์ท “คุ้มประสานใจ” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งรีสอร์ทเชิงสุขภาพแห่งนี้เกิดขึ้นโดย นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต โดย นพ.ไกรสิทธิ์ เผยไว้ว่า ตั้งใจให้รีสอร์ทแห่งนี้มีส่วนในการช่วยสร้างความเข้าใจให้คนไทยเรื่องจิตวิทยา เรื่องสุขภาพจิตที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพกาย กับกิจกรรมที่จัดขึ้น ก็มีการสาธิตการทำ “ไส้อั่ว” สูตรจากเมืองแพร่ โดยทีมงานของรีสอร์ท ซึ่งทางผู้สาธิตบอกว่า รสชาติของไส้อั่วของแต่ที่ แต่ละเมือง ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยสำหรับสูตรของเมืองแพร่นี้จะเน้นให้มี รสชาติเผ็ดนิดหน่อย โดยจะใช้พริกเยอะหน่อย อุปกรณ์ที่ใช้ทำไส้อั่ว หลัก ๆ ก็มี กะละมังผสม, เขียง-มีด, เครื่องบด, เตาย่าง, ถุงมือ เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะมีอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยยัดไส้อั่ว คือ ไม้จิ้มฟัน, ไม้เสียบลูกชิ้น และคอขวดน้ำพลาสติก ส่วนผสมไส้อั่ว ตามสูตรนี้ก็มี หมูบด 2 กก. (ใช้เนื้อตะโพก), มันหมูหั่นเป็นชิ้น ๆ 200 กรัม, ตะไคร้ 15 ต้น (ต้นใหญ่ ๆ ซอยบาง ๆ), พริกขี้หนูแห้ง 26 เม็ด, กระเทียม 20-25 กลีบ, หอมแดงซอย 10 หัว, ขมิ้นเหลือง 5 แง่ง หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ, ซีอิ๊วขาว 3-4 ช้อนโต๊ะ และไส้หมูสำหรับยัดส่วนผสมทำเป็นไส้อั่ว วิธีทำ เริ่มจากการเตรียมหมูบด และมันหมูหั่น ใส่ลงในกะละมังผสมไว้ด้วยกัน จากนั้นทำเครื่องแกงไส้อั่ว โดยตักตะไคร้ซอย, พริกขี้หนูแห้ง, ขมิ้น, หอมแดง และกระเทียม ใส่ลงเครื่องปั่น โดยจะปั่นเครื่องแกง 2 ครั้ง คือ ตักส่วนผสมแต่ละอย่าง อย่างละครึ่งลงในเครื่องปั่น เปิดเครื่องปั่นให้ละเอียด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที จากนั้นตักส่วนผสมเครื่องแกงที่เหลือใส่เพิ่มลงไปในเครื่องปั่นทีละอย่างจนครบ แล้วปั่นต่อให้ละเอียด ใช้เวลาอีกราว 5-7 นาที ก็เป็นอันใช้ได้ตักเครื่องแกงที่ปั่นละเอียดใส่ลงไปในกะละมังที่ใส่หมูบดและมันหมูหั่น เทซีอิ๊วขาวลงไป จากนั้นสวมถุงมือยาง ทำการคลุกเคล้าเครื่องแกงกับส่วนของหมูให้เข้ากัน เตรียมไว้ เตรียมไส้หมูความยาวราว 30 เซนติเมตร ที่ล้างทำความสะอาดดีแล้ว (ล้างให้สะอาดจนไม่มีกลิ่น และกลับด้านเอาส่วนของด้านในลำไส้ออกมาด้านนอก แล้วนำไปคั้นกับมะขามเปียก เพื่อไม่ให้ไส้มีรสขม ล้างน้ำอีกครั้ง ก่อนกลับไส้เหมือนเดิม) ใช้คอขวดพลาสติกยัดไว้ตรงบริเวณไส้หมูด้านบน ส่วนด้านล่างใช้ไม้จิ้มฟันขัดไว้ไม่ให้เนื้อของไส้อั่วไหลออกมา ค่อย ๆ ยัดส่วนผสมของหมูและเครื่องแกงผ่านคอขวดพลาสติกลงไป ยัดให้แน่น โดยทีมงานสาธิตคนเดิมบอกว่า ถ้ายัดไม่แน่น เวลาย่าง ไส้อั่วจะแฟบ เหี่ยว ไม่สวย ซึ่งจะดูไม่น่ารับประทาน เมื่อยัดไส้เสร็จแล้ว ขดไส้ให้เป็นวงกลม แล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเสียบให้ติดกัน คือเสียบจากบนลงล่าง เสียบจากซ้ายไปขวา จัดให้ดูสวยงาม แล้วนำไปย่างบนเตาไฟที่เตรียมไว้ เตาที่ใช้ย่างไส้อั่วนั้น ใช้เตาถ่าน ใช้กะลาเป็นเชื้อเพลิง เวลาย่างให้ยกตะแกรงให้สูงจากเตาขึ้นมามากหน่อย พยายามสุมไฟให้มีควันมาก ๆ ใช้ความร้อนจากควันรมให้ไส้อั่วสุก หากมีเขม่าติดให้ใช้มีดขูดออก ใช้เวลาย่างไม่เกิน 30 นาที ระหว่างย่างหมั่นพลิกไส้อั่วด้วย เมื่อย่างได้ที่แล้วก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนไส้อั่วสูตรนี้ มีต้นทุนประมาณ 400 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม สามารถตั้งราคาขายได้กิโลกรัมละ 450 บาทขึ้นไป *************** นี่ก็เป็นข้อมูล “ไส้อั่วหมูรสเผ็ด” สูตรเมืองแพร่ ที่เก็บตกจากกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางสร้างสุขภาพใจกับโรงพยาบาลมนารมย์” ที่รีสอร์ทเชิงสุขภาพ “คุ้มประสานใจ” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งหากใครสนใจทำไส้อั่วขายเป็น “ช่องทางทำกิน” แล้วละก็ สำหรับไส้อั่วสูตรดั้งเดิมแบบนี้ก็เป็นหนึ่งในทางเลือก ที่ก็ยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดลูกค้าได้ไม่น้อย. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/228349

แนะนำอาชีพ ‘ไส้อั่วเห็ด-ปลา’

อาหารอย่าง “ไส้อั่ว” ที่เราเห็นมีขายกันทั่วไป สามารถนำมาพลิกแพลงดัดแปลงให้เกิดความหลากหลาย เป็นการชูจุดเด่นเน้นจุดขาย ด้วยการนำวัตถุดิบอย่าง ปลานิล และ เห็ด มาทำ เป็นไส้อั่วที่อุดมไปด้วย สมุนไพร แล้ว ยังบวกออพชั่นความแปลกใหม่โดยผสม ยอดชาอ่อน ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความหอม ความสดชื่น และประโยชน์ให้กับผู้รับประทาน ซึ่งสูตรนี้เป็นสูตรของ “คุณแดง ศรีวิชา” จนได้เป็น ’ไส้อั่วเห็ด-ไส้อั่วปลา สมุนไพร ยอดชาอ่อน“ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็นำข้อมูลมาฝากกัน... ******************* คุณแดง ศรีวิชา หรือที่รู้จักกันในนาม “เจ๊แดงไส้อั่วสมุนไพรใบชา” เจ้าของสูตรไส้อั่วเห็ดและไส้อั่วปลา สมุนไพรยอดใบชา เล่าว่า ก่อนที่จะมาคิดสูตรไส้อั่วทั้ง 2 ตัวนี้ ก็เริ่มจากการเปิดร้านขายอาหารตามสั่งมาก่อน ซึ่งที่ร้านก็ทำไส้อั่วหมูขายอยู่แล้ว โดยสูตรการทำไส้อั่วที่คิดทำนั้นจะใส่ยอดใบชาอู่หลง โดยใช้ยอดอ่อน ผสมเข้าไปด้วย เป็นการเพิ่มความหอมให้ไส้อั่ว แถมใบชายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้รับประทานอีกด้วย ประมาณปี 2547 มีคนชวนเข้าประกวดใน “เทศกาลชาโลก” ประเภทอาหารคาว ก็เริ่มคิดสูตรทำ ไส้อั่วปลา ขึ้นมา เพราะเห็นว่าไส้อั่วหมูเป็นอาหารที่เห็น ๆ กันอยู่ทั่วไป การนำปลามาทำเป็นไส้อั่วนั้นยังไม่เห็นมีคนทำกัน จึงลองคิดลองทำ ก็ทดลองสูตรอยู่ระยะหนึ่งกว่าจะลงตัว พอเอาเข้าไปประกวดก็ได้รับรางวัลชมเชย จากนั้นก็ทำออกจำหน่ายมาเรื่อย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็เริ่มมองหาสูตรไส้อั่วใหม่ ๆ เพิ่ม เพื่อเป็นการขยายตลาดและกลุ่มลูกค้า ก็เห็นว่ากลุ่มคนที่รักสุขภาพ คนกินมังสวิรัติ มีอยู่มาก จึงคิดจะทำ ไส้อั่วเห็ด ขึ้นมาเป็นสินค้าตัวใหม่ ก็ทดลองทำ ซึ่งก็ทำยากอยู่พอสมควร ลองผิดลองถูกอยู่เป็นเดือนกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว ซึ่งหลังจากที่ทำออกมาสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำไส้อั่วปลา-ไส้อั่วเห็ด หลัก ๆ มีดังนี้...เครื่องยัดไส้, กะละมัง, ทัพพี, ถังน้ำ, หม้อนึ่ง, เครื่องปั่น, เตาแก๊ส และอุปกรณ์ครัวเบ็ดเตล็ด ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ ตามสูตรก็มี... เห็ดนางฟ้า 10 กิโลกรัม หรือปลานิล 20 กิโลกรัม ต่อน้ำพริกแกง 1 กิโลกรัม, ไส้หมู, ไส้เทียม (สำหรับทำไส้อั่วเห็ด), ผักชี กิโลกรัม, ต้นหอม กิโลกรัม, ใบมะกรูด กิโลกรัม, ตะไคร้ กิโลกรัม, หอมแดง กิโลกรัม, ยอดใบชาอ่อน (ชาอู่หลง) 1 ขีด ใบชาที่ใส่ผสมลงไปนั้นไม่ควรใส่เยอะเกินไป เพราะจะทำให้ไส้อั่วขม ให้ใส่พอมีกลิ่นหอมของใบชาเท่านั้น ขั้นตอนการทำไส้อั่วเห็ด เริ่มจากการนำเห็ดนางฟ้า 10 กิโลกรัม มาล้างทำความสะอาด แล้วหั่นสับให้พอหยาบ เตรียมไว้ จากนั้นก็มาทำการเตรียมเครื่องส่วนผสมอื่น ๆ โดยนำตะไคร้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียด พวกใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี อย่างละ กิโลกรัม ใบชาเขียวใช้ 1 ขีด ทำการหั่นซอยเป็นฝอย จากนั้นนำพริกแกงใส่ลงไปในกะละมัง ใส่ส่วนผสมที่เตรียมไว้ ทั้งเห็ดนางฟ้า ตะไคร้ ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี ใบชาเขียว ใส่ผสมลงไปในพริกแกง ทำการผสมคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน ขั้นต่อไปคือ ตั้งกระทะใช้ไฟอ่อน ๆ นำส่วนผสมที่คลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วใส่ลงในกระทะ คั่วไปเรื่อย ๆ ประมาณเกือบชั่วโมงจนเห็ดสุก (คั่วเพื่อเอาน้ำในเห็ดออกให้หมดเพื่อที่จะเก็บไว้ได้นาน) หลังจากคั่วสุกแล้วก็นำไปยัดใส่ไส้เทียมโดยใช้เครื่องสำหรับยัดไส้ ยัดเป็นท่อน ไม่ต้องยาว ให้ได้น้ำหนักท่อนละ 1-2 ขีด นำไส้อั่วไปนึ่งจนสุก แล้วใช้สีผสมอาหารสีส้มแดงทาลงบนไส้อั่วเป็นการเพิ่มสีสันให้ดูน่ารับประทาน จากนั้นก็นำไส้อั่วเข้าตู้อบสักครู่ เพื่อทำให้แห้ง ก็เป็นอันเสร็จ ขั้นตอนการทำไส้อั่วปลา เริ่มจากนำไส้หมูมาล้างทำความสะอาดเพื่อไม่ให้มีกลิ่น ทำการกลับด้านเอาส่วนของด้านในลำไส้ออกมาด้านนอก แล้วนำไปคั้นกับมะขามเปียก เพื่อไม่ให้ไส้มีรสขม ล้างน้ำอีกครั้ง ก่อนกลับไส้เหมือนเดิม พักไว้ แล้วมาเตรียมปลาโดยนำปลานิลมาล้างทำความสะอาดแล้วนำไปนึ่งให้สุก พอสุกก็ทำการแกะเอาแต่เนื้อปลา (ปลานิล 20 กิโลกรัม แกะเอาแต่เนื้อก็จะเหลือประมาณ 10 กิโลกรัม) นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องพริกแกงและส่วนผสมที่หั่นเตรียมไว้ทั้งตะไคร้ ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี อย่างละ กิโลกรัม และใบชาเขียว 1 ขีด ส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ก็นำไปยัดใส่ไส้หมูที่ล้างเตรียมไว้ ยัดด้วยเครื่องยัดไส้ ให้หนักท่อนละประมาณ 1-2 ขีด แล้วนำไปนึ่งจนสุก จากนั้นใช้สีผสมอาหารสีส้มแดงทาลงบนไส้อั่วเป็นการเพิ่มสีสันให้ดูน่ารับประทาน นำไส้อั่วเข้าตู้อบสักครู่ เพื่อทำให้แห้ง ซึ่งไส้อั่วนี้ก็สามารถจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานเป็นเดือน ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำไส้อั่วอีกรูปแบบ จากสูตรที่ว่ามา สามารถทำไส้อั่วเห็ด หรือไส้อั่วปลา ได้ประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งเจ๊แดงขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่น ๆ อีกหลากหลาย อาทิ ลาบปลา ลาบหมู น้ำพริกอ่อง น้ำพริกเห็ด พริกแกง เป็นต้น **************************** ’ไส้อั่วเห็ด-ไส้อั่วปลา สมุนไพร ยอดชาอ่อน“ ของ “เจ๊แดงไส้อั่วสมุนไพรใบชา” อยู่ในกลุ่มร้านค้าวิสาหกิจชุมชนที่ตั้งอยู่ที่ 20/1 หมู่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสั่งออร์เดอร์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-4073-9088, 08-9403-2244, 08-9950-0078 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ จากการพลิกแพลง. ทีมา http://www.dailynews.co.th/article/384/228081

Sunday, August 18, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ข้าวอบเบญจรงค์’

ข้าวผัดเป็นอาหารยอดนิยมอีกอย่างที่ทานกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และปัจจุบันเมนู “ข้าวอบ” ก็นิยมกันแพร่หลายเช่นกัน ข้าวอบที่รู้จักกันดีก็มีหลายอย่าง เช่น ข้าวอบสับปะรด ข้าวอบเผือก ข้าวอบกุนเชียง ข้าวอบหนำเลี้ยบ ฯลฯ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีสูตรข้าวอบที่อุดมด้วยสารอาหารที่หลากหลายจากวัตถุดิบที่นำมาปรุง หน้าตาสวยงาม และอร่อย คือ “ข้าวอบเบญจรงค์” หรือ “ข้าวอบ 5 สี” เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้ให้กับผู้ที่สนใจ... ********************* ผศ.สุวรรณี อาจหาญณรงค์ อาจารย์ประจำวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ข้อมูลว่า เมนูข้าวอบเบญจรงค์ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง ปัจจุบันคนหันกลับมาสนใจสุขภาพ ประกอบกับมีการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคข้าวไทย จึงคิดเมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำง่าย วัตถุดิบหาง่าย สามารถดัดแปลงได้ตามความชอบ ก็ได้เมนูข้าวอบเบญจรงค์ หรือข้าวอบ 5 สี เป็นทางเลือกใหม่ “เมนูนี้แม้จะเป็นเมนูง่าย ๆ แต่ว่าอร่อยล้ำ แถมยังเหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถทานอาหารเผ็ด ๆ ด้วย ความพิเศษของเมนูนี้อยู่ที่ส่วนผสม แต่ละตัวอุดมไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์มากมาย เช่น มีแครอท จะมีวิตามินเอ และสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยบำรุงสายตา แก้โรคตาฝ้าฟาง บำรุงผิว และช่วยยับยั้งความเสื่อมของอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีเห็ดหอม ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท เพิ่มความสดชื่น ลดคอเลสเตอรอล ต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดความเครียด ชะลอความชรา มีแปะก๊วย ช่วยบำรุงปอด แก้ไอ แก้หอบ มีถั่วฝักยาว อุดมไปด้วยแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันโรคกระดูกพรุน มีส่วนช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน อีกทั้งยังควบคุมการทำงานของไตด้วย” อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำครัวทั่ว ๆ ไป เช่น เตาแก๊ส กระทะ ทัพพี เขียง กะละมัง ฯลฯ และอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และตะเกียบ ส่วนผสมที่ใช้ในการทำ ก็มี... ข้าวสารข้าวเจ้า, ข้าวสารข้าวเหนียว, น้ำมันพืช, ขิงแก่, พริกไทยป่น, น้ำซุปหรือน้ำสต๊อก, ผงปรุงรส (หมู), ซีอิ๊วขาว, เห็ดหอมแห้ง, แครอท, ถั่วฝักยาว, แปะก๊วย, กุ้งแห้ง ขั้นตอนการทำ “ข้าวอบเบญจรงค์” เริ่มจากการหุงข้าวก่อนเป็นอันดับแรก ในการทำข้าวอบเบญจรงค์หรือข้าวอบ 5 สีนั้น การหุงข้าวเราต้องใช้ข้าวสารข้าวเจ้าผสมกับข้าวสารข้าวเหนียว ในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ทำการซาวข้าวสองชนิดให้สะอาด สรงขึ้นกรองให้สะเด็ดน้ำ ตั้งพักไว้สักครู่ ระหว่างรอข้าวสะเด็ดน้ำก็หันไปเตรียมเครื่องปรุงทั้งหมดให้พร้อม เห็ดหอมแห้งนำมาแช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ พอเห็ดนิ่ม สรงขึ้นสะเด็ดน้ำแล้วหั่นเป็นเส้นตามที่ต้องการ ขิงแก่นำมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาดหั่นเป็นแว่นตามขวางบาง ๆ แครอทสดนำมาปอกเปลือกล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ถั่วฝักยาวก็นำมาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ กุ้งแห้งนำไปแช่น้ำสักครู่ ส่วนแปะก๊วยนำไปต้มให้สุกแล้วตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ เตรียมเครื่องปรุงทั้งหมดพร้อมแล้ว ต่อไปก็ตั้งกระทะบนเตา โดยใช้ไฟปานกลาง ใส่น้ำมันพืชลงไปพอประมาณ ใส่ขิงลงไปผัดให้พอมีกลิ่นหอม จึงใส่เห็ดหอม ตามด้วยกุ้งแห้งใส่ตามลงไป ผัดกลับไปกลับมาสัก 4-5 รอบ จึงใส่ข้าวสารผสมที่เตรียมไว้ลงไปผัดเบา ๆ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว และผงปรุงรสหมู ผัดส่วนผสมในกระทะโดยใช้ไฟแรงประมาณ 10 นาที จนส่วนผสมเข้ากันดี และข้าวสารดีดตัว (สังเกตปลายเมล็ดจะชี้) ก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นก็ให้นำส่วนผสมข้าวที่ผัดมาใส่ลงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า นำส่วนผสมที่เหลือคือ แครอท ถั่วฝักยาว และแปะก๊วย ใส่ตามลงไปในหม้อหุงข้าว เติมน้ำซุปลงไปพอเหมาะสมกับการหุงข้าว คนส่วนผสมในหม้อหุงข้าวให้เข้ากัน กดปุ่มหุงข้าว (ถ้าไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็ให้ใช้วิธีการนึ่งก็ได้) จนปุ่มหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเด้ง ข้าวที่หุงสุก ทั้งนี้ เพื่อให้เมล็ดข้าวระอุ และเครื่องปรุงซึมเข้าไปในเมล็ดข้าวได้ดี ถึงขั้นตอนนี้ให้ใช้ตะเกียบจุ่มน้ำตะกุยข้าวแทนการใช้ทัพพี เพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวแหลก เมื่อจะรับประทานหรือจำหน่ายก็จัดลงภาชนะเสิร์ฟหรือจำหน่าย ถ้าเป็นผู้ใหญ่รับประทาน มีน้ำปลาพริกที่มีหอมแดงกับพริกขี้หนูสวนซอย ก็จะอร่อยกลมกล่อมยิ่งขึ้น ************************ เมนู “ข้าวอบเบญจรงค์” นี้มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก มีวัตถุดิบอะไรก็พลิกแพลงจับใส่ได้ตามชอบ ที่สำคัญคือสามารถนำไปเป็นสูตรสร้าง “ช่องทางทำกิน” ได้ ซึ่งหากใครสนใจ และยังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มจาก ผศ.สุวรรณี อาจหาญณรงค์ อาจารย์ประจำวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ที่ โทร. 08-1432-0147 ซึ่งทางอาจารย์ก็ยังมีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพอีกหลายชนิด. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/226742

Saturday, August 17, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ช่างเครื่องเสียง’

“งานช่าง” บางเรื่องสามารถคิดทำต่อยอด ’ช่องทางทำกิน“ ออกมาจากงานเดิมได้ โดยเฉพาะการเสริมในเรื่องของ “การบริการ” เพิ่มเข้าไป โดยสามารถอาศัยทักษะพื้นฐาน และความชำนาญด้านเดิม “พลิกแพลง-ปรับตัว” ให้เข้ากับยุคกับสมัยได้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ อย่างเช่นงาน ’บริการอัพเกรดเครื่องเสียง“ ของ “อดิศักดิ์ สุจริต” รายนี้... ****** อดิศักดิ์ เจ้าของงานบริการรับอัพเกรดเครื่องเสียง เล่าว่า คลุกคลีกับเครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด มาตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่ ๆ โดยยึดอาชีพช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งตอนนั้นทำงานประจำให้กับบริษัทเครื่องเสียงแห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเปิดธุรกิจของตัวเอง รับให้บริการซ่อมและอัพเกรดเครื่องเสียงให้กับลูกค้าโดยตลอด โดยใช้ชื่อร้านว่า 4seasonsaudio โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น 3 และมีเว็บไซต์ของร้านคือ www.4seasonsaudio.com ไว้เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ส่วนสาเหตุที่พลิกผันจากงานซ่อมหันมาให้บริการอัพเกรดเครื่องเสียง เขาบอกว่า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมที่นิยมการซ่อม แต่ปัจจุบันจะหันไปซื้อเครื่องเสียงใหม่แทนมากกว่า ดังนั้นช่างที่เคยรับงานซ่อมเช่นเขา จึงจำเป็นต้องเน้นงานปรับเครื่องเสียง-การอัพเกรดเครื่องเสียงแทน... “แต่ก่อนหนึ่งซอยจะมีร้านรับซ่อมต้นซอย กลางซอย ท้ายซอย แต่เดี๋ยวนี้ปิดไปหมด เพราะลูกค้าไม่นิยมซ่อม แต่ซื้อใหม่ ก็เลยต้องปรับตัว หันมาให้บริการอัพเกรดหรือการโมดิฟายด์ แทน” อดิศักดิ์กล่าว งานบริการนี้โดยพื้นฐานยังใช้ “ทักษะ” ที่ “ช่างไฟ-ช่างอิเล็กทรอนิกส์” ทุกคนมีติดตัว เพียงแต่ว่าเรื่อง “การออกแบบ-การอัพเกรด” นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญของช่างแต่ละราย เช่น ต้องรู้จักอุปกรณ์ที่อัพเกรด, ต้องทราบว่าควรเลือกวัสดุแบบใด ตรงนี้ขึ้นกับการศึกษาเฉพาะของช่างแต่ละคน ซึ่งการอัพเกรดเครื่องเสียงจะอยู่ที่ “ภาคจ่ายไฟ” เป็นหลัก ตั้งแต่อุปกรณ์ท้ายเครื่อง จนถึงอุปกรณ์บางตัวในภาคจ่ายไฟ... ทุนเบื้องต้น ใช้ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป หรือถ้ามีอุปกรณ์ช่างอยู่บ้างก็จะลดลงอีก ทุนหมุนเวียนอยู่ที่ปริมาณการรับบริการ ถ้าช่วงใดมีสต๊อกอะไหล่ไว้ก็ใช้ทุนไม่มาก รายได้-ค่าบริการขึ้นอยู่กับงาน แต่ส่วนใหญ่ค่าบริการอยู่ในช่วง 2,000-20,000 บาท ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า, ปากกาหัวแร้ง, ตะกั่ว, ค้อน, ไขควง เป็นต้น ขั้นตอนการให้บริการ เริ่มตั้งแต่เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา ลูกค้าจะแจ้งความประสงค์ว่าต้องการรับการบริการชนิดไหน อาทิ เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ เปลี่ยนอะไหล่ให้มีคุณภาพดีกว่าเก่า หรือจะเป็นงานเกี่ยวกับการปรับตั้งเครื่องเสียงใหม่ จากนั้นก็จะลงลึกเรื่องในเรื่องของงบประมาณ โดยงบประมาณจะเป็นตัวแปร ที่กำหนดว่างานบริการที่จะต้องทำนั้น จะมีราคาค่าบริการมากน้อยแตกต่างกันไปเท่าใด และนอกเหนือจากการที่ลูกค้าหิ้วเครื่องเสียงเข้ามารับบริการปรับเครื่องใหม่ที่ร้านเองแล้ว ก็ยังมีการบริการรับปรับเครื่องเสียงนอกสถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นบริการเสริม ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับตัวช่างหรือร้านด้วยเช่นกัน เช่น การติดตั้งเดินสายไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ การเดินสายและเปลี่ยนสายลำโพงเครื่องเสียงใหม่ เป็นต้น “การอัพเกรด เราสามารถเบิกเงินลูกค้าก่อนครึ่งหนึ่งได้ และใช้กำไรเป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งการอัพเกรดทำได้เร็วกว่างานซ่อม เพราะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ให้เครื่องดีขึ้น ไม่ต้องหาต้นเหตุของอาการเสียเหมือนงานซ่อม ทั้งนี้ ช่างที่รับทำต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ และต้องควบคุมความผิดพลาดให้ได้ เพราะลูกค้าจะคาดหวังความพึงพอใจเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญ และต้องทำให้ลูกค้าไว้วางใจ” เป็นคำแนะนำจากอดิศักดิ์ นอกจากนี้ เขายังบอกว่า อยากฝากถึงเพื่อนช่าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลง จากงานซ่อมพื้นฐาน ก็อัพเกรด ยกระดับอาชีพได้ด้วยการเพิ่มเติมในเรื่องเทคนิคเข้าไป ซึ่งตลาดตรงนี้กำลังเติบโตในปัจจุบัน และมีรายได้ที่น่าสนใจ... ****** บริการโมดิฟายด์ ’อัพเกรดเครื่องเสียง“ เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ ซึ่งสำหรับอดิศักดิ์เขายังผลิต “กล่องไฟ” เพื่อเพิ่มคุณภาพของเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกเสริมให้ลูกค้าที่ต้องการยกระดับเครื่องเสียงอีกด้วย ใครสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-9891-4247 หรือใครสนใจลงลึกรายละเอียดก็สอบถามได้เช่นกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พลิกวิกฤติจากงานพื้นฐาน ด้วยการอัพเกรดอาชีพ จนเกิดเป็นงานบริการที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/226505

Sunday, August 11, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ขายเห็ดย่าง’

อาชีพทำกินที่เกี่ยวกับ “เห็ด” มีมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพาะเห็ด, ซุปเห็ด, ยำเห็ด, เห็ดทอด ฯลฯ และกับ “เห็ดย่าง” นำเห็ดมาเสียบไม้ย่างขาย ตอนนี้ก็มีขายทั่วไปตามริมทาง, ตลาดน้ำ, แหล่งท่องเที่ยว, แหล่งชุมชน หรืองานแสดงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งอาชีพนี้ก็ไปได้ดี โดย “ช่องทางทำกิน” รูปแบบนี้ วันนี้ทางทีมงานเราก็มีข้อมูลมานำเสนอ... ***************** วุฒิวัฒน์ ศรีฐานิศรากร หรือ เอฟ วัย 26 ปี เป็นเจ้าของร้าน “555 เห็ดย่าง” ในตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งขายมาประมาณปีกว่า ๆ แล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า ก่อนหน้าจะมาขายเห็ดย่างนั้น ทำงานร้านกาแฟ ร้านดอกไม้ ร้านขนมจีบ รวมทั้งรับจ้างถ่ายรูปมาก่อน ส่วนการขายเห็ดย่างนั้น เหตุเพราะชอบทานเห็ดย่างพันเบคอนและเห็ดย่างทาเนยมาก จึงพยายามหัดทำดู และเมื่อปีที่แล้วจึงศึกษาการขายเห็ดย่างอย่างจริงจัง ลองฝึกทุกอย่างตั้งแต่เลือกเห็ด, เสียบเห็ด, ย่างเห็ด รวมถึงการทำน้ำจิ้ม และลองเริ่มขายที่ตลาดนัดศาลายาก่อน เมื่อได้ที่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมจึงมาขายที่นี่เต็มตัว ปัจจุบันเห็ดที่วุฒิวัฒน์นำมาย่างขายมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ เห็ดนางรมหลวง หรือ เห็ดออรินจิ (Eringii Mushroom) และ เห็ดเข็มทอง (Enoki Mushroom) ซึ่งจะเสียบไม้ย่างในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยก่อนหน้านั้นเคยมีเห็ดหอมย่างและแปะก๊วยย่างด้วย แต่เห็ดหอมที่สวย ๆ สด ๆ หายาก จึงเลิก ส่วนแปะก๊วยย่างนั้นคนไม่นิยม จึงเลิกเช่นกัน สำหรับเห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิ วุฒิวัฒน์บอกว่า เป็นเห็ดเพื่อสุขภาพ คือมีโปรตีนประมาณ 25% คลอเรสเตอรอลต่ำ และมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีการใช้สารเคมี ส่วนเห็ดเข็มทอง คุณค่าและสรรพคุณทางยาคือ ช่วยรักษาโรคตับ โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง เห็ดย่างที่ร้านขายตอนนี้ แม้จะมีเห็ด 2 อย่าง แต่ก็ทำเป็น 4 รูปแบบคือ เห็ดออรินจิสด, เห็ดออรินจิพันเบคอน, เห็ดเข็มทองพันสาหร่าย, เห็ดเข็มทองพันเบคอน เห็ดออรินจิสด วิธิทำก็หั่นเห็ดออรินจิสดเป็นแผ่น ๆ ตามแนวเฉียงของเห็ด ขนาดพอดี ๆ ไม่หนาไม่บาง นำไปเสียบไม้ ไม้ละ 4 ชิ้น เตรียมไว้ เห็ดออรินจิพันเบคอน หั่นเห็ดออรินจิเป็นชิ้น ๆ ตามแนวตั้ง หนาประมาณ 0.75 นิ้ว เตรียมไว้ จากนั้นหั่นเบคอนหมูให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปพันให้รอบเห็ด (ตรงกลาง) ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเสียบไม้ ไม้ละ 3 ชิ้น เตรียมไว้ เห็ดเข็มทองพันสาหร่าย แบ่งเห็ดเข็มทองมาทำเป็นกำเล็ก ๆ แต่ละกำขนาดกว้างประมาณหัวแม่โป้ง เตรียมไว้ จากนั้นหั่นแผ่นสาหร่ายให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปพันให้รอบเห็ด (ตรงกลาง) ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเสียบไม้ ไม้ละ 4 ชิ้น เตรียมไว้ เห็ดเข็มทองพันเบคอน แบ่งเห็ดเข็มทองมาทำเป็นกำเล็ก ๆ แต่ละกำขนาดกว้างประมาณหัวแม่โป้ง เตรียมไว้เช่นกัน จากนั้นหั่นแผ่นเบคอนหมูให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปพันให้รอบเห็ด (ตรงกลาง) ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเสียบไม้ ไม้ละ 4 ชิ้น เตรียมไว้ การขายเห็ดย่าง ตอนย่างต้องมีซอสทา ร้านนี้ใช้ ซอสเทอริยากิ ทาตอนย่างเห็ด ซอสนี้มีขายแบบสำเร็จรูป สำหรับน้ำจิ้มเห็ดย่าง ร้านนี้มีทั้ง น้ำจิ้มสเต๊ก ที่ทำเอง โดยมีส่วนผสมของซอสมะเขือเทศ 60% อีก 40% ที่เหลือคือส่วนผสมของซอสปรุงรส, เนย, น้ำตาลทราย วิธีทำคือตั้งกระทะหรือหม้อ เคี่ยวซอสมะเขือเทศบนไฟอ่อน-ปานกลาง ให้เป็นน้ำข้น ๆ จากนั้นใส่ซอสปรุงรส เนย และน้ำตาลทรายลงไป ค่อย ๆ เคี่ยวให้เข้ากัน ชิมรสให้ออกหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ ก็ใช้ได้ กินกับเห็ดย่างแล้วได้รสชาติกลมกล่อม น้ำจิ้มอีกแบบคือ น้ำจิ้มซีฟู้ด ร้านนี้ก็ทำเองเช่นกัน โดยมีส่วนผสมหลัก ๆ คือ พริกขี้หนูสวน 40%, น้ำมะนาวสด 30%, กระเทียม 20% น้ำตาลปี๊บ 10% และเกลืออีกเล็กน้อย วิธีทำก็นำหม้อตั้งไฟ ใส่น้ำตาลปี๊บและเกลือละลายให้เข้ากัน เสร็จแล้วปิดไฟ ใส่น้ำมะนาวลงไปผสม เตรียมไว้ จากนั้นนำพริกขี้หนูสวน กระเทียม และส่วนผสมของน้ำตาลปี๊บ-เกลือ-น้ำมะนาว ใส่ลงในเครื่องปั่น เปิดเครื่องปั่นให้ละเอียด เสร็จแล้วเทใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ชิมรสให้เผ็ด เปรี้ยว หวาน แบบลงตัว ตามสูตรนี้ยังปรับรสชาติได้ตามที่ต้องการ วิธีขาย “เห็ดย่าง” เสียบปลั๊กเตาย่างไฟฟ้าให้ร้อน ซึ่งเตาย่างที่ร้านนี้ใช้เป็นเตาอินฟราเรด เมื่อเตาร้อนก็นำเห็ดที่ลูกค้าสั่งวางลงย่าง โดยทาเนยบนเห็ดทั้ง 2 ด้านด้วย ย่างไปสักพักก็ทาด้วยซอสเทอริยากิ ย่างให้เห็ดสุก เบคอนสุก มีสีออกเหลือง ๆ (อย่าย่างให้เห็ดไหม้ เพราะหากไหม้เห็ดจะเหนียว และระหว่างย่างขายต้องหมั่นเช็ดเตาย่างให้สะอาด) พอสีออกเหลือง ๆ ก็เป็นอันใช้ได้ พร้อมเสิร์ฟพร้อมขายคู่กับน้ำจิ้มสเต๊ก และน้ำจิ้มซีฟู้ด ราคาขายเห็ดย่างร้านนี้อยู่ที่ไม้ละ 20-25 บาท ****************** สนใจ “เห็ดย่าง” ของวุฒิวัฒน์ ร้าน “555 เห็ดย่าง” อยู่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม โซนกลาง ขายทุกเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หมายเลขโทรศัพท์คือ 08-6886-8484 ซึ่งอาชีพขายเห็ดย่างนี้ ดู ๆ แล้วก็ไม่ยุ่งยากมากมายอะไรนัก และก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่มีเทรนด์เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพเป็นจุดขายที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/225171

Saturday, August 10, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กระเป๋าผ้าไหม’

งานแฮนด์เมดเป็นงานที่สามารถแตกไลน์ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ที่คิดประดิษฐ์ออกสู่ตลาด ซึ่งการเพิ่มความแตกต่างให้สินค้าให้เกิดเป็นจุดเด่นเพื่อที่จะแข่งขันได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับ ’ช่องทางทำกิน“ จากงานแฮนด์เมด และกับสินค้าประเภทกระเป๋านั้น ’กระเป๋าผ้าไหม“ นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าพิจารณา... ****** “อัจฉรา บุญนคร” นำเอาผ้าไหมมาใช้ในการเย็บเป็นกระเป๋าโดยใช้เทคนิคการเย็บต่อผ้าไหมให้เป็นหลากหลายสี ทำออกจำหน่ายสร้างรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า ทำงานประจำเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี สำหรับกระเป๋าที่ทำจากผ้าไหมนี้เป็นงานที่ทำขายเป็นอาชีพเสริม เริ่มทำมาได้ปีกว่า ๆ แล้ว ซึ่งผลงานฝ่ายผลิตนั้นจะเป็นฝีมือของคุณแม่ เริ่มจากการที่คุณแม่เคยเป็นครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้า พอหลังจากเลิกเป็นครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้าก็ออกมาเปิดร้านรับตัดเสื้อของตัวเอง ซึ่งช่วงที่เปิดร้านตัดเสื้อนั้นลูกค้าที่สั่งตัดชุดผ้าไหมก็มีอยู่เยอะ ต่อมาหลังจากที่เลิกทำร้านตัดเสื้อแล้วก็ยังมีเศษผ้าไหมเหลืออยู่เป็นจำนวนไม่น้อย จึงมีความคิดว่าเศษผ้าไหมที่เหลือน่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ จึงลองนำ “เศษผ้าไหม” ที่เหลือหลากหลายสี หลากหลายลาย มาเย็บต่อกันทำเป็น “กระเป๋าถือ” สำหรับใช้เอง หลังจากที่ทำใช้เอง เพื่อน ๆ ก็เห็นและชอบ จากนั้นก็เลยทำแจกเพื่อน แต่พอมีคนถามหาเยอะขึ้น จึงลองทำขาย โดยลงขายผ่านทางเว็บไซต์ ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็มีกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี สินค้าสามารถขายได้เรื่อย ๆ การนำผ้าไหมมาทำเป็นกระเป๋านั้น จะใช้ผ้าไหมแท้ ซึ่งจะทำให้กระเป๋าดูดีมีคุณค่าและสีสันที่สดใส และมีหลายสีก็ทำให้กระเป๋าดูสวยงามโดดเด่น ซึ่งกระเป๋า 1 ใบนั้นจะใช้ผ้าไหม 8 สี มาปะติดปะต่อกัน... “การทำกระเป๋าจากผ้าไหมนั้น จะต้องเป็นคนที่มีใจรัก เพราะเป็นงานที่ยากกว่าการตัดเสื้อ การทำกระเป๋าเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดในการทำสูง การเย็บต่อผ้าตะเข็บตรงรอยต่อผ้าจะต้องเป็นแนวตรงกันเพื่อความสวยงามของกระเป๋า การที่ใช้ผ้าหลายผืนมาเย็บต่อกันเพื่อทำกระเป๋านอกจากจะได้ความสวยงามจากหลากหลายสีสันของผ้าไหมแล้ว การเย็บกระเป๋าแบบนี้ก็ยังเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระเป๋าอีกด้วย” อัจฉรากล่าว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ “กระเป๋าผ้าไหม” หลัก ๆ ก็มีดังนี้คือ... ผ้าไหมแท้, หูกระเป๋า, ผ้าซับใน, ผ้าอัดกาว, ซิป และอุปกรณ์สำหรับเย็บผ้า พวกจักรเย็บผ้า ด้าย กรรไกร เป็นต้น ผ้าไหมที่ใช้นั้น จะต้องเลือกซื้อผ้าไหมที่เนื้อดี ไม่บางจนเกินไป การเลือกให้ลองยกผ้าขึ้นมาส่องดู ต้องมองไม่ทะลุผ้า ผ้าที่ซื้อให้เลือกที่อบผ้ามาเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าผ้ายังไม่อบ จะหดและสีก็จะตกมากด้วย สำหรับผู้ที่คิดอยากลองทำ เริ่มทำใหม่ ๆ ให้ลองซื้อเศษผ้าไหมมาทดลองดูก่อน เพราะราคาไม่สูงมาก ขั้นตอนการทำ... เริ่มจากการเลือกผ้าไหมให้ได้สีตามที่ต้องการจะทำ (กระเป๋า 1 ใบจะใช้ผ้าไหม 8 สีมาต่อกัน) จากนั้นก็วัดตามหน้าผ้า 6 นิ้ว แล้วก็ตัดผ้าหน้ากว้าง 6 นิ้วตามแนวยาว ทั้ง 8 ชิ้น 8 สี แล้วนำผ้าที่ตัดแล้วไปทำการอัดรีดกับผ้าอัดกาว โดยใช้เตารีด ใช้ความร้อนต่ำในการรีดให้ผ้าไหมติดกับผ้าอัดกาว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผ้าไหม หลังจากที่อัดผ้าไหมหน้ากว้าง 6 นิ้วกับผ้าอัดกาวติดกันแล้ว ก็ให้วัดผ้าหน้ากว้าง 6 นิ้วนั้นโดยแบ่งเป็นช่วง ๆ ละ 3 นิ้ว แล้วก็ตัดผ้าออกมาให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3x3 นิ้ว โดยตัดผ้าทั้ง 8 สีให้ได้ขนาดที่เท่ากันตามนี้ แล้วขั้นตอนต่อไปก็นำแบบที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2x2 นิ้ว มาทาบลงด้านหลังผ้าที่ตัดไว้ ใช้ดินสอขีดร่างไว้ เมื่อทำการวาดแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2x2 นิ้วเสร็จแล้ว ก็นำแผ่นผ้านั้นมาเย็บต่อกันตามแนวดินสอที่ขีดไว้ เรียงตามสีที่ต้องการ เย็บเป็นแถวยาว โดย 8 แผ่น เท่ากับ 1 แถว เย็บ 6 แถว จากนั้นก็นำมาเย็บต่อเรียงกันขึ้นไป ทำให้ได้ผืนผ้า 2 ชิ้นใหญ่ จากนั้นก็นำมาเย็บประกอบเข้ากันเป็นกระเป๋า ติดซิป ใส่หูกระเป๋า นำผ้าซับในมาตัดเย็บให้ได้ขนาดเท่ากับกระเป๋าที่ทำ แล้วก็ทำการใส่ผ้าซับในเข้าไปในกระเป๋า ทำการเย็บเก็บปิดให้เรียบร้อย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน กระเป๋าถือทำจากผ้าไหมของอัจฉรา มีราคาขายอยู่ที่ใบละ 1,700 บาท และก็ยังมีสินค้าประเภทกระเป๋ารูปแบบอื่น ๆ ที่ใช้ผ้าไหมทำอีกหลายชนิด อาทิ กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือ, กระเป๋าใส่เศษสตางค์, ซองใส่ไอแพด เป็นต้น... ****** ’กระเป๋าผ้าไหม“ ผลงานของอัจฉราและคุณแม่นั้น รูปแบบสินค้ามีให้ดูใน http://www.afterrainshop.com หรือ http://www.facebook.com/Afterrainshop ซึ่งหากใครสนใจสั่งออร์เดอร์ ต้องการติดต่อสอบถามกับอัจฉราทางโทรศัพท์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-1909-2178 ทั้งนี้ งานแฮนด์เมดรูปแบบนี้ก็เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสน. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/224939

Sunday, August 4, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ผัดไทยกุ้งสด’ ‘ห่อไข่’

“ผัดไทย” เป็นอาหารที่อยู่คู่บ้านเมืองไทยมานาน เป็นอาหารจานเดียวที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยรสชาติอร่อยแบบหวานเค็มเปรี้ยวพอดี ๆ สีสันสวยงามน่ารับประทาน จึงกลายเป็นอีกเมนูยอดฮิตของชาวไทย และชาวต่างชาติก็ชอบ แทบจะเรียกว่าเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกเช่นเดียวกับต้มยำกุ้ง ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หันมาพิสมัยอาหารไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ อาหารชนิดนี้ทำไม่ยาก สามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำการขายผัดไทยอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “ผัดไทยกุ้งสดห่อไข่” มานำเสนอให้พิจารณา... ณัชชา เอกพจน์ หรือ ตุ๊กตา วัย 33 ปี เจ้าของร้านผัดไทย จ๋อ จ๋อ เล่าให้ฟังว่า เธอนั้นสนใจและชื่นชอบการทำอาหารมาตั้งแต่เด็กแล้ว โดยได้รับการถ่ายทอดสูตรอาหารหลายอย่างมาจากคุณแม่ และผัดไทยหรือก๋วยเตี๋ยวผัดไทยนี่ก็มาจากคุณย่าที่ขายผัดไทยสูตรโบราณอยู่ที่ตลาดสวนหลวง เธอช่วยเป็นลูกมืออยู่หลายปี หลังจากแต่งงานมีครอบครัว จึงแยกตัวมาค้าขายส่วนตัว ด้วยความที่ชอบทำอาหาร จึงได้ทำ ผัดไทยห่อไข่กุ้งสด สูตรคุณย่า ขายที่ห้างแห่งหนึ่ง “ผัดไทยห่อไข่ขายดีมาก ตุ๊กตา กับ น้องตาล น้องสาว ทำขายแทบไม่ทัน แต่นาน ๆ ไปก็รู้สึกเบื่อหน่ายและอึดอัดกับกฎเกณฑ์หลาย ๆ อย่างของสถานที่ขาย ระหว่างนั้นก็พยายามมองหาอาชีพอื่นไปด้วย ทีนี้สองคนพี่น้องก็มานั่งปรึกษากันว่าจะทำอะไรดี ก็คิด ๆ กันว่าเรามีฝีมือในการทำอาหารและชำนาญในการทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่ ก็น่าจะเปิดร้านขาย จังหวะพอดีกับที่ได้ทำเลร้านที่ย่านดอนเมือง จึงบอกเลิกสัญญากับห้างแล้วมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่ และอาหารตามสั่ง สุกี้ และน้ำปั่น เป็นเวลา 6 เดือน แล้ว ซึ่งที่ร้านเราจะใช้วัตถุดิบอย่างดีทั้งของแห้งและของสด ทำกันใหม่ ๆ วันต่อวัน ลูกค้าจะพูดกันปากต่อปากว่าอาหารที่ร้านอร่อยถูกปาก ราคาไม่แพง ทำให้มีลูกค้าทั้งขาประจำ และขาจรมาอุดหนุนมากมาย บางคนไม่อยากมานั่งรอก็จะโทรฯ มาสั่งล่วงหน้า” ตุ๊กตาเล่า สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำผัดไทย หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, กระทะ และเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดทั่ว ๆ ไป ส่วนผสมผัดไทยห่อไข่กุ้งสด หรือ “ผัดไทยกุ้งสดห่อไข่” ก็มี... ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์, กุ้งสด หรือกุ้งแห้งเนื้อดี, เต้าหู้เหลืองหั่นลูกเต๋า, ไข่ไก่, หอมแดงสับ, หัวไชโป๊เค็มสับ, น้ำมะขามเปียก, น้ำปลา, น้ำตาลปี๊บ, น้ำมันพืช, น้ำสะอาด, ถั่วลิสงคั่วบุบ, พริกป่น, ถั่วงอก และใบกุยช่ายหั่นท่อน ผักสดที่ใช้แนม ก็จะมี... หัวปลี, ใบบัวบก, ถั่วงอก, ใบกุยช่าย และมะนาวหั่นชิ้น ขั้นตอนการทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่กุ้งสด ขั้นตอนแรกต้องเตรียมเครื่องปรุงทั้งหมดให้พร้อม ทั้งของสด ของแห้ง ล้างให้สะอาด สับหรือหั่นให้เรียบร้อย อาจจะดูเยอะแยะมากมายไปบ้าง แต่การเตรียมเครื่องปรุงแต่ละชนิดอย่างดีนี่แหละ เมื่อนำมาผัดรวมกับเส้นจะได้ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม ดึงดูดลูกค้าให้อุดหนุน ผัดไทยกุ้งสดห่อไข่ ก่อนจะลงมือผัดก็จะต้องทำแผ่นไข่ที่จะใช้ห่อก่อน โดยตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันเพียงเล็กน้อย กลอกน้ำมันให้ทั่วกระทะ ตอกไข่ไก่ 2 ฟองใส่ถ้วย ตีให้เข้ากัน พอกระทะร้อนได้ที่แล้วเทไข่ที่ตีเตรียมไว้ลงไป กลอกให้เป็นแผ่นบาง ๆ ใช้ไฟอ่อน ๆ พอไข่สุกดีแล้วใช้ตะหลิวแซะแผ่นไข่ออกมาวางในจาน เตรียมไว้ห่อเส้น จากนั้นตั้งกระทะ ใช้ไฟปานกลาง ใส่น้ำมันพืชลงไปพอประมาณ เอากุ้งสดที่เตรียมไว้ใส่ลงไปทอดให้สุกเหลือง ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน ตักน้ำมันออกจากกระทะให้เหลือเพียงเล็กน้อย ใส่เต้าหู้เหลืองหั่น หอมแดงสับ หัวไชโป๊เค็มสับ ลงไปผัดคลุกเคล้าให้ทั่ว พอให้มีกลิ่นหอม แล้วใส่เส้นจันท์ลงไปผัด เติมน้ำพอประมาณ (เพื่อให้เส้นสุกและนุ่ม) ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ มะขามเปียก ผัดไปมาให้เส้นเข้ากับเครื่องปรุง เกลี่ยเส้นแล้วตอกไข่ใส่ลงไป ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นจึงใส่ถั่วงอก และใบกุยช่าย ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดไฟ เทคนิคห่อไข่ นำแผ่นไข่วางแผ่ลงในถ้วยพลาสติก ตักเส้นผัดไทยวางตรงแผ่นไข่ในถ้วย แล้วห่อพับเป็นห่อสี่เหลี่ยม ใช้ใบตองสดปิดบนถ้วย จับคว่ำลงบนจาน หรือภาชนะอื่นที่ใช้ใส่ขาย ใช้มีดกรีดแผ่ไข่ออกให้สวยงาม นำกุ้งที่ทอดเตรียมไว้วางข้างบน เตรียมถั่วงอก กุยช่าย หัวปลี มะนาวหั่นชิ้น น้ำตาลทราย ถั่วลิสงคั่วบุก็เป็นอันพร้อมเสิร์ฟพร้อมขาย ราคาขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่กุ้งสดร้านนี้ ชุดละ 50 บาท ถ้าเป็นแบบธรรมดาไม่ห่อไข่ขาย 40 บาท ใครสนใจ “ช่องทางทำกิน” ลักษณะนี้ ก็ลองไปฝึกทำกันดู หรือต้องการจะลองชิม “ผัดไทยห่อไข่กุ้งสด” สูตรคุณย่า ของร้าน จ๋อ จ๋อ ร้านนี้จะอยู่ตรงถนนประชาอุทิศ เลยสำนักงานเขตดอนเมืองประมาณ 200 เมตร ให้สังเกตขวามือ จะอยู่ตรงข้ามอู่รถ (ร้านปิดวันศุกร์) ต้องการสอบถามทางไปร้านหรือสั่งอาหาร ติดต่อ ตุ๊กตา ได้ที่ โทร. 08-0915-5657 หรือติดต่อ น้องตาล โทร. 08-2652-3626 ทั้งนี้ อาหารนั้นถ้ารู้จักพลิกแพลงให้โดดเด่น ก็มีโอกาสที่จะเป็นสินค้าขายดี!!!. http://www.dailynews.co.th/article/384/223690

Saturday, August 3, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ดอกไม้การบูร’

อาชีพทำสินค้างานประดิษฐ์จำหน่ายถือเป็นอาชีพที่ต้องปรับตัวอยู่เสมอ นอกจากจะต้องปรับตัวให้ทันกับความนิยมของตลาดแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับปรุงสินค้าให้มีความแปลกใหม่น่าสนใจตลอดเวลาด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้สินค้าที่ผลิตมีความหลากหลายมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มมูลค่า รวมถึงเปิดตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ด้วย อย่างเช่นงาน ’ช่อดอกไม้การบูร“ ฝีมือของ “กาญจนา สดศรี” จ.นนทบุรี ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอให้พิจารณาในวันนี้... กาญจนาเล่าว่า เริ่มทำงานประดิษฐ์จากการบูรหอมนี้มาตั้งแต่ปี 2546 โดยเริ่มจากชิ้นงานที่มีรูปแบบง่าย ๆ อย่างเช่นการบูรหอมบรรจุถุง และซองใส่การบูรหอม ต่อมาก็คิดดัดแปลงสินค้าใน รูปแบบต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า อาทิ การบูรแบบผลไม้, การบูรรูปดอกไม้ เป็นต้น จากนั้นก็คิด ว่าหากนำชิ้นงานที่ทำอยู่มาต่อยอดเพิ่มขึ้น โดยนำมาจัดเป็น ช่อดอกไม้ จัดเป็นแจกัน หรือจัดทำเป็นกระเช้าของขวัญ ก็น่าจะสร้างความน่าสนใจได้ดี ซึ่งหลังจากที่ทำขึ้นก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และช่วยทำให้มีกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น สำหรับรูปแบบ “ช่อดอกไม้การบูร” นั้น เป็นการนำงานฝีมือ 3 ชนิด คือการทำดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัว, งานการบูรหอม, การจัดช่อดอกไม้ เข้ามาผสมผสานกัน จนเกิดเป็นชิ้นงานที่โดดเด่นน่าสนใจ โดยกลุ่มลูกค้ามีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงคนทำงาน และชิ้นงานก็เป็นได้ทั้งของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย ไปจนถึงกลุ่มของใช้ “สินค้าที่ทำขึ้นมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายมาก เพราะสามารถใช้แทนของขวัญ ของที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ เช่น รับปริญญา งานเกษียณ หรือจะนำไปจัดตกแต่งบ้าน หรือสถานที่ทำงานก็ได้” กาญจนากล่าวถึงชิ้นงาน ทุนเบื้องต้นสำหรับทำอาชีพ ทำชิ้นงานรูปแบบนี้ ใช้ประมาณ 2,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 60% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มต้นที่ราคา 18 บาท ไปจนถึง 800 บาท ขึ้นกับชนิด ขนาด และความยากง่ายของชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ประกอบด้วย กระดาษสา, ผ้าใยบัว, การบูรหอม, ก้านดอกไม้, ลวดดัดขนาดเล็ก สำหรับใช้ทำโครงสร้างดอกไม้, กาวแห้ง (กาวยูฮู), กาวใส, คัตเตอร์, กรรไกร, เข็มกับด้าย, คีมปากจิ้งจก และวัสดุสำหรับใช้ตกแต่งต่าง ๆ เช่น เกสรดอกไม้, ฟลอร่าเทป (เทปพันก้านดอกไม้), ใบไม้ประดิษฐ์ ใช้สำหรับตกแต่งดอกไม้, โบกับริบบิ้น, แจกัน, กระถาง, หินสี สำหรับโรยเพื่อตกแต่งชิ้นงาน เป็นต้น ซึ่งวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านงานประดิษฐ์ทั่วไป ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการนำลวดดัดมาขึ้นโครงเพื่อสร้างรูปทรงของดอกไม้ โดยให้ม้วนลวดเป็นรูปวงกลม จากนั้นนำผ้าใยบัว เลือกสีตามที่ต้องการมาทำการพันหุ้มให้รอบโครงลวด บรรจุการบูรหอมตรงกลางผ้าใยบัว จากนั้นใช้ด้ายมัดรวบปลายของผ้าใยบัวนั้นให้แน่น ทำการดัดลวดให้ได้รูปทรงของดอกไม้ที่ต้องการทำหรือที่ออกแบบเอาไว้ ก็จะได้ดอกไม้ 1 ดอก (ดอกคลาร่า) หรือได้กลีบดอกไม้ 1 กลีบ ต่อมาให้นำเกสรดอกไม้มาประกอบเข้ากับตัวดอก ทำการมัดด้วยด้ายให้แน่นอีกครั้ง จากนั้นประกอบเข้ากับก้านดอกไม้ที่เตรียมไว้ ใช้ด้ายมัดรวบให้ก้านกับดอกไม้ยึดติดกัน นำใบไม้ประดิษฐ์ที่เตรียมไว้มาประกอบเข้ากับก้าน ใช้ฟลอร่าเทปหรือเทปพันก้านดอกไม้พัน จากนั้นนำไปประกอบเข้าช่อรวมกัน ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำช่อดอกไม้การบูร 1 ช่อ “ขั้นตอนทำไม่มาก แต่ต้องอาศัยเวลาพอสมควร โดยเฉพาะการทำดอกไม้ ซึ่งอาจใช้วิธีทำครั้งละหลายดอก หลายชนิด เตรียมไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาประกอบช่อเข้ากัน” กาญจนากล่าวแนะนำ นอกจากรับผลิตเพื่อจำหน่ายและผลิตตามคำสั่งลูกค้าแล้ว หากใครสนใจอยากเรียนรู้อย่างรู้ลึก-รู้จริง กาญจนาบอกว่ายินดีถ่ายทอดให้ชนิดไม่หวงวิชา ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาอาชีพเสริม เนื่องจากงานฝีมือชนิดนี้ลงทุนน้อย ขั้นตอนไม่ยากมาก อีกทั้งยังต่อยอดได้หลากหลาย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำมาเธอยืนยันว่า...ตลาดยังไม่ตันแน่นอน สนใจติดต่อ กาญจนา สดศรี ติดต่อได้ที่ โทร.08-5551-2385 ซึ่ง ’ช่อดอกไม้การบูร“ นี่ก็เป็นอีกชิ้นงานหนึ่งที่พัฒนา-ดัดแปลงจากสินค้ารูปแบบเดิม ๆ ด้วยไอเดียน่าสนใจ ทำให้ขายได้ราคาเพิ่มขึ้น ด้วยการนำเทคนิคงานฝีมือชนิดต่าง ๆ มาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว จนเป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ. คู่มือลงทุน…ช่อดอกไม้การบูร ทุนเบื้องต้น ประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป ทุนวัสดุ ประมาณ 60% จากราคาขาย รายได้ ราคาขายช่อละ 18-800 บาท แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของขวัญ ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ลงทุนน้อย ขายฝีมือราคางาม ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/223253